กสทช. เตรียมฟ้องศาลปกครอง เหตุ กกท.ไม่คืน600 ล้าน

Home » กสทช. เตรียมฟ้องศาลปกครอง เหตุ กกท.ไม่คืน600 ล้าน



กสทช. เตรียมดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กกท. ไม่คืนเงินค่าลิขสิทธิ์ 600 ล้านบาท ระบุ ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย แม้หน่วยงานพิพาทจะเป็นภาครัฐด้วยกัน ก็ไม่สามารถละเว้นได้

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า การปฏิเสธไม่คืนเงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาทของ การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย และเมื่อไม่ยอมคืน สำนักงานกสทช. ก็จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามมติบอร์ดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565

“ความจริงไม่อยากให้เรียกว่าการทวงเงิน มติบอร์ดระบุให้กกท.ปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ที่ทำไว้กับสำนักงานกสทช. ซึ่งผู้ประกอบการไอพีทีวี ที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช. ต้องสามารถถ่ายทอดสดด้วยทุกราย หากไม่ปฏิบัติตาม ก็ต้องคืนเงินที่เราให้การสนับสนุนไปจำนวน 600 ล้านบาท”

นพ.สรณ กล่าวว่า เอ็มโอยู ที่กกท.เซ็นกับสำนักงานกสทช. กำหนดแบบนั้น เมื่อไม่ปฏิบัติตามก็จำเป็นต้องทวงเงินคืน เพราะถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข หากไม่คืนก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการศาล เพราะเงินสนับสนุนเป็นเงินในกำกับดูแลของกสทช. มติของบอร์ดเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ แม้ว่าหน่วยงานพิพาทจะเป็นภาครัฐด้วยกัน ก็ไม่สามารถละเว้น
“ตอนอนุมัติเงินช่วยเหลือ มองว่าฟุตบอลโลกเป็นการแข่งขันที่คนไทยทุกคนชื่นชอบ เด็ก ๆ อยากรับชม จึงต้องมีใครสักคนยอมควักกระเป๋า เพราะอยากให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลกก ไม่ได้คิดว่าที่สุดนอกจากจะต้องควักกระเป๋าจ่ายแล้ว กสทช. ยังถูกโจมตีมากมาย บางส่วนไม่เห็นด้วยให้นำเงินไปสนับสนุน บางส่วนมองว่าเราไม่จัดการอะไร ทำให้ไอพีทีวีไม่สามารถถ่ายทอดสดได้ ทั้งที่เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอ็มโอยูที่กกท.ทำกับทรู ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องและศาลทรัพย์สินทางปัญญาสั่งคุ้มครองลิขสิทธิ์ของทรู แต่ในเอ็มโอยู ที่กกท.ทำกับสำนักงานกสทช.ระบุชัดว่าไอพีทีวีต้องรับชมได้”

นพ.สรณ กล่าวอีกว่า ความยุ่งยากสืบเนื่องมาจากประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศนท์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) ซึ่งทำให้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ต้องถูกเผยแพร่ในทุกช่องทาง รวมไอพีทีวีด้วย เมื่อซื้อลิขสิทธิ์มาในราคาแพง แต่ต้องนำออกเผยแพร่ในทุกแพลตฟอร์ม ขณะที่โมเดลสร้างรายได้จากโฆษณาทำได้ยากขึ้นในภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันในยุคปัจจุบัน จึงไม่มีเอกชนรายใดอยากลงทุน กลายเป็นภาระภาครัฐต้องใช้เงินซื้อมา จึงมองว่าประกาศดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไข

ขณะที่ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. กล่าวว่า ตนพร้อม จะเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ กสทช. ตลอดเวลา ทั้งนี้ มีตัวอย่างเทียบเคียง ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 รายการที่อยู่ในกฎมัสต์แฮฟ ที่จะต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ดูฟรี โดยในช่วงนั้นกล่องรับสัญญาณเอกชนเจ้าหนึ่ง เป็นผู้รับหน้าที่ในการออกอากาศ และปิดกั้นสัญญาณในส่วนของกล่องรับสัญญาณเจ้าอื่น ๆ ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีเดียวกัน ในกฎมัสต์แคร์รี่ ก็อยากให้ทาง กสทช. ออกมาชี้แจงว่าเ หตุใดรายการนั้นทำได้ และทำไมรายการนี้ทำไม่ได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ