กรมสุขภาพจิต เผย น้ำท่วมอุบลฯ ทำประชาชนเครียดสูง-เสี่ยงซึมเศร้า โดยทุกรายที่พบความเสี่ยงนั้น ได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจเบื้องต้นแล้ว
18 ต.ค. 2565 – นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี นอกจากการสูญเสียทรัพย์สินและเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจด้วย โดยเฉพาะโรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย (PTSD) ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตและอารมณ์นำไปสู่โรคภาวะทางจิตและพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายได้
กรมสุขภาพจิต ประสานทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ในพื้นที่ ประเมินผลกระทบ ดูแลช่วยเหลือ และฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วน
ดร.สุภาภรณ์ ศรีธัญรัตน์ ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 10 กล่าวว่า จากการออกปฏิบัติงานดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผ่านการประเมินภาวะสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ อ.วารินชำราบ จำนวน 602 คน พบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีความเครียดในระดับน้อยถึงปานกลาง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่มีเป็นทุนเดิม
นอกจากนี้ ยังได้ประเมินเพื่อเยียวยาในจุดพักพิงทั้ง 29 แห่ง การประเมินภาวะเครียด เมื่อวันที่ 15 ต.ค. สำรวจจํานวน 5,009 คน พบว่า มีระดับเครียดสูง ร้อยละ 3.03 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 3.87 และเสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 0.25 ซึ่งทุกรายที่พบความเสี่ยงได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจ และส่งต่อดูแลจากทีมสุขภาพจิต ทีม MCATT มีการพูดคุย ให้กำลังใจ ให้ความรู้ในการดูแลจิตใจเบื้องต้น และเทคนิคการผ่อนคลายความเครียดแก่ทีมช่วยเหลือ เพื่อป้องกันผลกระทบทางจิตใจ