กัญชา 'อึมครึม' วิสาหกิจชุมชน ลดค่าใช้จ่าย ส่อเจ๊งหลายแห่ง วอนอย่าเล่นการเมือง

Home » กัญชา 'อึมครึม' วิสาหกิจชุมชน ลดค่าใช้จ่าย ส่อเจ๊งหลายแห่ง วอนอย่าเล่นการเมือง



นครราชสีมา กัญชา สถานการณ์ “อึมครึม” วิสาหกิจชุมชน เร่งลดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอด ส่อเจ๊งหลายแห่ง วอนอย่าชนะคัดคานทางการเมือง

29 พ.ย. 65 – ที่ฟาร์มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทย ลุ่มน้ำชีแก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา นายสมชาย ภิญโญ อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา เขต อ.แก้งสนามนาง

ในฐานะคณะที่ปรึกษา นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565

โดยมี นายประชัน ชาวสามทอง ข้าราชการครูบำนาญในฐานะประธานและสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ฯ รับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่องสถานการณ์พืชกัญชา กระท่อมในอนาคต

จากนั้นได้เยี่ยมชมพื้นที่ใช้สอยประมาณ 2 ไร่ โดยปลูกกัญชากลางแจ้ง และในโรงเรือน รวมทั้งกระบวนการดูแลรักษาต้นกัญชารวม 1 พันต้น โดยนำราก ใบ ลำต้น ช่อดอกที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค อบบ่มให้แห้งเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนไทยส่วนหนึ่งแปรรูปบรรจุผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่,ผงกัญชาดื่มสำเร็จรูป,ลูกประคบสมุนไพรผสมกัญชา

นายสมชาย เปิดเผยว่า สถานการณ์อึมครึมโดยไม่มีกฎหมายรองรับพืชกัญชาทั้งการควบคุม การใช้และการกำหนดอัตราโทษ โดยเฉพาะช่อดอกที่เป็นส่วนสำคัญและมีมูลค่าสูงสุด ส่งผลให้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ร่วม 4 พันแห่ง ไม่สามารถนำกัญชาที่กำลังออกช่อดอกส่งไปจำหน่ายให้เอกชนผลิตเป็นยา

ทั้งๆ ที่เครือข่ายวิสาหกิจได้ดำเนินการตามขั้นตอน ตนจะเร่งนำปัญหาอุปสรรครายงานให้คณะทำงานของนายอนุทิน และหน่วยงานเกี่ยวข้องหาแนวทางปฏิบัติทางกฎหมายสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 เพื่อช่วยเหลือเยียวยา โดยนำกัญชาแปรรูปเป็นสินค้าให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาด

นายประชัน กล่าวว่า การควบคุมช่อดอกกัญชาควรมองให้รอบด้าน โดยเฉพาะประโยชน์ทางการแพทย์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นนำไปเป็นยารักษาโรค ทำให้ปริมาณการใช้ยาแผนปัจจุบันลดลง หลายโรคแพทย์วินิจฉัยไม่สามารถรักษาได้ แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้ใช้กัญชาที่มีสรรพคุณ สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดเรื้อรัง ทำให้ร่างกายฟื้นฟูและหายจากการอาการป่วย และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลายราย

อีกทั้งฟาร์มแห่งนี้ดำเนินการตามกฎหมายเดิม จึงลงทุนค่อนข้างสูงประมาณ 2 ล้านบาท และแบกรับภาระค่าไฟฟ้า ค่าปุ๋ย ค่าจ้างแรงงานท้องถิ่นเดือนละ 2.5-3 หมื่นบาท ประเมินต้นทุนช่อดอกต้องกิโลกรัมละ 2 หมื่นบาท จึงสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้ ปัจจุบันมีผู้ปลูกเยอะมาก ส่งผลให้ผู้ซื้อมีตัวเลือกมาก ราคาซื้อขายลดเหลือกิโลกรัมละ 2-3 พันบาท

จากการพูดคุยกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน กรณีสายป่านสั้นและสมาชิกไม่เข้าใจบริบทมีหลายแห่งประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียน ต้องลดกำลังการผลิตและชะลอการปลูก หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ อาจเห็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีวิถีชีวิตร่วมกัน และรวมตัวกันประกอบกิจการ สร้างงาน สร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน

แต่ไม่สามารถเดินต่อได้และอาจเลิกล้มกิจการเพราะหมดทุน เพื่อความอยู่รอดต้องลดค่าใช้จ่ายลงกว่าครึ่งในระหว่างรอความชัดเจนของกฎหมาย

“ฝากถึงผู้มีอำนาจในบ้านนี้ เมืองนี้ อย่าเอาชนะคัดคานทางการเมือง ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักสำคัญ มิเช่นนั้นจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสที่มีพืชเศรษฐกิจตัวใหม่”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ