“คลัง” ยืนยันฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยไม่เสี่ยง แม้ลดวงเงินงบประมาณไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโต
แฟนเพจ สถานีข่าวกระทรวงการคลัง ภายใต้กระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์เกี่ยวกับฐานะการเงินการคลังของประเทศ ย้ำแม้ลดวงเงินงบประมาณไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโต พร้อมอธิบายเหตุผลให้ประชาชนรับทราบดังนี้
จากกรณีที่มีข้อวิจารณ์ถึงฐานะการเงินการคลังของประเทศว่าเริ่มมีความเสี่ยง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังขอชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์ดังกล่าว ดังนี้
1.สำหรับในประเด็นที่กรอบวงเงินงบประมาณปีงบประมาณ 2565 ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 นั้น ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะไม่เติบโตแต่อย่างใด แม้วงเงินงบประมาณและงบลงทุนในปีงบประมาณ 2565 จะลดลงจากปี 2564 แต่ในความเป็นจริง การลงทุนภาครัฐยังต้องรวมถึงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่สามารถช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีกด้วย ซึ่งมูลค่าการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในแต่ละปีอยู่ที่กว่า 3 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีการเร่งนำนวัตกรรมทางการเงินการลงทุนใหม่ ๆ มาใช้เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้งบประมาณภาครัฐ เช่น การเร่งผลักดันการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ Public Private Partnership (PPPs) การลงทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund (TFFIF) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดินหรือเงินกู้จากภาครัฐ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมและมีความเชี่ยวชาญเข้ามามีบทบาทในการร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศได้อย่างคุ้มค่า
ทั้งนี้ การตั้งวงเงินงบประมาณที่ลดลงเคยดำเนินการมาแล้วในอดีต เมื่อเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2553 เคยมีการลดกรอบวงเงินลงจากปีงบประมาณ 2552 ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท เนื่องจากในปี 2552 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้จำเป็นต้องดำเนินมาตรการภาษีเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งยังได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 (พรก. ไทยเข้มแข็งฯ) ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับในปัจจุบันที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีการออกพระราชกำหนดกู้เงินอีกด้วย
2. ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็นตัวเลขทางการในระบบการคลังที่องค์กรระหว่างประเทศและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Moody’s S&P’s และ Fitch ให้การยอมรับ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในการพิจารณาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยภายใต้กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ นิยามของหนี้สาธารณะประกอบด้วย หนี้รัฐบาล หนี้รัฐวิสาหกิจ หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้หน่วยงานของรัฐ โดยกฎหมายได้กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ บริหารหนี้สาธารณะของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งครอบคลุมการก่อหนี้ใหม่ การบริหารหนี้เดิม และการชำระหนี้ ตลอดจนการกำกับ ติดตาม และประเมินผลโครงการเงินกู้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะดำเนินการกู้เงินตามกฎหมายและแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเท่านั้น
สำหรับการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น พิจารณากลั่นกรองโครงการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยพิจารณาความพร้อมของโครงการ ความจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละปีงบประมาณ และความสอดคล้องกับหลักการและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้กำกับ ติดตาม และรายงานแผนและผลการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงได้เผยแพร่ข้อมูลการกู้เงินของกระทรวงการคลังตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการบนเว็บไซต์ www.pdmo.go.th ซึ่งแสดงถึงความโปร่งใสของการดำเนินงาน และประชาชนสามารถตรวจสอบได้
โดยนับตั้งแต่ปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลรุนแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการคลังจึงได้ตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 กระทรวงการคลังได้กู้เงินภายใต้ พ.ร.ก ดังกล่าว จำนวน 338,761 ล้านบาท และเมื่อรวมกับหนี้สาธารณะคงค้างส่วนที่เหลือ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 49.34 อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันรัฐบาลยังมีความต้องการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และรองรับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงการจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ร้อยละ 53.21 แต่รัฐบาลคาดว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จะคลี่คลาย เศรษฐกิจและสังคมของประเทศจะฟื้นตัวและเกิดการขยายตัว (GDP growth) อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะปานกลาง (ปี 2565 – 2568) ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังที่ไม่เกินร้อยละ 60 และในปัจจุบันอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยยังถูกจัดอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ
3. สำหรับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความยากจนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าและภาวะตกต่ำทางการค้าทั่วโลกมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง อีกทั้งยังได้รับการซ้ำเติมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และผลกระทบของเศรษฐกิจที่หดตัว ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการบริหารประเทศของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นให้แก่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อาทิ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร และกลุ่มเปราะบาง หรือการให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชน
4. กระทรวงการคลังได้มีเครื่องมือในการวิเคราะห์ติดตามความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตการคลังอย่างใกล้ชิด ผ่านแบบจำลอง Fiscal Early Warning System ทั้งนี้ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 ค่าดัชนีรวมเตือนภัยล่วงหน้าอยู่ที่ 2.47 มีค่าสูงขึ้นจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 ซึ่งอยู่ที่ 1.44 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี ยังคงต่ำกว่าระดับขีดเตือนภัยที่อยู่ที่ 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลจะต้องมีการเฝ้าระวังและบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด แต่ยังคงมีพื้นที่ว่าง (room) ในการจัดทำนโยบายการคลังเพิ่มเติมได้หากมีความจำเป็น