กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ ทดลองถ่ายภาพแรกจากกลุ่มดาวหมีใหญ่

Home » กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ ทดลองถ่ายภาพแรกจากกลุ่มดาวหมีใหญ่



องค์การนาซาเผยภาพทดสอบภาพแรกที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) บันทึกไว้ได้ ขณะกำลังปรับโฟกัสของกระจกปฐมภูมิซึ่งประกอบด้วยแผ่นกระจกหกเหลี่ยมย่อย ๆ 18 แผ่น เพื่อให้ทำงานประสานสอดคล้องกันเสมือนเป็นกระจกแผ่นเดียว

ภาพทดสอบนี้เป็นภาพของดาวฤกษ์ HD84406 ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 260 ล้านปีแสง ทีมงานผู้ควบคุมกล้อง JWST เลือกดาวดวงนี้เป็นเป้าหมายในการทดสอบใช้งานและปรับตั้งค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นวัตถุอวกาศที่ส่องแสงสลัวและมองเห็นได้ยาก โดยไม่สามารถจะมองเห็นด้วยตาเปล่าจากพื้นโลก

ทีมผู้ควบคุมได้เปิดใช้งานกล้อง Near Infrared Camera หรือ NIRCam กล้องตัวหลักของ JWST ที่ตรวจจับคลื่นความร้อนย่านใกล้อินฟราเรด ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา และใช้มอเตอร์ด้านหลังกระจกปฐมภูมิขยับตำแหน่งของกระจกแผ่นย่อยทั้ง 18 แผ่น ให้ค้นหาและสะท้อนแสงของดาวฤกษ์เป้าหมายจากมุมของตนเอง

18 dots

ที่มาของภาพ, NASA/ESA/CSA/Uni of Arizona

การเปิดใช้งานกล้อง NIRCam ทำให้ได้ภาพทดสอบมากกว่า 1,000 ภาพ ซึ่งเมื่อนำมาซ้อนและประมวลผลเข้าด้วยกันแล้ว ทำให้มองเห็นดาวฤกษ์ดวงเดียวปรากฏซ้ำกันในภาพถึง 18 ครั้ง โดยภาพดาวฤกษ์ที่ปรากฏเป็นจุดเล็ก ๆ นั้นก็ยังไม่สู้คมชัดนัก

อย่างไรก็ตาม นี่คือจุดเริ่มต้นในการปรับโฟกัสกระจกปฐมภูมิและทุติยภูมิ รวมทั้งการตั้งค่าอุปกรณ์หลัก 4 ชิ้นให้พร้อมทำงานได้จริง จนสามารถบันทึกภาพที่คมชัดจากห้วงอวกาศลึกได้ ภายในปลายเดือนมิ.ย.หรือไม่เกินกลางเดือนก.ค.นี้

ภาพถ่ายดาวฤกษ์ HD84406 ขณะกล้องยังปรับโฟกัสไม่เรียบร้อย ทำให้มองเห็นเป็น 18 ภาพด้วยกัน

นอกจาก NIRCam แล้ว กล้อง JWST ยังประกอบไปด้วยอุปกรณ์หลักอื่น ๆ เช่นเครื่องตรวจจับรังสีอินฟราเรดย่านกลาง (MIRI) และอุปกรณ์วิเคราะห์สเปกตรัม (NIRSpec) ซึ่งใช้ตรวจหาองค์ประกอบที่เป็นธาตุต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศของดวงดาว

Selfie

ที่มาของภาพ, NASA/ESA/CSA/Uni of Arizona

ในครั้งนี้กล้อง JWST ยังได้ถ่ายภาพ “เซลฟี่” ของตัวเองเป็นครั้งแรกด้วย ทำให้เรามองเห็นทั้งกระจกปฐมภูมิและกระจกทุติยภูมิที่ปรากฏตรงกลางภาพพร้อมกัน กระจกหกเหลี่ยมแผ่นหนึ่งมีแสงสว่างมากกว่าเพื่อน เนื่องจากกำลังสะท้อนแสงของดาวฤกษ์ ในขณะที่กระจกแผ่นอื่น ๆ ไม่ได้เล็งไปในทิศทางเดียวกัน

…………………………………………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ