กองทุนกีฬา ควง อนันต์ชัย ไชยเดช ทนายดัง ชี้แจงข้อกล่าวหา บัตรสนเท่ห์ ร้องเรียนการทำหน้าที่ เตรียมดำเนินคดี กกท. ให้ข่าวข้อมูลอันเป็นเท็จ เผย 5 มูลเหตุจูงใจของบัตรสนเท่ห์ ขัดผลประโยชน์ผู้มีอิทธิพลในวงการกีฬา
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ที่ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พร้อมด้วย อนันต์ชัย ไชยเดช ทนายดัง แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่มีบัตรสนเท่ห์ กล่าวหา ดร.สุปราณี คุปตาสา ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการกองทุนฯ โดยมิชอบ รวม 11 ข้อ
ดร.สุปราณี กล่าวยืนยันว่า ข้อกล่าวหาในบัตรสนเท่ห์ ไม่เป็นความจริง อย่างที่มีการบอกว่า กองทุนฯ ให้เงิน สหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (อิฟม่า) 300 ล้านบาท ไม่มีการให้เด็ดขาด ทาง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. ก็ระบุในที่ประชุมกองทุนฯว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เช่นเดียวกับเงินรางวัลนักกีฬา ก็มีผู้ใหญ่โทรมา บอกถ้าไม่ให้ จะเอาออกให้ได้ เรื่องนี้ทำไมไม่ไปต่อว่าคณะกรรมการกลั่นกรองกองทุนฯ มาต่อว่าตน ยกตัวอย่าง ยกน้ำหนัก ก็ได้ลงพื้นที่ไปดู เพื่อที่จะเพิ่มเงินรางวัลให้นักกีฬา แต่สุดท้าย เป็นคณะกรรมการกลั่นกรองกองทุนฯ ที่ไม่อนุมัติให้
“ตระกูลเรายิ่งใหญ่ เราไม่ฉ้อโกง ตนเองก็ไม่เคยเอาเปรียบองค์กร เหตุผลที่ให้ทนายอนันต์ชัย มาช่วยดู ก็เพื่อที่ตนจะได้มีเวลาทำงานต่อ พัฒนากีฬาต่อไป” ดร.สุปราณี กล่าว
ขณะที่ ทนายอนันต์ชัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ได้มีผู้ใช้นามว่า ผู้ร้องทุกข์ ยื่นบัตรสนเท่ห์ ไม่ระบุชื่อ ต่อ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. กล่าวหาว่า ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานอันมิชอบของ ดร.สุปราณี รวม 11 ข้อ ซึ่ง กกท. ได้รับเรื่องร้องเรียน และบัตรสนเท่ห์ ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนสำนักต่าง ๆ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อ ดร.สุปราณี ทั้งชื่อเสียง และวงศ์ตระกูล ในเรื่องนี้ กกท. ต้องรับผิดชอบ และจะได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กกท. ที่ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อไป
จากกรณีร้องเรียนดังกล่าว ตนเองขอชี้แจงกฎระเบียบการจัดตั้งกองทุนฯ โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ ซึ่งถูกว่าจ้างโดยกองทุนฯ เพราะฉะนั้น ดร.สุปราณี เป็นลูกจ้างของกองทุนฯ ไม่ใช่ลูกจ้างของ กกท. ซึ่ง ดร.สุปราณี ไม่มีอำนาจในการอนุมัติเงิน ส่วนเงินกองทุนฯ จะถูกส่งต่อไปยังกองคลังกองทุนฯ ภายใต้การบริหารของกกท. โดยมีผู้ว่าการกกท. เป็นผู้จ่าย ดังนั้น ดร.สุปราณี ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเงินดังกล่าว เพราะการจ่ายเงิน คลังกองทุน (กกท. เบิกจ่าย) จะจ่ายก็ต่อเมื่อเอกสารหลักฐานถูกต้องเท่านั้น
“ทั้ง 11 ข้อที่กล่าวหา เป็นเท็จทั้งสิ้น สื่อเสนอข่าวเป็นเท็จทำให้เกิดความเสียหายแก่ ดร.สุปราณี และครอบครัว ผู้จัดการกองทุนฯ ไม่มีอำนาจอนุมัติเงิน เป็นเพียงผู้ทำเอกสาร เป็นบอร์ดกองทุนฯ ที่มีอำนาจ” ทนายอนันต์ชัย กล่าว
ทนายชื่อดัง กล่าวต่อว่า ในบัตรสนเท่ห์ พูดถึงผลประโยชน์ทับซ้อน และอิฟม่า ซึ่งจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย มีสมาชิก 149 ประเทศทั่วโลก และเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ก็ได้รับรอง อิฟม่า แล้ว จนทำให้ มวยไทย เป็นซอฟท์พาวเวอร์ และรับรองความนิยมทั่วโลก กกท. ยังไม่เคยให้การสนับสนุน อิฟม่า เลยสักบาทเดียว และที่ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร อดีตนายกสมาคมสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ ให้ข่าวว่า อิฟม่า ได้เงิน 393 ล้านบาท ล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น
ส่วนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ของ คิกบ็อกซิ่ง เรื่องแผนงานงบประมาณการสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปี งบประมาณ 2566 มีงบประมาณ 36,700,658 บาท ไม่ใช่งบมหาศาล และทุกอย่างต้องผ่านขั้นตอนการขอรับเงินสนับสนุนตามระเบียบ และหากดูแผนภูมิ กีฬาเจ็ตสกี ไอโอซี ก็ไม่รับรอง แต่ใช้งบสูง 97,973,168 บาท
นอกจากนี้ ที่เป็นข่าวอ้างว่า เครือญาติเข้ามารับงาน ข้อเท็จจริง คือ บริษัท ก ไม่ได้รับงาน และเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ แต่รับเงินโดยตรงจาก สมาพันธ์คิกบ็อกซิ่งแห่งเอเชีย บริษัท ก เพียงแค่ได้รับการติดต่อให้ดูแลในส่วนของนักกีฬาต่างชาติ ที่เดินทางมาร่วมแข่งขันคิกบ็อกซิ่งชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งนักกีฬาใช้เงินส่วนตัวของเขาเอง ไม่เกี่ยวกับเงินกองทุนฯ และเขาได้มาว่าจ้างบริษัท ก ประสานเกี่ยวกับการจัดหาโรงแรม ที่พัก รถรับส่งไปกลับสนามบินและที่พัก เท่านั้นเอง
“ที่ผ่านมาผมเป็นทนายส่วนตัวให้บุคคลที่มีชื่อเสียงอยู่ 2 คน คือ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และอีกคนคือ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ วันนี้ที่มา ต้องการกู้ชื่อเสียงเกียรติยศของ ตระกูล “คุปตาสา” และครอบครัว ต่อมาต้องการกู้ชื่อเสียงของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สุดท้ายต้องการปรามผู้สื่อข่าวให้รายงานข่าวอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา ดังนั้นผมจะมาล้าง กกท. ให้สะอาด ต่อไปนี้กองทุนจะเดินตามกฎหมาย ผมมีเอกสารการทุจริตทั้งหมดอยู่ในมือเป็นตั้ง โดยเฉพาะเอกสารการกู้ยืมเงิน”
“ส่วนคณะกรรมการที่ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.ตั้งขึ้นมา จะไม่ไปชี้แจงอย่างแน่นอน เพราะไม่เกี่ยวข้อง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จะเข้าชี้แจงกับ คณะกรรมการกองทุนฯ โดยตรงเท่านั้น ข้อมูลทั้งหมดอยู่ในมือทั้งหมด ทั้งคนรองทั้งคนตั้งคณะกรรมการสอบอยู่ในก๊วนเดียวกันเกือบทั้งหมด “ ทนายคนดัง กล่าวเสริม
ขณะเดียวกัน ทนายอนันต์ชัย ยังกล่าวถึงมูลเหตุจูงใจที่ทำให้เกิดบัตรสนเท่ห์ มีอยู่ 5 ประการ ประการแรก เกิดจากปี 2565 สมาคมไม่ได้รับเอกสารยืนยันโครงการทั้งปี จากกกท. ในฐานะผู้รวบรวมว่าได้รับเท่าไหร่ต่อปี เพื่อให้บริหารตามกรอบวงเงินที่ถูกต้อง สมาคมจึงเข้าใจว่า คำขอทุกคำขอได้รับอนุมัติจึงดำเนินการล่วงหน้า เมื่อถึงเวลากลับเบิกเงินไม่ได้ ซึ่งกองทุนฯ มาทราบปัญหานี้ในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ซึ่งกองทุนฯ ได้แก้ปัญหาร่วมกับกกท. แล้ว
ประการที่ 2 เกิดจากการที่นักกีฬาบางสมาคมไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง และถูกหักค่าหัวคิว ทำให้นักกีฬาไม่ได้รับเงินตามจำนวนที่ต้องได้รับ และมีการใส่ชื่อ นักกีฬาผี ซึ่งไม่ได้เข้าแข่งขัน แต่ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยง โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้แก้ปัญหาด้วยการเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงฝึกซ้อมโดยการสั่งจ่ายโดยตรงให้นักกีฬา ปรากฏว่า มีสมาคมต่าง ๆ เริ่มออกมาต่อต้าน ไม่เห็นด้วย เพราะแทนที่เงินจะเข้าสมาคมนั้น ๆ เงินกลับไปเข้านักกีฬาโดยตรง ทำให้บางสมาคมไม่พอใจ และ ดร.ก้องศักด ได้ใช้อำนาจตัวเองยุติการเบิกจ่ายโดยตรงให้นักกีฬา โดยจ่ายให้สมาคมเหมือนเดิม เป็นการฝ่าฝืนมติที่ประชุม
ประการที่ 3 การที่ กกท. ได้ให้สมาคมกีฬาต่าง ๆ กู้ยืนเงินตั้งแต่ปี 2562-2564 ซึ่งขณะนั้น ดร.ก้องศักด เป็นผู้ว่าการกกท. ซึ่ง กกท. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับสมาคมกีฬาต่าง ๆ แค่กระดาษแผ่นเดียว พร้อมแนบมติบอร์ด การกู้ยืมเงินประมาณหลายร้อยล้านบาท และยังคงเป็นหนี้ค้างในระบบ กกท. มากกว่า 400 ล้านบาท การทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างสมาคมกีฬา กับ กกท. ชอบด้วยระเบียบ หรือ กฎหมาย หรือไม่ อย่างไร
ปรากฏว่า ดร.สุปราณี ได้ไปให้ข้อมูลกับกรรมาธิการกีฬา ในประเด็นที่ถูกฟ้องบัตรสนเท่ห์ และกรรมาธิการ ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการกกท. ขอข้อมูลการกู้ยืนเงินจากสมาคมต่าง ๆ ตามหนังสือของกรรมาธิการ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเอกสารดังกล่าวยังถึงผู้ว่าการกกท. วันที่ 2 มีนาคม 2566 ทำให้เกิดความไม่พอใจ ดร.สุปราณี เพิ่มมากขึ้น ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2566 ดร.ก้องศักด ได้แต่งตั้ง นายถิรชัย วุฒิธรรม เป็นประธานสอบสวนข้อเท็จจริง ในประเด็นที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการใช้อำนาจของผู้จัดการกองทุนฯ แต่นายถิรชัย อยู่สมาคมเดียวกับผู้ร้อง สรุปร้องเอง สอบเอง ใช่หรือไม่
เรื่องเงินยืม ของสมาคมต่าง ๆ ดร.สุปราณี ได้หารือกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และฝ่ายการคลังกองทุน กกท. ทราบว่า การกู้เงินไม่ถูกต้องตามระเบียบการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลัง มีระเบียบชัดเจนว่าด้วย เรื่องการยืนเงินราชการ ตามหนังสือตอบข้อหารือเกี่ยวกับการยืมเงินราชการ และการทดรองเงินราชการ ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557
ประการที่ 4 เรื่องเงินรางวัลนักกีฬา ตามระเบียบหากมีการแข่งขันระดับนานาชาติ (Single sport) เงินรางวัลจะสูงขึ้นเทียบได้กับการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ แต่ถ้าหากแข่งขันกีฬาระดับเขต รางวัลก็จะน้อยลง แต่ปรากฏว่า เมื่อมีการแข่งขันกีฬาระดับเขต แต่อยากได้รางวัลระดับชาติ จึงทำให้บางสมาคมฯ ไม่พอใจ อยากได้รางวัลระดับชาติแทนระดับเขต
และประการที่ 5 เกิดจากการที่ ดร.สุปราณี ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนฯ อย่างเคร่งครัด ตามระเบียบคณะกรรมการกกท. ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน การบริหารกองทุนฯ และการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนฯ พ.ศ.2559 ข้อ 12 (2), ข้อ 14 และข้อ 16
“จากมูลเหตุจูงใจดังกล่าว จึงทำให้ผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์ ได้ทำบัตรสนเท่ห์ขึ้นมา และอยู่ในช่วงสัญญาจ้างผู้จัดการกองทุนฯ มีกำหนดเวลา 4 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ถามว่ามีขบวนการเตะตัดขา ดร.สุปราณี เพื่อไม่ให้ไปต่อหรือไม่” ทนายอนันต์ชัย กล่าว
นอกจากนี้ระหว่างการแถลงข่าว นายอธิปรัฐ กาญจนสุวรรณ อดีตนายกสมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทย ได้ลุกขึ้นตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของ ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และการกีฬาแห่งประเทศไทย รวมถึงยื่นหนังสือขอให้ ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ช่วยตรวจสอบคุณสมบัติของ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เนื่องจากมองว่าไม่มีคุณสมบัติครบถ้วน