กัมปง เกอลัม ย่านที่เป็นหนึ่งในรากเหง้าของสิงคโปร์จนถึงปัจจุบัน
ทำความรู้จักย่านกัมปง เกอลัม ในสมัยอดีต
“กัมปง” เป็นภาษามลายู หมายถึง หมู่บ้าน ส่วนคำว่า “เกอลัม หรือ กลาม” หมายถึง ต้นเสม็ดขาวใบยาว ซึ่งในอดีตสามารถพบได้ทั่วไปในย่านนี้ และมีการนำมาใช้ในการต่อเรือ ทำยารักษาโรค และปรุงอาหาร
เดิมย่านกัมปง เกอลัม เป็นหมู่บ้านชาวประมง เนื่องจากตั้งอยู่ติดแม่น้ำโรชอร์(Rochor River) ต่อมาในปี 1820 ซึ่งเป็นยุคแรกของการก่อตั้งอาณานิคมสิงคโปร์เซอร์สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ (Sir Stamford Raffles) ได้จัดสรรพื้นที่นี้ให้กับชุมชนชาวมาเลย์ อาหรับ และบูกิส
ทั้งยังเป็นที่พำนักของสุลต่านฮุสเซน และพ่อค้าที่เดินทางมาจากตะวันออกไกล เดิมทีเหล่ามุสลิมที่เดินทางมาถึงสิงคโปร์ จะอาศัยอยู่ในบ้านพักขนาดใหญ่ ร่วมกับคนที่เดินทางมาจากบ้านเกิดเดียวกัน
โดยเรียกบ้านพักในลักษณะนี้ว่า ปอนด๊ก (Pondok) และจะตั้งชื่อที่พักตามเมืองบ้านเกิด เช่น ปอนด๊กชวา (Pondok Java) ซึ่งนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำวัฒนธรรมของชาวมุสลิม จากหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาสู่สิงคโปร์
มัสยิดอันเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ กับความเป็นมาของชุมชนมุสลิมในสิงคโปร์
โดมทองของมัสยิดสุลต่าน (Sultan Mosque หรือ Masjid Sultan) ที่ต้องแสงอาทิตย์ นับเป็นแลนด์มาร์กประจำย่านกัมปง เกอลัม ซึ่งตั้งอยู่บนถนนบัสซอระห์ (Bussorah Street) สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1824 เพื่ออุทิศแด่สุลต่านฮุสเซนชาห์ (Sultan Hussein Shah) สุลต่านองค์แรกของสิงคโปร์
จุดเด่นของสถาปัตยกรรมคือโดมสีทองอร่ามขนาดใหญ่ ฐานของแต่ละโดมประดับด้วยแก้วก้นขวดที่บริจาคโดยมุสลิมผู้ยากไร้ ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้ชาวมุสลิมทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของมัสยิด โดยมัสยิดแห่งนี้ ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติในปี 1975 อีกด้วย
ปัจจุบันกัมปง เกอลัมจึงถูกเรียกว่า “ย่านมุสลิม” และได้รับการบูรณะตกแต่งใหม่ ทั้งเติมชีวิตชีวาด้วยการดึงเอาสีสันในอดีตกลับคืนมา โดยเฉพาะตึกแถวที่ได้รับการอนุรักษ์ในบริเวณฮาจิเลน (Haji Lane) ถนนอาหรับ (Arab Street) ถนนแบกแดด (Baghdad Street) และถนนบัสซอระห์ (Bussorah Street)
ทั้งได้มีการพัฒนากลายมาเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว และศิลปะอันงดงามสำหรับนักเดินทางสมัยใหม่ ที่หลงใหลในการเรียนรู้ และสัมผัสวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด
ลิ้มรสวัฒนธรรมมุสลิมผ่านอาหารหลากหลายชาติ
สำหรับวัฒนธรรมในด้านอาหาร ย่านกัมปง เกอลัม เป็นแหล่งที่รวบรวมร้านอาหารจากหลากหลายเชื้อชาติทั้งมาเลย์ อินเดีย และตะวันออกกลาง มาไว้ด้วยกัน โดยมีร้านเด็ดอย่างร้าน HjhMaimunahNasi Padang (ข้าวราดแกงแบบมาเลย์) ที่ได้รับรางวัลมิชลิน บิบกูร์มองด์ พร้อมจัดเสิร์ฟมาในรสชาติแบบอาหารมาเลย์ต้นตำรับ มีเมนูสุดคลาสสิกอย่าง ซัมบาล โกเร็ง (เต้าหู้ทอด ถั่วแขก และน้ำพริก) และ อะยัม บาการ์ (ไก่ย่าง) จัดเสิร์ฟคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ รับรองอร่อยอย่าบอกใคร
และร้านซัม ซัม สิงคโปร์ (ZamZam Singapore) ร้านอาหารอินเดียนที่มีดีด้านโรตี โดยเฉพาะเมนูโรตีปราตา (โรตีแผ่นแบนสูตรอินเดียใต้) และมะตะบะ (แป้งโรตียัดไส้ด้วยเนื้อสัตว์และไข่) ที่ได้เนื้อสัมผัสของแผ่นแป้งที่เนียนนุ่ม และมีกลิ่นหอมของเครื่องเทศที่สอดไส้ในโรตี
หรือถ้าใครชอบทานอาหารสไตล์เลบานอน จะลองไปที่ Beirut Grill (เบรุต กริล)ก็ได้ ทั้งนอกจากอาหารคาวแล้ว ยังมีขนมหวานจากร้าน ฮาบิบิ สวีท แอนด์ เซเวอรี (Habibi Sweet & Savoury) ที่ขึ้นชื่อเรื่องเบเกอรีตะวันออกกลาง และอาหรับที่แฝงไปด้วยกลิ่นอายสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน โดยมีเมนูซิกเนเจอร์อย่าง บาคลาวา (ขนมอบสอดไส้ถั่วและน้ำผึ้ง) และมะอ์มูล (คุกกี้อาหรับที่ทำมาจากอินทผลัม ถั่ว และมะเดื่อ) ทานคู่กับชาเอิร์ลเกรย์ ชาดาร์จีลิง หรือกาแฟ
แหล่งชอปปิงสำหรับนักสะสมเรื่องราว
ร้านปรุงน้ำหอมที่เก่าแต่ตั้งแต่ปี 1933 Sifr Aromatics ในปัจจุบันสืบทอดศาสตร์การปรุงน้ำหอมอันเก่าแก่มาตั้งแต่รุ่นปู่ ผู้บุกเบิกร้านปรุงน้ำหอมในสิงคโปร์ภายใต้แบรนด์คาซูรา (Kazura) โดยในยุคของทายาทรุ่นที่สามโจฮาริ คาซูรา (Johari Kazura) ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ หลังจากที่ได้เรียนศาสตร์การปรุงน้ำหอมเพิ่มเติมจากฝรั่งเศส และเปิดร้านภายใต้แบรนด์ใหม่ ชื่อ Sifr Aromaticsซึ่ง Sifr แปลว่าศูนย์ในภาษาอาราบิก สื่อถึงการเริ่มต้นแบรนด์ใหม่ด้วยตนเอง ร้านแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องของกลิ่น ที่มีให้เลือกมากมาย โดยมีกลิ่นหลัก (Heart Notes) ทั้งกลิ่นวานิลลา ไม้จันทน์ ยาสูบ หนังซิตรัสและดอกมะลิ ที่นำเอาหัวเชื้อน้ำหอม และขวดน้ำหอมวินเทจจากฝรั่งเศสมาใช้ภายในร้าน
นอกจากนี้ ยังให้บริการรังสรรค์กลิ่นน้ำหอมเฉพาะบุคคล โดยนำเอาวัตถุดิบใหม่ ๆ อาทิ พริกไทยสีชมพูและวาซาบิ มาสรรค์สร้างให้เกิดกลิ่นที่เข้ากับบุคลิกของเจ้าของน้ำหอมได้อย่างน่าอัศจรรย์ และยังมีเวิร์กชอปการทำน้ำหอมสำหรับผู้ที่สนใจได้เรียนรู้อีกด้วย
สตรีทอาร์ต เล่าเรื่องราวของชุมชน
ย่านกัมปง เกอลัม ถือเป็นย่านที่มีความสำคัญต่อสตรีทอาร์ตในสิงคโปร์เป็นอย่างมาก โดยกราฟฟิตี้ ฮอลล์ออฟ เฟรม (Graffiti Hall of Fame) ผลงานศิลปะชิ้นใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นโปรเจกต์ที่เกิดจากความร่วมมือของศิลปินในสิงคโปร์กว่า 17 ชีวิต
อาทิ ดิดิเยร์ จาบา มาติเยอ (Didier Jaba Mathieu) สแลคซาทู (Slacsatu) ซีโร (ZERO) และแอนซ์ (ANTZ) รวมถึงศิลปินหน้าใหม่อย่าง โจจีอะโตมิกค์ (JojieAtomick) และสตูดิโอ มูนชายด์ (Studio Moonchild) ซึ่งต่างถ่ายทอดเรื่องราวของสิงคโปร์ และสร้างคุณค่าให้กราฟิตี้ เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป ผ่านแผ่นผนังซึ่งเป็นรั้วกั้นเขตก่อสร้าง ความสูงกว่า 5 เมตร ยาว 230 เมตร มาเป็นผนังแสดงศิลปะที่สะท้อนภาพสังคมของย่านกัมปง เกอลัม ที่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โดยผลงานกราฟฟิตี้นี้ ถูกจัดแสดงเพียงชั่วคราวในโซนก่อสร้างโดยกลุ่มวันกัมปง เกอลัม (One Kampong Gelam) ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (STB) นำศิลปะมาเชื่อมกับชุมชนและผลงานเหล่านี้ ยังสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดผลงานผ่านระบบเสมือนจริง(Augmented Reality) ได้อีกด้วย พร้อมกันนี้ ยังมีทัวร์สิงคโปร์ไซด์คาร์(SingaporeSidecar) ที่จะพานั่งรถพ่วงวินเทจไปพร้อมกับไกด์เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของย่านนี้ และในอนาคตจะเปิดให้เวิร์กชอปกับเหล่าศิลปินอีกด้วย
นอกจากนั้น ยังมีโปรเจกต์กราฟิตี้ที่บูรณะและต่อเติมจากผลงานเดิม โดยศิลปินชื่อดังชาวสิงคโปร์ เออร์เนสต์ซาคาเรวิก (Ernest Zacharevic) ได้นำผลงานที่สร้างขึ้นในปี 2013 มาต่อขยายสู่ชิ้นงานใหม่ในปี 2020 อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลงานชิ้นนี้ ได้พูดถึงชุมชนของย่านกัมปง เกอลัม ที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
โดยชิ้นงานไอคอนิคของเออร์เนสต์ คือ ภาพเด็กสองคนที่นั่งอยู่ในรถเข็น โดยใช้รถเข็นของจริงมาประกอบ จนกลายเป็น “ตู้ปันสุข” ที่ชาวสิงคโปร์ได้แบ่งปันของใช้ หรืออาหารให้แก่กัน โดยเป็นผลงานร่วมของศิลปิน และนักเรียนกว่า 22 คน ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานของบริษัทเอเอ็มซี เอเชีย จำกัด (AMC Asia pte. ltd)
เที่ยวทิพย์ย่านกัมปง เกอลัม เพิ่มเติมได้ทาง www.visitsingapore.com และผู้ที่สนใจผลงานกราฟิตี้ ลองติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ visitkamponggelam.com.sg