กรมอุทยานฯ ลุยกลบ 11 หลุมยุบ เสร็จแล้ว 3 หวั่นอันตรายต่อคน-ช้างป่า

Home » กรมอุทยานฯ ลุยกลบ 11 หลุมยุบ เสร็จแล้ว 3 หวั่นอันตรายต่อคน-ช้างป่า


กรมอุทยานฯ ลุยกลบ 11 หลุมยุบ เสร็จแล้ว 3 หวั่นอันตรายต่อคน-ช้างป่า

กรมอุทยานฯ ลุยกลบ 11 หลุมยุบ ต.ชะแล ทำแล้ว 3 หลุม หวั่นอันตรายต่อคนและช้างป่า

23 มี.ค. 66 – จากกรณีการช่วยเหลือ ช้างป่าแม่ลูก ที่ลงไปในบ่อหลุมยุบ ใกล้โรงเรียนเหมืองสองท่อ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งสำรวจหลุบยุบเพิ่มเติม พบมีถึง 11 หลุมที่มีขนาดใหญ่และลึก

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) หน่วยงานป้องกันรักษาที่ กจ.4 (อู่ล่อง),

ชุดประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดิริ บ้านทิพุเย, เจ้าอาวาสวัดถ้ำใหญ่นเรศวร, เจ้าอาวาสวัดชะอี้สุวิมลธรรมาราม, ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านเหมืองสองท่อ หมู่บ้านชะอี้ หมู่ที่ 7, หมู่บ้านบ้านทุ่งนางครวญ หมู่ที่ 5, หมู่บ้านห้วยเสือ หมู่ที่ 1, มูลนิธิพิทักษ์คชสาร และนายสนอง ยอดกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเหมืองสองท่อ

เข้าร่วมประชุมเพื่อทำแผนปฏิบัติการกลบหลุมในพื้นที่บ้านเหมืองสองท่อ โดยมีนายคำหล้า เขียวอิ่ม รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลชะแล เป็นประธานการประชุม

น.สพ.ภัทรพล กล่าวว่า หลุมดังกล่าวทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่เหมืองเก่า เดิมทีตามแผนเดิมต้องการที่จะกลบหลุมยุบทุกหลุม ซึ่งต้องใช้ดินจำนวนมาก และความลึกของหลุมไม่แน่นอน อาจทำให้กลบปิดหลมไม่มิด และใช้งบประมาณมาก หากปล่อยไว้เนิ่นนาน อาจมีช้างป่าตกลงไปจนได้รับบาดเจ็บอีก

ซึ่งที่ผ่านมาก็มีชาวบ้านแจ้งว่า เคยมีเด็กและสัตว์เลี้ยงตกลงไปในหลุมหยุบดังกล่าว ครั้งนี้จึงได้ทำมาตรการเพื่อลดโอกาสและความเสี่ยงที่ช้างจะตกไปในหลุมก่อน 3 หลุม ได้แก่ หลุมที่ 1 จะไม่ปิดปากหลุมไม่ให้ช้างลง แต่จะทำทางลาดเพื่อให้ช้างลงไปแล้วสามารถขึ้นได้เอง หลุมที่ 2 เนื่องจากหลุมมีขนาดปากหลุมที่แคบ ลึก ปากหลุมมีก้อนหินขนาดใหญ่ล้อมรอบ

จึงต้องจัดหาท่อนไม้และเสาปูนที่ไม่ได้ใช้งานแล้วนำมาปิดปากหลุม ให้แคบลง และหลุมที่ 3 เป็นหลุมที่มีต้นมะเดื่อและต้นกล้วย ซึ่งดึงดูดให้ช้างมาที่ปากหลุม และเสี่ยงอันตราย จึงได้ล้อมรั้วด้วยลวดหนามเพื่อป้องกันช้างตกหลุม ในระดับความสูงของลวดหนามที่สามารถกันช้างที่มีขนาดต่างกันได้ ซึ่งช้างยังสามารถกินลูกมะเดื่อจากต้นได้

น.สพ.ภัทรพล กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการต่อไปจะมีการปลูกหญ้าแฝก และต้นไผ่บริเวณปากหลุมทุกหลุม เพื่อป้องกันดินทรุดตัว เวลาที่ช้างเดินมาใกล้ปากหลุมและล้วมรั้วลวดหนาม ป้องกันคนและสัตว์เลี้ยงเข้ามาด้วย

อย่างไรก็ตาม จะมีการรวบรวมผลการดำเนินงานและรายงานข้อมูลต่างๆ ตามสายบังคับบัญชาไปยังกระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประสานให้นักวิชาการทางด้านธรณีและน้ำบาดาล เข้าวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางการจัดการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมกับคนและช้างป่าในพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าว สร้างความประทับใจและพึงพอใจแก่ชุมชนเป็นอย่างมาก ที่คิดเร็ว ทำเร็ว ในการแก้ไขปัญหา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ