วันนี้ (17 มิ.ย.2567) นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณีวันที่ 18 มิ.ย.นี้ อัยการจะนำตัว นายทักษิณ ชินวัตร ส่งฟ้องต่อศาล และขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น ว่า ในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.) หากศาลไม่อนุญาตประกันตัว และศาลมีคำสั่งฝากขังไปยังเรือนจำใด บุคคลนั้นก็จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวเข้าเรือนจำดังกล่าว โดยเป็นการแยกออกจากคดีเก่าที่เจ้าตัวมีโทษจำคุกและอยู่ระหว่างการพักโทษ เพราะคดีใหม่นี้ (ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ) เป็นคนละส่วนกัน ซึ่งจะต้องถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี
ส่วนกรณีที่ นายทักษิณได้รับการพักโทษและถูกคุมประพฤติ ซึ่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะมีผลอย่างไร เพราะเจ้าตัวมีช่วงเวลาพักโทษ 6 เดือน หรือสิ้นสุดเดือน ส.ค.นี้
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ต้องมองผลการพิจารณาของศาลในวันพรุ่งนี้ หากศาลไม่อนุญาตประกันตัวชั่วคราว การพักโทษก็จะไม่มีผลอะไร เพราะผู้ถูกคำสั่งศาลจะต้องถูกนำตัวเข้าเรือนจำฯ
อย่างไรก็ตาม การพักโทษจะไม่ได้มีอันยุติลง ยืนยันว่าสิทธิในการพักโทษยังมีอยู่ ระยะเวลาก็ดำเนินไปตามปกติจนกว่าจะครบ 6 เดือน เพียงแต่ช่วงที่ศาลสั่งควบคุมตัว การพักโทษก็ไม่ได้ส่งผลอะไร
- เปิดรายชื่อ 6 บริษัทยื่นซอง ประมูลข้าว 10 ปี ยอดสูงสุด กก.ละ 19 บาท
- เจ้าของแมวส้มตัวตึง กันหมดไม่สนใคร ยืนยัน เลี้ยงต่อไม่ทอดทิ้ง
- ลูกชาย ร้อง! แพทย์ รพ.ย่านรังสิต ลืมผ้าก๊อซในมดลูก หลังผ่าตัดจนติดเชื้อ
ส่วนประเด็นเรื่อง ข้อกังวลของสังคมที่อาจมองว่าหาก นายทักษิณ ถูกคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร หากมีอาการเจ็บป่วยจะต้องส่งตัวไปนอนพักรักษาภายนอกเรือนจำฯ เป็นครั้งที่ 2 หรือไม่นั้น
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า การจะส่งไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำฯ ขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง หากไม่มีการเจ็บป่วย ทางราชทัณฑ์ก็ไม่อนุญาตให้ส่งตัวออกไปรับการรักษา ในส่วนข้อกังวลว่าอาจเข้าเงื่อนไขของระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ หรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าระเบียบดังกล่าวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้กับผู้ต้องขังรายใดได้ แต่กรมราชทัณฑ์พยายามเร่งรัดเรื่องการวางกรอบแนวทาง หลักการปฏิบัติสำหรับราชทัณฑ์และผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติ เพราะก็ค้างมานานแล้ว
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังอธิบายถึงกรณีที่นายทักษิณจะพ้นโทษในวันอาทิตย์ที่ 18 ส.ค.นี้ ว่า หากมีการคุมประพฤติจนครบตามกำหนด 6 เดือนเสร็จสิ้น ก็ถือว่าพ้นการพักโทษ ส่วนขั้นตอนหลังจากนั้น ทางกรมราชทัณฑ์ โดย ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการออกใบบริสุทธิ์พ้นโทษ และส่งเอกสารรายงานดังกล่าวแจ้งไปยังสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
ในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังอยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับในคดีจำนำข้าว ซึ่งศาลตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี โดยมีการ คาดการณ์ว่าเป็นผลบวกที่อาจเป็นเหตุให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย ตามรอยพี่ชาย นายทักษิณ ชินวัตร จากการสอบถามอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลมายังกรมราชทัณฑ์บ้างหรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่า ล่าสุดเจ้าตัวยังไม่ได้มีการประสานหรือยื่นขออภัยโทษรายบุคคลมายังกรมราชทัณฑ์แต่อย่างใด