กรมอุทยานฯ พร้อมเปิดเส้นทางธรรมชาติ “อ่างกา” ดอยอินทนนท์ 13 พ.ย.นี้ 

Home » กรมอุทยานฯ พร้อมเปิดเส้นทางธรรมชาติ “อ่างกา” ดอยอินทนนท์ 13 พ.ย.นี้ 


กรมอุทยานฯ พร้อมเปิดเส้นทางธรรมชาติ “อ่างกา” ดอยอินทนนท์ 13 พ.ย.นี้ 

กรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “อ่างกา” อุทยานฯ ดอยอินทนนท์ 13 พ.ย.นี้ หลังปิดนาน 13 เดือน นักท่องเที่ยวจะพบอารยสถาปัตย์ ออกแบบเหมาะสม เป็นมิตรกับธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ตรวจสอบอาคาร สิ่งก่อสร้าง สิ่งอํานวยความสะดวกต่างๆ ภายในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ตามแนวทางการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ รูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

พบว่ามีสิ่งอํานวยความสะดวกบางแห่ง มีความชํารุด บกพร่อง จําเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมให้ใช้การได้ตามปกติ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว จึงได้ดําเนินงานตามโครงการปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้ประกาศปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา บริเวณหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่ อน.5 (ยอดดอย) เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา

นายธัญญา กล่าวอีกว่า ล่าสุดอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ร่วมกับ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศล ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงาน โดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ปรับปรุงทางเดินไม้ภายในเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาเรียบร้อยแล้ว

โดยออกแบบให้เหมาะสมและเป็นมิตรกับธรรมชาติ ควบคู่กับการออกแบบ อารยสถาปัตย์ (Universal design) เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์สำหรับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะมีพิธีส่งมอบในวันที่ 13 พ.ย. 64 นี้

สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา นับเป็นเสน่ห์แห่งผืนป่าดิบเขาดึกดำบรรพ์ที่มีอายุกว่า 4,300 ล้านปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย มีระบบนิเวศแบบพิเศษที่เป็นแอ่งน้ำซับลักษณะเป็นป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ และเป็นต้นน้ำสำคัญของลำน้ำแม่กลางก่อนไหลลงแม่น้ำปิง มากมายด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์

ส่วนความหลากหลายของสรรพชีวิตบนผืนป่าอ่างกาผืนป่าแห่งนี้ เป็นแหล่งพันธุ์พืชและสัตว์ป่าหายากหลายชนิดที่มีการปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศเฉพาะถิ่น เช่น ข้าวตอกฤๅษี มอสส์สกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลก เฟิร์นพันธุ์หายากอย่างกูดอ่างกา กุหลาบพันปี ดอกสีแดงเข้มสวยงาม

และเป็นแหล่งอาหารของนกกินปลีหางยาวเขียว สายพันธุ์อ่างกา นกเฉพาะถิ่นที่พบได้ที่เดียวในโลก และนกกระจิ๊ดคอเทา ที่สามารถพบได้ที่เดียวในประเทศไทย

รวมถึงสัตว์หลากหลายชนิด เช่น สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อย่างกบดอยอินทนนท์ และกระท่าง ภูพิงค์ ซึ่งพบได้ยาก อีกทั้งเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นดัชนีบอกความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ

สำหรับที่มาของชื่อ “อ่างกา” เชื่อกันว่ามาจาก หนองน้ำแห่งหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนอ่างน้ำ และมีฝูงกาไปเล่นน้ำมากมาย จึงเรียกกันว่า อ่างกา โดยครั้งหนึ่งเคยเป็นชื่อของดอยอินทนนท์

นอกจากความพิเศษและความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ผืนป่าแห่งนี้ยังซ่อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ไว้หลากหลายมิติให้ได้ศึกษา เช่น แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ผ่านช่วงเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็น พิธีหุงน้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ พิธีแห่พระบรมธาตุศรีจอมทองเข้าเวียง พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 รวมไปถึงศาลเจ้ากรมเกียรติ ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์จากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกบริเวณนี้

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ถูกสำรวจวางแนวและออกแบบทางเดินโดยนายไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยาและอาสาสมัครชาวแคนาดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2534-2536

ซึ่งได้มีการพัฒนางานสื่อ ความหมายธรรมชาติในเส้นทางพร้อมกันไปด้วย ต่อมาสภาพทางเดินเปลี่ยนไปตามกาลเวลา กระทั่งมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ได้สนับสนุนการดำเนินงานปรับปรุงทางเดินไม้ภายในเส้นทางศึกษาธรรมชาติดังกล่าว

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา มีอากาศเย็นฉ่ำ และแมกไม้เขียวครึ้มร่มรื่น ‘อ่างกา’ หย่อมป่าที่มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ด้วยความสูงเฉียดเมฆ กว่า 2,550 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทางเดินแนวราบบนสะพานไม้ ลักษณะเส้นทางเป็นรอบวงกลม เพียง 320 เมตร มีความลาดชันเฉพาะตอนเริ่มต้นและใกล้สิ้นสุดเส้นทาง ใช้เวลาเดินประมาณ 20-30 นาที

ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ฤดูหนาวอากาศจะหนาวจัด จึงควรแต่งกายให้พร้อมสำหรับสภาพอากาศในแต่ละฤดู แนะนำให้ท่านเดินอย่างเงียบสงบ

พร้อมกับเปิดใจเรียนรู้เรื่องราวความหลากหลายของสรรพชีวิต ในผืนป่าเมฆที่เต็มไปด้วยคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต โดยไม่ทิ้งร่องรอยใดเหลือไว้ในธรรมชาติ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ