‘กรมทะเล’ แจ้งจับ ‘กรมชลฯ’ รุกป่าชายเลนสร้างแก้มลิงช่วยชาวบ้าน ‘วราวุธ’ บอกรู้แล้วเศร้าใจ

Home » ‘กรมทะเล’ แจ้งจับ ‘กรมชลฯ’ รุกป่าชายเลนสร้างแก้มลิงช่วยชาวบ้าน ‘วราวุธ’ บอกรู้แล้วเศร้าใจ



‘กรมทะเล’ แจ้งจับ ‘กรมชลฯ’ รุกป่าชายเลนก่อสร้างแก้มลิง ‘วราวุธ’ เตือนใช้ป่าชายเลนอย่าทำข้ามขั้นตอนกฎหมาย ประเมินความเสียหายรุกป่าชายเลน 29 ล้านบาท

จากกรณีมีการร้องเรียนโครงการแก้มลิงเกาะพระทอง (โครงการฟื้นฟูหนองน้ำทุ่งอุ่น) พร้อมอาคารประกอบ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา ของ อบต.เกาะพระทอง ร่วมกับสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 กรมชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ต.เกาะพระทอง บุกรุกป่าชายเลนและป่าสงวนโดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนดำเนินการเนื้อที่กว่า 428 ไร่ วงเงินงบประมาณกว่า 350 ล้านบาทนั้น

ล่าสุดวันที่ 23 เม.ย.65 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ตนได้รับรายงานเรื่องนี้จากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้วรู้สึกเศร้าใจ ตกใจและเป็นกังวลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าชายเลน แม้หน่วยงานที่เข้าดำเนินการจะอ้างว่ามีเอกสารสำคัญเป็นหนังสือสำคัญที่หลวงและคิดว่าสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

แต่ในความเป็นจริง ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 921/2558 การดำเนินการในที่ดินที่ทำให้เสื่อมสภาพป่า แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า ในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ยังมิได้มีบุคคลใดได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน นั้นที่ดินดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายป่าไม้ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และจากการตรวจสอบไม่พบเอกสารคำขออนุญาตใช้ประโยชน์ฯ มายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อขอยกเว้นมติ ครม.ในการใช้พื้นที่แม้ว่าจะเป็นโครงการเพื่อสาธารณะประโยชน์ก็ตาม ดังนั้น กรณีนี้จึงถือเป็นการบุกรุก แผ้วถาง ทำลายป่าชายเลนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจในความประสงค์ดีของ อบต.เกาะพระทอง และกรมชลประทาน ที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้ง น้ำเพื่อการเกษตร แต่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องประชาชน ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานราชการเอง หากกระทำผิดก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งนี้ตนได้กำชับปลัดทส. ให้ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และให้เร่งปลูกป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ ดังเดิมซึ่งตนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และขอให้พื้นที่นี้เป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่และโครงการอื่น ๆของทุกส่วนราชการ ทั่วประเทศ ขอให้ตรวจสอบข้อกฎหมายทุกอย่างให้ชัดเจนก่อนดำเนินการตามแผนงาน

ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า ตนได้สั่งการให้ตรวจสอบสภาพพื้นที่แล้วพบว่า พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเลน และเขตป่าไม้ถาวรทั้งแปลง นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่คาบเกี่ยวกับเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี ในพื้นที่พบต้นไม้ ถูกทำลาย ตลอดทั้งแปลงจึงได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ สภ.ภูธรคุระบุรี ตาม ปจว.ข้อ 5 ลงวันที่ 22 เม.ย.65 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อีกทั้งยังขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 ที่ห้ามมิให้อนุญาตการใช้ประโยชน์ในเขตป่าชายเลนทุกกรณี ทั้งภาครัฐและเอกชน

นายโสภณ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใช้ประโยชน์โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ก็ต้องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีๆ ไป อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้ นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เร่งรัดทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและกรมทช.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังอธิบดีกรมชลประทานให้ระงับการดำเนินการโครงการดังกล่าวในทันทีตามอำนาจมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 สำหรับการประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากการบุกรุกทำลายป่าชายเลนมีมูลค่ากว่า 29 ล้านบาท

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ