รัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวหานางอองซานซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมาผู้ถูกยึดอำนาจเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ว่ารับสินบนมูลค่ามากกว่า 18 ล้านบาท
โฆษกกองทัพเมียนมา พลจัตวา ซอว์ มิน ตัน แถลงข่าวที่กรุงเนปิดอว์ในวันพฤหัสบดี กล่าวหาว่านางซูจีรับเงินมูลค่าราว 600,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 18 ล้านบาท) และทองคำแท่ง ขณะที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐ อ้างอิงจากคำร้องของอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนครย่างกุ้ง
เวลานี้ นางซูจีกำลังเผชิญการฟ้องร้องทางอาญา 4 ข้อหา คือ ครอบครองอุปกรณ์สื่อสารอย่างผิดกฎหมาย, ใช้อุปกรณ์สื่อสารโดยไม่มีใบอนุญาต, ละเมิดมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และพยายามปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในประเทศ
ขณะเดียวกัน มีรายงานตำรวจเมียนมายิงผู้ประท้วงที่บริเวณสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในเมืองเมียวยิง เขตมะเกว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 6 ราย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ประท้วงที่เมืองนี้ นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ประท้วงเสียชีวิตเพิ่มอีกที่นครย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ ตามรายงานของวีโอเอภาคภาษาเมียนมา
เสียงประณามจากประชาคมโลก
องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) เปิดเผยรายงานในวันพฤหัสบดี กล่าวหารัฐบาลทหารเมียนมาว่าใช้ยุทธวิธีที่โหดร้ายขึ้นเรื่อยๆ ในการปราบปรามประชาชนและผู้ประท้วงอย่างสันติ ซึ่งเป็นการวางแผนอย่างเป็นระบบที่ปกติแล้วถูกนำมาใช้ในสนามรบเท่านั้น และมีประชาชนจำนวนมากที่ถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม
สมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ระบุว่ามีผู้ประท้วงอย่างน้อย 60 คนที่ถูกสังหาร และอย่างน้อย 1,900 คน ถูกจับกุมตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมือวันที่ 1 กุมภาพันธ์
เมื่อคืนวันพุธ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติออกแถลงการณ์ร่วม ประณามกองทัพเมียนมาที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา รวมทั้งประธานาธิบดีวิน มินต์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ในทันที ถือเป็นหนึ่งในการแสดงจุดยืนร่วมกันของประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็น รวมทั้งจีน ที่มีต่อเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา
ลินดา ธอมัส-กรีนฟีลด์ (Linda Thomas-Greenfield) ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า คณะมนตรีความมั่นคงมีเสียงเป็นหนึ่งเดียวกันในการประณามกองทัพและกองกำลังความมั่นคงของเมียนมา ที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ
กองทัพเมียนมาอ้างเหตุผลในการทำรัฐประหารว่า มีการโกงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่พรรคเอ็นแอลดีได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แม้ว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาจะไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างดังกล่าวก็ตาม โดยกองทัพเมียนมาระบุว่าจะมีการจัดเลือกตั้งใหม่ แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะจัดเมื่อใด
เอกสารที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้รับ ระบุว่า กองทัพเมียนมาจ้าง อะริ เบน-เมนาเช นักล็อบบี้สัญชาติอิสราเอล-แคนาดา และบริษัทของเขา ดิคเคนส์ แอนด์ แมดสัน แคนาดา (Dickens & Madson Canada) ด้วยเงิน 2 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 61 ล้านบาท) เพื่อ “ช่วยอธิบายสถานการณ์ที่แท้จริง” ของการทำรัฐประหารในเมียนมา ให้สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ได้รับทราบ
ข้อตกลงระบุว่า เบน-เมนาเช และบริษัทดังกล่าว จะเป็นตัวแทนของรัฐบาลทหารเมียนมาในกรุงวอชิงตัน และจะทำหน้าที่ล็อบบี้ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล รัสเซีย และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น ยูเอ็น เป็นต้น