'กรมทะเล' ลุยติดตามแก้กัดเซาะชายฝั่ง จ.จันทบุรี

Home » 'กรมทะเล' ลุยติดตามแก้กัดเซาะชายฝั่ง จ.จันทบุรี


'กรมทะเล' ลุยติดตามแก้กัดเซาะชายฝั่ง จ.จันทบุรี

“กรมทะเล” ติดตามแปลงปลูกป่าชายเลนจ.จันทบุรี เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ย้ำชัดเจตนารมณ์มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมเกาะติดแนวปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่พื้นที่จ.จันทบุรี นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผอ.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 พร้อมด้วยนางดาวรุ่ง ใจจริง ผอ.กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน (กปล.) และนายปรานต์ ดิลกคุณากุล ผอ.กองอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง (กอช.) และร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต


นางดาวรุ่ง กล่าวภายหลังลงพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ว่า พื้นที่โครงการนำร่องการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนในพื้นที่ของกรม ภายใต้การดำเนินงานโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า กรมได้ปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ตรวจยึดคืนจากพื้นที่ที่ถูกบุกรุกเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าโสม ป่าสงวนฯป่าเลนบางกระดาน ป่าสงวนฯป่าเลนปากน้ำเวฬุ และพื้นที่ป่าชายเลนตามมติครม. 22 ส.ค. 43 มีจำนวนแปลงปลูกป่าที่นำมาพัฒนาเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ในครั้งนี้ จำนวน 21 แปลง 83 แปลงย่อยเนื้อที่ 703.91 ไร่ ในพื้นที่จ.จันทบุรี 12 แปลงใหญ่ 54 แปลงย่อย เนื้อที่ 321.23 ไร่ และจ.ตราด 9 แปลงใหญ่ 29 แปลงย่อย เนื้อที่ 120.22 ไร่

พื้นที่ดังกล่าวปลูกไม้ป่าชายเลน 2 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบเล็ก และโกงกางใบใหญ่ ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 65 ระยะเวลาการดำเนินโครงการ T-VER 10 ปี โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด หรือกักเก็บได้ 1,935 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นางดาวรุ่ง กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ ทช. เร่งดำเนินการคือ “ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง” แนวความยาวชายฝั่งของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 3,151.13 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะไปแล้วประมาณ 823.06 กม. เป็นพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งที่มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว ระยะทาง 753.32 กม. และยังไม่ดำเนินการแก้ไข ระยะทาง 69.74 กม. โดยยังคงเหลือพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่มีการกัดเซาะ ระยะทาง 2,328.07 กม.

นายปรานต์ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น ณ บ้านเกาะแมว ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ว่า กรม ทช. ได้ใช้การปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ดำเนินการใน 56 พื้นที่ รวม 13 จังหวัด เป็นระยะทางไม้ไผ่ทั้งสิ้น 112,655 เมตร

สำหรับในพื้นที่บ้านเกาะแมว กรมได้ดำเนินการในปี 56 ระยะทาง 1,000 ม. และในปี 58 ระยะทาง 2,000 ม. โดย ทช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศชายฝั่งทะเล (หาดโคลน) ภายหลังการปักไม้ไผ่ชะลอความรุนแรงของคลื่น จ.จันทบุรี ในปี 63 โดยศึกษาในพื้นที่ป่าชายเลนบ้านเกาะแมว ซึ่งศึกษาโครงสร้างป่า ชนิดไม้ป่าชายเลน ความหลากหลายของไม้ป่าชายเลน โดยการวางแปลงตัวอย่างหลังแนวไม้ไผ่ที่ปักใน ปี 56 และ 58 พร้อมเก็บตัวอย่างดินเพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพของดิน และปักท่อพลาสติก (PVC) ในแปลงตัวอย่างเพื่อประเมินการสะสมของตะกอนดินที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าชายเลนหลังปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ปี 56 และ 58 พบว่า แสมทะเลเป็นพันธุ์ไม้เด่นในพื้นที่รองลงมาได้แก่ แสมขาว ความหลากหลายของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนมีค่าค่อนข้างต่ำ โดยพันธุ์ไม้ป่าชายเลนชนิดอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ฝาดดอกขาว โปรงแดง และโกงกางใบเล็ก ซึ่งพันธุ์ไม้เหล่านี้ส่วนใหญ่จะพบอยู่หลังแนวปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นปี 56 นอกจากนี้ กลุ่มไม้แสมมีการทดแทนตามธรรมชาติได้ดี กล้าไม้และลูกไม้มีความหนาแน่นสูง โดยเฉพาะหลังแนวไม้ไผ่ ในระยะ 0-20 ม. ซึ่งลูกไม้ที่ขึ้นอยู่หนาแน่นนี้เปรียบเสมือนรั้วธรรมชาติที่คอยช่วยลดความรุนแรงของคลื่นและช่วยการสะสมของตะกอนดิน โดยตะกอนดินทรายมีการสะสมและเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด ในพื้นที่ปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น ปี 56 หลังแนวไม้ไผ่ ระยะห่าง 20 ม. ในขณะที่พื้นที่ปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น ปี 58 ปริมาณตะกอนทรายมีการสะสมมากในระยะห่างจากหลังแนวไม้ไผ่ 40 ม. การสะสมของตะกอนดินที่เพิ่มขึ้นทำให้พื้นที่ป่าชายเลนบ้านเกาะแมวเพิ่มขึ้น จำนวน 189.48 ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น

การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าชายเลนส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่รายรอบป่าชายเลนบ้านเกาะแมว มีความพึงพอใจในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิธีการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น นอกจากนี้ป่าชายเลนบริเวณนี้มีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านมีการเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น เช่น การจับสัตว์น้ำ ส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มีอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ดังนั้นจึงควรที่จะต้องเร่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมโดยด่วน

นอกจากนี้ได้เสนอแนะ และให้ข้อแนะนำในการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นในพื้นที่ เพื่อนำไปวางแผนการดำเนินงานในโครงการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นว่าการปักไม้ไผ่บริเวณพื้นที่เดิมควรมีการปักเพิ่มออกมาอีกจำนวน 1-2 แถว เพื่อเป็นการลดความรุนแรงของคลื่น
ช่วยสะสมตะกอนดิน และทำให้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น และควรซ่อมแซมแนวไม้ไผ่ที่หักหรือพัง เพื่อให้แนวไม้ไผ่มีความแข็งแรงขึ้น ไม้ไผ่ที่นำมาใช้ควรเป็นไผ่ตง หรือไผ่อื่นๆ ที่มีความหนา มีขนาดลำใหญ่ ซึ่งจะทนทานต่อการทำลายของเพรียงทะเลและแรงปะทะของคลื่น รวมถึงควรปักไม้ไผ่ให้ลึก การปักไม้ไผ่ในพื้นที่ใหม่ควรปักในระยะห่างจากชายฝั่ง ประมาณ 30-50 เมตร ไม่ควรห่างจากแนวชายฝั่งมากเกินไป ซึ่งทำให้ไม้ไผ่หักและหลุดได้ง่าย และควรจะปักไม้ไผ่เป็น 2 แถว เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและช่วยลดแรงคลื่นได้มากขึ้น การปักแนวไม้ไผ่ในพื้นที่ที่เป็นเอกสารสิทธิ์ของประชาชน ควรมีการแจ้งไปยังเจ้าของพื้นที่ โดยเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ยินดีให้ปักไม้ไผ่ในที่ดินของตนเอง แต่ต้องการให้มีการเจรจาหลังจากที่ได้ป่าชายเลนและพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปในอนาคต

นายภุชงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่ภาคตะวันออก กรม ทช. มีสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (สทช.1) ดูแลพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ภาคตะวันออกมีทรัพยากรป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนมีพื้นที่ป่าในเมืองขนาดใหญ่อยู่ท่ามกลางความเจริญของเมืองอย่าง “ป่าชายเลนในเมือง พระเจดีย์กลางน้ำ อัญมณีหนึ่งเดียวในจังหวัดระยอง” และ “มหัศจรรย์ป่าชายเลน ทุ่งโปรงทองปากน้ำประแส” เป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ดังนั้นป่าชายเลนจะอุดมสมบูรณ์ได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลของกรม

โดยปัจจุบันพื้นที่ในความดูแลของ สทช. 1 มีชุมชนชายฝั่งรวม 84 กลุ่ม/2,637 คน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเลรวม 4,067 คน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลนอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ปรับตัวเข้าสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ เพื่อช่วยให้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชนชายฝั่งได้อย่างยั่งยืน โดยมีกรมเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนบุคลากร เรือตรวจการณ์ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงให้คำปรึกษาในด้านกฎ ระเบียบของกรม และฝึกอบรมภาคปฏิบัติในการลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบสถานการณ์ทางทะเลและป่าชายเลนด้วย

อย่างไรก็ตาม ทช. ได้ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มีเป้าหมาย 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2574 เนื้อที่ 300,000 ไร่ ภายใต้ระเบียบว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับบุคคลภายนอก และสำหรับชุมชน พ.ศ. 2565 โดยดำเนินการในพื้นที่เสื่อมโทรม พื้นที่ที่ผ่านดำเนินคดี และคดีถึงที่สุดแล้ว พื้นที่เลนงอก พื้นที่แปลงปลูกเสริมและปรับปรุงสภาพป่าชายเลน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ