การบินพลเรือนออกประกาศมาตรการสำหรับการดำเนินการของสายการบินในช่วง COVID-19 ระบาด เพื่อเป็นการรวบรวมและปรับปรุงมาตรการแนวทางในการปฏิบัติสำหรับการให้บริการแก่ผู้โดยสารในเส้นทางการบินภายในประเทศที่สอดคล้องกับสถานการณ์และมาตรการทางสาธารณสุขที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้เคยออกประกาศไว้โดยอ้างอิงข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ที่ ๙/๒๕๖๓ สั่ง ณ วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๕/๑๐ วรรคหนึ่ง (๖) และวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๖๒ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจึงออกระเบียบเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติในการให้บริการผู้โดยสารสำหรับเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) เพื่อให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศและผู้ดำเนินการสนามบินปฏิบัติไว้ ดังต่อไปนี้
ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินมาตรการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ปรากฏว่าท่าอากาศยานต้นทางไม่มีการทำการตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยาน ให้ทำการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature Screening) ของผู้โดยสาร โดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact infrared thermometer) ก่อนขึ้นเครื่อง และสังเกตอาการโดยทั่วไป หากวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า ๓๗.๓ องศาเซลเซียส หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที หากการวินิจฉัยเห็นว่ามีความเสี่ยง ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) แก่ผู้โดยสารนั้น
(๒) กำหนดให้มีมาตรการและวิธีปฏิบัติเพื่อรักษาระยะห่างของผู้โดยสารตลอดระยะเวลาเดินทาง โดยรวมถึงขั้นตอนการลำเลียงผู้โดยสารขึ้นและลงจากอากาศยาน ไม่ว่าจะดำเนินการด้วยการเดินเท้า การใช้รถบัสหรือสะพานเทียบอากาศยาน จำกัดการรวมกลุ่มในขณะจัดเก็บหรือหยิบสัมภาระในที่เก็บของเหนือศีรษะ การย้ายที่นั่งโดยไม่จำเป็น การเข้าแถวรอใช้ห้องน้ำในห้องโดยสาร โดยมาตรการและวิธีการปฏิบัตินั้นต้องมั่นใจได้ว่ามีการรักษาระยะห่างที่เหมาะสมสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นพิเศษด้วย
(๓) กำหนดให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า (Mask) ตลอดเวลาที่อยู่ในอากาศยาน ยกเว้นในสถานการณ์จำเป็นหรือฉุกเฉิน ทั้งนี้ ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อออกบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ให้ตรวจสอบด้วยว่าผู้โดยสารมีหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า หากพบว่าผู้โดยสารไม่มีหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่สามารถจัดหามาแสดงได้ ให้งดการออกบัตรขึ้นเครื่องให้แก่ผู้โดยสารนั้น
(๔) งดการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในระหว่างการปฏิบัติการบิน รวมทั้งห้ามผู้โดยสารรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่นำติดตัวมาด้วย ยกเว้น ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น ลูกเรืออาจพิจารณาจัดน้ำดื่มให้บริการแก่ผู้โดยสารได้ ทั้งนี้ ให้กระทำในพื้นที่ที่ห่างจากผู้โดยสารคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
(๕) งดการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแผ่บพับโฆษณาต่าง ๆ สำหรับผู้โดยสารในระหว่างการปฏิบัติการบิน ยกเว้นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเท่านั้น
(๖) งดการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและสินค้าปลอดภาษีอากรในระหว่างการปฏิบัติการบิน
(๗) จัดให้มีแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ (แอลกอฮอล์ ๗๐%) เพื่อใช้สำหรับล้างมือไว้ให้บริการอย่างเพียงพอให้กับผู้โดยสารและพนักงานของผู้ดำเนินการเดินอากาศ
(๘) กำหนดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในอากาศยานใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment; PPE) ดังนี้
(ก) นักบินให้สวมหน้ากากอนามัย (Surgical Mask)
(ข) ลูกเรือให้สวมหน้ากากอนามัยอนามัยและถุงมือยาง (Disposable Medical Rubber Gloves) ตลอดระยะเวลาปฏิบัติการบิน
ผู้ดำเนินการเดินอากาศสามารถพิจารณาจัดหาอุปกรณ์อื่นที่สามารถป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติมได้ เช่น แว่นตา (Goggles) อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าจากของเหลวติดเชื้อ (Face Shield) หรือชุดป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น
(๙) ทำความสะอาดชุดอุปกรณ์ในห้องโดยสารที่ต้องส่งต่อหรืออาจมีการส่งต่อ เช่น อุปกรณ์สาธิตเพื่อความปลอดภัย (Safety Demonstration Kits) เข็มขัดนิรภัยส่วนต่อขยาย (Extension Seat Belt) เข็มขัดนิรภัยส่วนต่อขยายสำหรับทารก (Infant Seat Belt) เสื้อชูชีพสำหรับทารก (Infant Life Vest) เป็นต้น ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากการใช้งานของผู้โดยสาร หรือก่อนส่งต่อให้ลูกเรือผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่
ผู้ดำเนินการเดินอากาศอาจจัดหาชุดอุปกรณ์ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ (Universal Precautions Kits; UPK) และน้ำยาฆ่าเชื้อ (Disinfecting Agent) ให้มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสมในแต่ละเที่ยวบิน เพื่อให้ลูกเรือใช้ทำความสะอาดและกำจัดของเหลวที่มีอันตรายทางชีวภาพเพื่อลดการแพร่เชื้อโรคในห้องโดยสาร
(๑๐) ให้ลูกเรือติดต่อสื่อสารกับนักบินผ่านอุปกรณ์สื่อสารภายในอากาศยาน (Interphone) เป็นหลัก และได้รับอนุญาตให้เข้าและออกห้องนักบินเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักบินเฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น
(๑๑) เที่ยวบินที่ปฏิบัติการบินโดยใช้ระยะเวลามากกว่า ๙๐ นาที ให้มีการสำรองที่นั่งสองแถวหลังสุดด้านใดด้านหนึ่งของอากาศยานไว้สำหรับแยกกักผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเพื่อเฝ้าสังเกตอาการและป้องกันการแพร่กระจายของโรค
(๑๒) ในกรณีที่พบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ขณะอยู่ในอากาศยาน ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินมาตรการ On-board Emergency Quarantine ดังนี้
(ก) ให้แยกกักผู้ที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยให้นั่งที่นั่งซึ่งสำรองไว้ตาม (๑๑) โดยให้ห่างไกลจากผู้โดยสารคนอื่นมากที่สุด
(ข) ในกรณีที่มีห้องน้ำมากกว่าหนึ่งห้อง ให้กันห้องน้ำที่อยู่ใกล้บริเวณที่นั่งซึ่งสำรองไว้ตาม (๑๑) ไว้สำหรับเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าจะป่วย
(ค) พิจารณากันห้องน้ำห้องหนึ่งไว้สำหรับลูกเรือใช้โดยเฉพาะ โดยให้คำนึงถึงจำนวนห้องน้ำที่เพียงพอสำหรับผู้โดยสารใช้ด้วย
(ง) ให้มอบหมายให้ลูกเรือคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่แยกกักตาม (๑๑) และให้ลูกเรือที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับลูกเรือคนอื่นในระยะใกล้กว่า ๒ เมตร
(จ) ให้นักบินผู้ควบคุมอากาศยานแจ้งข้อมูลการตรวจพบผู้โดยสารหรือลูกเรือที่มีอาการป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยต่อพนักงานควบคุมการจราจรทางอากาศ เพื่อรายงานให้แก่ผู้ดำเนินการสนามบิน ณ ท่าอากาศยานปลายทางทราบ
(๑๓) กำหนดให้รถลำเลียงผู้โดยสารไป-กลับระหว่างอาคารผู้โดยสารและอากาศยาน (Shuttle bus) สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกินร้อยละ ๗๐ ของความจุมาตรฐานของยานพาหนะนั้น ๆ โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน ทั้งนี้ ให้ทำความสะอาดพื้นผิวและอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ
(๑๔) หลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติการบินทุกครั้ง ให้ทำการฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) ในส่วนของห้องโดยสารตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
(๑๕) ในระหว่างที่อากาศยานจอดพักหรือจอดบำรุงรักษา ให้พิจารณาใช้แหล่งพลังงานสำรอง (Auxiliary Power Unit; APU) แทนการใช้อากาศจากสะพานเทียบอากาศยาน และหลังจากไปถึงสถานีปลายทางแล้วควรเปิดประตูระบายอากาศด้วย
(๑๖) ต้องเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง หรือ High Efficiency Particulate Air (HEPA) Filter ตามกำหนดเวลาที่ระบุในคู่มือผู้ผลิต โดขชิ้นส่วนที่ใช้แล้วให้ทำการบรรจุใส่ถุงพลาสติกและปิดให้เรียบร้อย
(๑๗) หากอากาศยานมีข้อบกพร่องตามรายการอุปกรณ์ขั้นต่ำที่ใช้งานได้ (Minimum Equipment List; MEL) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบทำความเย็นและปรับสมดุลความดันและระบบหมุนเวียนอากาศภายในห้องโดยสาร (Air Conditioning Packs and Recirculation Fans) ต้องทำการแก้ไขโดยเร็วที่สุด
(๑๘) พิจารณานำเครื่องมือการให้บริการตนเองประเภทต่าง ๆ เช่น เครื่องออกบัตรโดยสารและป้ายติดสัมภาระอัตโนมัติ (Kiosk) เครื่องโหลดสัมภาระอัตโนมัติ (Self-Bag Drop) เป็นต้น มาใช้ทุกสนามบินเพื่อลดการติดต่อสัมผัส และจะต้องมีการดูแลรักษาอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสมและมีการฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
ให้ผู้ดำเนินการสนามบินดำเนินมาตรการ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจคัดกรองบุคคลที่เข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยาน โดยต้องมีการตรวจสอบการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature Screening) ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดที่ไม่ต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้ถูกตรวจวัด (Non-contact Infrared Thermometer) หากบุคคลนั้นไม่สวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้าบริเวณจมูกและปากหรือวัดอุณหภูมิได้สูงกว่า ๓๗.๓ องศาเซลเซียส ให้ปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่ท่าอากาศยาน
(๒) จัดให้มีแอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ (แอลกอฮอล์ ๗๐%) เพื่อใช้สำหรับล้างมือไว้ให้บริการอย่างเพียงพอ
(๓) จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือที่ยืนให้ห่างกันอย่างน้อยหนึ่ง (๑) เมตร ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่จัดไว้เพื่อดำเนินกิจกรรม เช่น พื้นที่ที่ผู้ดำเนินการเดินอากาศใช้เพื่อดำเนินการออกบัตรขึ้นเครื่อง (Check-in Counter) พื้นที่จุดตรวจค้น (Security Check) พื้นที่ที่ผู้โดยสารรอขึ้นเครื่อง (Boarding Gate) เป็นต้น
(๔) จัดทำป้ายสัญลักษณ์ เครื่องหมายบนพื้น และประกาศผ่านระบบเสียงประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการเว้นระยะห่าง
(๕) ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค (Disinfection) พื้นที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
(๖) พิจารณาใช้เครื่องปรับอากาศและระบบกรองที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาความสะอาด ของอากาศ ลดการหมุนเวียนของอากาศเดิมกลับมาใช้ซ้ำและเพิ่มอัตราส่วนอากาศบริสุทธิ์ ทั้งนี้ ควรงดการใช้ลมเป่าแบบแนวนอน
(๗) พิจารณาระดับการป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นกรณี ๆ ไป เช่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) โปรแกรมคัดกรองสุขภาพสำหรับพนักงาน การจัดตารางเวลาทำงาน การจัดเตรียมแอลกอฮอล์ล้างมือให้เพียงพอ เป็นต้น
(๘) พิจารณาจำกัดจำนวนผู้เข้าสู่อาคารผู้โดยสาร โดยให้สิทธิเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสนามบิน ผู้โดยสารและผู้เดินทางร่วมกับผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือเด็กที่เดินทางโดยลำพังเข้าก่อน เพื่อลดความแออัดและแถวคอย รวมถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น
(๙) พิจารณาร่วมกับผู้ดำเนินการเดินอากาศเพื่อนำเครื่องมือการให้บริการตนเองประเภท ต่าง ๆ เช่น เครื่องออกบัตรโดยสารและป้ายติดสัมภาระอัตโนมัติ (Kiosk) เครื่องโหลดสัมภาระอัตโนมัติ (Self-Bag Drop) เป็นต้น มาใช้เพื่อลดการติดต่อสัมผัส และจะต้องมีการดูแลรักษาอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างเหมาะสมและมีการฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ
(๑๐) พิจารณาใช้การตรวจค้นโดยใช้เครื่องมือตรวจจับโลหะแบบเดินผ่าน (Walk Through Metal Detector; WTMD) เพื่อลดการใช้วิธีการตรวจค้นด้วยมือของพนักงานตรวจค้น โดยมีการแจ้งให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าในเรื่องการเตรียมตัวสำหรับการตรวจค้น
(๑๑) พิจารณาปิดการให้บริการชั่วคราวหรือเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังพื้นที่ให้บริการบางแห่ง เช่น ที่นั่งในร้านอาหารหรือที่นั่งเอนกประสงค์ พื้นที่สูบบุหรี่ พื้นที่เล่นสำหรับเด็ก เป็นต้น
(๑๒) พิจารณาใช้สายพานรับสัมภาระเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดของผู้โดยสาร และสำหรับเที่ยวบินที่มีความเสี่ยงสูงให้พิจารณาแยกใช้สายพานที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ
(๑๓) ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดในส่วนของการขนส่งสาธารณะ รวมทั้งติดตามและปฏิบัติตามมาตรการอื่นที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่มีผลใช้บังคับแก่ท่าอากาศยาน
(๑๔) พิจารณาใช้ความเข้มงวดในการให้บริการแก่อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค (Technical Landing) เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง และหากมีการสับเปลี่ยนผู้ประจำหน้าที่ในอากาศยาน บุคคลดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามมาตรการตาม (๑๓) โดยเคร่งครัด
ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งให้ผู้โดยสารทราบและปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับมาตรการทางสาธารณสุขก่อนการเดินทาง และให้ประกาศแจ้งผู้โดยสารทราบอีกครั้งในระหว่างการเดินทาง เพื่อให้ทราบว่าการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ควบคุมอากาศยานหรือเจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และมาตรการทางสาธารณสุขอย่างอื่นบนอากาศยานเป็นความผิดและอาจได้รับโทษตามกฎหมายว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ
ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งแนวทางปฏิบัติตามข้อ ๔ ตลอดจนวิธีการและข้อควรระวังเพิ่มเติม รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินให้เจ้าหน้าที่ของตนทราบและถือปฏิบัติ
ให้ผู้ดำเนินการสนามบินแจ้งแนวทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ประจำท่าอากาศยานของตนทราบและถือปฏิบัติ
ประกาศ ณ วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔
(นายสุทธิพงษ์ คงพูล)
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย