กรมอนามัย เตือน! ใช้กล่องเอทีเคห่อเครป แม้ยังสะอาดแต่มีสารตกค้าง เสี่ยงมะเร็ง

Home » กรมอนามัย เตือน! ใช้กล่องเอทีเคห่อเครป แม้ยังสะอาดแต่มีสารตกค้าง เสี่ยงมะเร็ง


กรมอนามัย เตือน! ใช้กล่องเอทีเคห่อเครป แม้ยังสะอาดแต่มีสารตกค้าง เสี่ยงมะเร็ง

รองอธิบดีกรมอนามัยเตือน ใช้กล่องเอทีเคห่อเครป แม้สะอาดแต่มีสารตกค้าง เสี่ยงสะสมมะเร็ง ไทรอยด์เป็นพิษ มีลูกยาก แนะใช้กระดาษฟู้ดเกรด เป็นมิตรต่อสุขภาพ เล็งสุ่มตรวจร้านค้า

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565 นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการนำเอากล่องบรรจุชุดตรวจโควิด-19 หรือเอทีเค(ATK) มาใส่อาหารรับประทานประเภทเครป อ่านข่าว : กินต่อหรือพอแค่นี้ ผงะซองใส่เครป คนแห่ถาม ผ่านการใช้งานมาหรือยัง ว่า

เป็นสิ่งที่ไม่ถูกสุขอนามัย เนื่องจากกล่องนี้ไม่ได้ผลิตมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการบรรจุอาหาร แม้ว่าเครปจะสะอาด ปรุงสุก ร้อนๆ หรือบอกว่ากล่องเอทีเค ยังไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน แต่เมื่อบรรจุลงไปกล่องเอทีเคเราก็ไม่แน่ใจว่ากล่องมีการเคลือบสารเคมีอะไรบ้าง

ซึ่งกระบวนการผลิตมักจะมีสารตกค้างจากหมึกพิมพ์ที่มีโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท แคดเมียมจากสี หรือสารเคมีอื่นๆ ยิ่งอาหารร้อน มีน้ำ มีน้ำมันยิ่งเสี่ยงที่จะทำให้ดูดซึมเข้าสู่อาหาร และเข้าสู่ร่างกายได้

“หากร่างกายสะสมสารเหล่านี้เป็นเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดมะเร็ง ดังนั้นไม่สมควรจะนำมาใช้ แม้กระทั่งกระดาษ A4 ขาวๆ ที่ยังไม่ได้ใช้งาน ก็ไม่ควรนำมาใช้เพราะมีสารเคมีจากกระบวนการผลิตกระดาษเช่นกัน” นพ.เอกชัย กล่าว

นพ.เอกชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีอาหารจำนวนมากที่ใช้กระดาษเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้โฟม เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด กล้วยทอด ปลาท่องโก๋ หรืออาหารประเภทต่าง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 จะมีความนิยมมากขึ้น ก็มีคำถามตามมาว่ากระดาษเหล่านั้นปลอดภัยหรือไม่ ดังนั้นขอแนะนำร้านค้าต่างๆ ว่าให้ใช้กระดาษสำหรับบรรจุอาหารโดยตรง (Food Grade) จะดีกว่า เพราะเป็นมิตรต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อร้านค้าเองด้วย

“บางคนบอกว่านานๆ กินที คงไม่เป็นอะไร แต่ขอเตือนว่าถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ขอให้หลีกเลี่ยงจะดีกว่า เพราะผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากสารเหล่านี้ไม่ได้เห็นผลทันที แต่ค่อยๆ สะสม ซึ่งในต่างประเทศ มีการศึกษาพบว่ามีสารที่อยู่ในกระดาษ อย่างเช่น ฟลูออรีน หากได้รับเข้าสู่ร่างกายและสะสมจะเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง ไทรอยด์เป็นพิษ ภูมิต้านทานบกพร่อง ถ้าเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ก็ทำให้มีลูกยาก หรือทำให้ทารกในครรภ์คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ” นพ.เอกชัย กล่าว

ทั้งนี้ นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยยังไม่เคยมีการสำรวจว่าปัจจุบันมีการใช้กระดาษรองอาหารเป็นฟู้ดเกรด หรือกระดาษทั่วไป มากน้อยแค่ไหน แต่จากนี้จะต้องมีการสุ่มตรวจมากขึ้น พร้อมกับการออกคำแนะนำในการปรุง การบรรจุหารให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น

ที่มา มติชน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ