"กสิกรไทย" โร่แจง โฆษณาประกันเงินหาย ปล่อยก่อนเกิดเหตุดูดเงิน ล่าสุดลบออกไปแล้ว

Home » "กสิกรไทย" โร่แจง โฆษณาประกันเงินหาย ปล่อยก่อนเกิดเหตุดูดเงิน ล่าสุดลบออกไปแล้ว
"กสิกรไทย" โร่แจง โฆษณาประกันเงินหาย ปล่อยก่อนเกิดเหตุดูดเงิน ล่าสุดลบออกไปแล้ว

หลังมีกระแสข่าวมิจฉาชีพแฮกดูดเงินในบัญชีธนาคาร บัตรเดบิต และบัตรเครดิต จนมีผู้เสียหายนับหมื่นๆราย ได้รับผลกระทบ ต่อมามีการแชร์ภาพจากแอปฯ ของธนาคารแห่งหนึ่ง ที่มีข้อความโฆษณาขายประกันภัย ป้องกันเงินหายจากบัญชี ทำเอาเกิดเป็นกระแสเดือดในโลกออนไลน์ ว่าหากจะมีการเสนอขายประกันในลักษณะนี้ ก็ยิ่งตอกย้ำความไม่น่าเชื่อถือ และปัญหาความไม่ปลอดภัยของสถาบันการเงินอย่างธนาคารยิ่งเข้าไปอีก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ธนาคารกสิกรไทย ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่เกิดขึ้น ระบุว่า

ตามที่มีการแพร่กระจายภาพโฆษณาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ที่มีข้อความว่า “โดนแฮกเงินหาย” นั้น ธนาคารกสิกไทยขอชี้แจงว่า ประกันดังกล่าวธนาคารเป็นผู้เสนอขาย โดยจะให้ความคุ้มครองความเสียหาย 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. คุ้มครองผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ กรณีผู้ขายไม่ส่งสินค้าภายใน 7 วันนับจากวันที่แจ้งว่าจะจัดส่ง, ผู้ซื้อได้รับสินค้าไม่ครบตามรายการสั่งซื้อ, สินค้าได้รับความเสียหายทางกายภาพ, สินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณาประชาสัมพันธ์
  2. คุ้มครองผู้ขายจากการถูกหลอกลวงให้ส่งสินค้า และไม่ได้รับเงินภายใน 7 วัน นับจากวันที่แจ้งว่าจะจัดส่ง
  3. คุ้มครองเงินส่วนตัวที่หายจากบัตร บัญชี หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ จากการถูกโจรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ โดยวิธีการใช้บัตรชำระเงิน , การเข้าสู่บัญชีธนาคาร , การเข้าสู่ e – Wallet ของผู้เอาประกันภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีที่ไม่สามารถเรียกคืนได้จากผู้ออกบัตร หรือผู้ให้บริการบัญชี / กระเป๋าเงินออนไลน์

โดยธนาคารมีการจัดทำโฆษณาเพื่อสื่อสารทางการตลาดที่สอดคล้องกับประสบการณ์ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของลูกค้า 7 รูปแบบ ซึ่งข้อเสนอตามภาพเป็นการนำเสนอให้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (ประมาณ 12,000 คน) ผ่าน K PLUS เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ก่อนจะเกิดกระแสข่าวการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของประชาชนจำนวนมาก ตามที่สื่อต่าง ๆ ได้มีการนำเสนอในช่วงนี้ โดยทันทีที่ทราบประเด็นความเดือดร้อนดังกล่าว ในวันที่ 17 ตุลาคม 2564 ธนาคารได้ระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ด้วยรูปแบบข้างต้นในทุกช่องทาง

ทั้งนี้ ขอยืนยัน ว่าธนาคารไม่ได้มีเจตนาในการเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือบริการรูปแบบนี้ ในช่วงสถานการณ์ที่สังคมมีกระแสวิตกเช่นนี้แต่อย่างใด ขออภัยลูกค้าและประชาชนอย่างสูง ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดต่อกรณีที่เกิดขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ