กลุ่มขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค ซัดรัฐบาลบริหารประเทศรวมศูนย์ ตัดตอนกระจายอำนาจ ยื่นหนังสือถึง ‘ประยุทธ์’ เสนอ 5 แนวทาง แก้ปัญหาความเดือดร้อน
วันที่ 9 พ.ย.64 ที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) กลุ่มขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคกรุงเทพปริมณฑลและตะวันออก ยื่นหนังสือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาประชาชน
กลุ่มขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค โจมตีการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นอุปสรรคและเป็นสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยมีข้อสังเกตสำคัญ 3 ประการ คือ
1. รัฐบาลมุ่งเน้นการใช้อำนาจและกฎหมายในบริหารประเทศ มากว่าการสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากภาคประชาชน ทำให้เห็นถึงความไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการตื่นตัวของประชาชนในโลกสมัยใหม่
2. รัฐบาลบริหารงานแบบรวมศูนย์ โดยเน้นใช้กลไกของระบบราชการเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการกับทุกเรื่องทุกปัญหาและทุกพื้นที่ ซ้ำยังตัดตอนหรือชะลอการกระจายอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่น ทั้งที่รู้ดีว่ากลไกและระบบราชการที่เป็นอยู่นั้นมีความแข็งตัวและมีข้อจำกัดมากมาย จนไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วได้
3. รัฐบาลตกอยู่ในภวังค์แห่งความหวาดวิตกทางการเมือง จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ จึงสร้างมาตรการเพื่อการควบคุมทางสังคมการเมือง เพียงเพื่อรักษาความมั่นคงมากเกินไป จนไม่เปิดโอกาสหรือละเลยที่จะส่งเสริมสนับสนุนประชาชนและภาคประชาสังคมให้มีความสามารถในการขับเคลื่อนการพัฒนาในชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพข้อสังเกตเบื้องต้นนี้
สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศที่อยู่ภายใต้กรอบคิดอันจำกัดและ และไม่เข้าใจบริบทที่กำลังเปลี่ยนไปของสังคมโลกและสังคมไทย กลายเป็นการปิดกั้นประสิทธิภาพของประชาชนในประเทศโดยรวมอย่างน่าเสียดายยิ่ง ซึ่งยังไม่รวมถึงความไร้เสถียรภาพในการบริหารทางการเมืองภายในของรัฐบาลผสมจากหลายพรรค
จนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างหัวหน้ารัฐบาลและรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆที่มาจากต่างพรรค ยังให้เกิดการบริหารงานแบบถ้อยที่ถ้อยอาศัย และเป็นการบริหารตามแบบฉบับเฉพาะของรัฐมนตรีแต่ละคน จนไม่สามารถนำพาการบริหารราชการแผ่นดินไปสู่เป้าหมายใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยังให้ประสิทธิผลไม่ปรากฏเด่นชัดต่อการพัฒนาประเทศ ยิ่งทำให้เกิดปัญหากับประชาชนทับถมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค จึงไม่สามารถนิ่งเฉยได้อีกต่อไปภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นอยู่นี้ จึงนัดหมาย รวมตัวกันเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอทวงถามถึงความจริงใจของนายกรัฐมนตรี ต่อแนวทางในการบริหารประเทศ และแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
พวกเราขอเสนอแนวทางเบื้องต้น เพื่อเป็นทางออกต่อสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยเชื่อว่าจะช่วยลดข้อจำกัดและช่องว่างระหว่างประชาชนกับรัฐบาลลงได้บ้าง ดังนี้
1.รัฐบาลต้องยอมรับการเป็น “หุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ” ของประชาชน ที่ไม่ใช่เป็นฝ่ายตรงข้ามหรือเป็นเพียงผู้รอรับการช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น แต่ควรร่วมสร้างสังคมแนวใหม่ ที่ต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทสำคัญและมีความสามารถในการจัดการแก้ไขปัญหาได้เองในทุกมิติ
2. รัฐบาลต้องสร้างกลไกร่วมระหว่างภาครัฐ(ฝ่ายการเมืองและข้าราชการ) กับภาคประชาชน และภาคีพัฒนาอื่นๆ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาเชิงรุกที่เท่าทันกับโลกสมัยใหม่ และสามารถเป็นกลไกในการจัดการแก้ไขปัญหาของประชาชนในทุกมิติ ทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาค
3.รัฐบาลต้องปฏิรูปกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เป็นองค์กรที่มีความก้าวหน้า
ทันสมัย เพื่อสร้างสังคมแนวใหม่ให้ปรากกฎ มิใช่แค่การทำงานเชิงสงเคราะห์มิติเดียว หากแต่ต้อง
ส่งเสริมความความเข้มแข็งของสังคม ให้ประชาชนสามารถจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ รวมถึง
การสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้ดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีความภาคภูมิใจในความเป็นประชากร
ของประเทศ
4. รัฐบาล โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องหยุดการแทรกแซงองค์กรที่
สนับสนุนศักยภาพของภาคประชาชน ดังกรณีไม่ยอมแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันพัฒนา
องค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช.ชุดใหม่ ซึ่งว่างเว้นมาแล้วกว่า 14 เดือน (อย่างไม่เคยปรากฏมีมาก่อน) ส่งผลให้ พอช. ไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนกว่า 7,000 ตำบล ทั่วประเทศ
5. รัฐบาลต้องส่งเสริมและสร้างกลไกให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมสำคัญในการจัดการและออกแบบการ แก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ช่วงที่ผ่านมาในทุกมิติ
โดยเฉพาะการฟื้นฟูด้านอาชีพ เศรษฐกิจชุมชน และการเข้าถึงแหล่งผลิตอาหารในท้องถิ่น โดยต้อง
ปรับระบบงบประมาณและกองทุนเงินกู้ให้สอดคล้องตามแนวทางดังกล่าว
โอกาสเดียวกันนี้ ขบวนประชาชน 5 ภูมิภาค ได้แนบมติที่ประชุมสมัชชาสภาองค์กรชุมชนประจำปี พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมทั่วประเทศมาด้วย เพื่อให้รัฐบาลได้รับทราบถึงสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของประชาชน และเพื่อประกอบการพิจารณาต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ทั้งยังหวังว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธั จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะเปิดใจกว้างรับฟังทั้งข้อสังเกตและ
ข้อเสนอทั้งหมดที่นำเรียนไว้เบื้องต้น อันถือเป็นการแสดงออกในฐานะตัวแทนประชาชนทั้ง 5 ภูมิภาค ที่ เกิดขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพียงเพราะอยากเห็นการพัฒนาสังคมและบ้านเมืองที่มีความก้าวหน้า และมีความ มั่นคงยั่งยืนสืบไป