กรมทางหลวงแจงแล้ว! เสาข้างถนนไส้ไม้ไผ่ เป็นรุ่นใหม่ใช้ยางพารา ต้นละ 2,050 ยืนยันโปร่งใส แค่ประยุกต์ใส่แกนลงในเสา เช่น ไม้ไผ่ ไม้ยูคา เพิ่มความสะดวกในการติดตั้ง
จากกรณีโลกออนไลน์พบเสาข้างถนน สายบนถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1168 สายภูเพียง-แม่จริมเป็นโพรงแตก จ.น่าน ภายในมีท่อนไม้ไผ่ มีชาวเน็ตได้แสดงความคิดเห็นต่างๆ
สำหรับความคืบหน้า วันที่ 6 พ.ค.65 เพจ กรมทางหลวง ชี้แจงถึงประเด็นนี้ โดยนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า สืบเนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 – 2564 กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้นำยางพารามาใช้ในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตามนโยบายรัฐบาล ที่ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยใช้เสาหลักนําทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เพื่อสนับสนุนการใช้ยางพารา โดยบูรณาการความร่วมมือทำข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 โดยมีวัตถุประสงค์
1. เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและระบายผลผลิตยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม
2. เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากคุณสมบัติของวัสดุมีความยืดหยุ่น ต่อมา กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 เพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดซื้อตรงกับกลุ่มเกษตรกรได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการจัดซื้อกับร้านค้าสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า หลักนำทางยางธรรมชาติที่ผลิต ได้ทำการออกแบบ ตามมาตรฐานตามข้อกำหนด โดยคณะกรรมการร่วมหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง และประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรชาวสวนยาง ในภาวะที่ราคายางตกต่ำช่วงปีที่ผ่านมา โดยแขวงทางหลวง เป็นผู้ดำเนินการซื้อโดยตรงจากสหกรณ์ชาวสวนยาง และนำมาติดตั้ง เมื่อเดือน ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ในสายทางที่มีอุปกรณ์นำทาง (เสาหลักนำทาง , Guide Post) ไม่ครบถ้วน หรือทดแทนของเดิมที่ชำรุดเสียหาย เพื่อนำทางแก่ผู้ใช้ทางในเวลากลางคืน หรือในขณะที่มีทัศนวิสัยไม่ดี รวมถึงลดความรุนแรงและความสูญเสียจากยานพาหนะที่เสียหลักไปชนเสาหลักนำทาง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่เสียหลักจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการเสียชีวิต ทั้งนี้ ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาผลิตหลักนำทางยางธรรมชาตินั้น ตามแบบด้านในให้เป็นเสาหลักกลวง มีความยืดหยุ่น ดังนั้นในการติดตั้งบนทางหลวง จึงได้มีการประยุกต์ใส่แกนลงในเสา เช่น ไม้ไผ่ ไม้ยูคา เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดตั้ง และสามารถติดตั้งได้รวดเร็วขึ้น สำหรับการคิดราคากลางในการจัดซื้อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของของทางราชการ ซึ่งราคาเสาหลักนำทาง จะแปรผันตามราคายางพารา
อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการติดตั้งเสาหลักนำทางยางพาราบนทางหลวง เป็นไปตามหลักวิศวกรรมงานทาง เพื่อความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง และเป็นการช่วยเหลือเกษตรชาวสวนยาง ในช่วงที่ราคายางตกต่ำ และขอยืนยันว่า เป็นการดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตามระเบียบ กฏหมายที่เกี่ยวข้อง ทุกประการ
หากประชาชนมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามข้อมูล หรือต้องการขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)
ผู้สื่อข่าวรายด้วยว่า นายนรินทร์ เอี่ยมครอง รองผู้อำนวยการทางแขวงทางหลวงน่านที่ 1 ชี้แจงว่า แขวงทางหลวงน่านที่ 1 ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อหลักนำทางยางพาราในปี2564 โดยเป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราของรัฐบาลให้นำมาติดตั้งแทนเสาคอนกรีตที่มีอยู่และเพิ่มเติมในส่วนที่ติดตั้งไม่ครบ ซึ่งเพื่อช่วยเหลือลดการสูญเสียจากการชนและใช้เป็นแนวสำหรับนำทางในการขับรถ ซึ่งมิใช่การป้องกันรถชน เพราะถ้าชนไม่ว่าเป็นเสาคอนกรีตหรือเสายางพาราก็กั้นไม่อยู่
ส่วนที่มีไม้ไผ่ในเสานั้น เพื่อเป็นการช่วยในการติดตั้งให้ไวขึ้นเนื่องจากตอนได้เสามาใหม่ๆเสามีความอ่อน ทำให้การติดตั้งนั้นเป็นไปได้ยากจึงได้นำไม้ไผ่สอดข้างในเพื่อเป็นหลักยึดในการติดตั้ง และแขวงฯน่านที่ 1 ได้ติดตั้งและได้ตามแบบมาตรฐานของกรมทางหลวง จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ที่พบเห็นว่ามีไม้ไผ่สอดด้านในนั้นเหมือนการคอรัปชั่น สอดไส้เสาหลักเพื่อลดต้นทุนนั้น ไม่จริง
สำหรับจังหวัดน่าน ดำเนินการติดตั้งจำนวน 2,086 ต้น ในราคาต้นละ 2,050 บาท โดยถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1168 สายภูเพียง-แม่จริม ติดตั้งจำนวน 260 ต้น ขณะนี้เสียหายไป 5 ต้น มีทั้งหัก ปริแตก และก็เกิดจากไฟไหม้ ซึ่งจะทำการเปลี่ยนใหม่