กรมทะเลฯ พบปลาโรนันจุดขาว สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธ์ เกยตื้นหาดแหลมกุ่ม

Home » กรมทะเลฯ พบปลาโรนันจุดขาว สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธ์ เกยตื้นหาดแหลมกุ่ม



กรมทรัพยากรทะเลฯ พบปลาโรนันจุดขาว สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธ์ เกยตื้นที่หาดแหลมกุ่ม เร่งช่วยเหลือคืนธรรมชาติ คาดพบในอ่าวไทย แหล่งรวมตัวผสมพันธุ์

9 พ.ย. 65 – นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่หาดแหลมกุ่ม จ.ประจวบคีรีขันธ์ว่า

พบสัตว์ทะเลเกยตื้น บริเวณหาดแหลมกุ่ม ต.นาหูกวาง อ.ทับสะแก เจ้าหน้าที่ ศวบต. ได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (สทช.3) เจ้าหน้าที่กรมประมง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน

จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่าเป็นปลาโรนันจุดขาว (White Spotted wedgefish ; Rhynchobatus australiae) จำแนกชนิด โดยนายทัศพล กระจ่างดารา ผู้เชี่ยวชาญด้านปลากระดูกอ่อน กรมประมง พบว่าเป็นเพศเมีย โตเต็มวัย ความยาว 1.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันช่วยเหลือปลาโรนันจุดขาวตัวดังกล่าว จากการประเมินเบื้องต้น ปลาโรนันจุดขาวมีสภาพร่างกายแข็งแรงดี จึงรีบปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติโดยเร็ว

นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาโรนันจุดขาว ถือเป็นสัตว์หายากชนิดหนึ่งที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์ สำหรับในด้านกฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 สามารถจำหน่ายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ด้านของระบบนิเวศปลาโรนันจุดขาวถือเป็นปลาที่หายากแล้ว พร้อมทั้งยังเคยผลักดันปลาชนิดนี้เข้าสู่ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า แต่ยังไม่สำเร็จ มีเพียงแต่ปลาโรนินที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งถูกจัดอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปลาโรนันจุดขาวจะไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง แต่ก็หายากพอกับปลาโรนิน และฉลามวาฬ ปลาโรนันจุดขาว จึงเป็นปลาดึกดำบรรพ์กึ่งฉลามกึ่งกระเบน พบเห็นค่อนข้างน้อยในน่านน้ำไทย โดยมีลักษณะเด่น คือ ส่วนหัวขนาดใหญ่ รูปทรงแบนกลมและโค้งมน ปากกลม ครีบอกแผ่กว้าง ครีบหลังตั้งสูง เป็น 2 ตอน บริเวณเหนือตามีสันเป็นหนามตรงกลางหลัง ด้านหน้าของครีบหลังมีหนามเรียงตัวกันเป็นแถวชัดเจน

ซึ่งหนามบนตัวปลานี้คนทางภาคใต้ของไทยนิยมนำมาทำเครื่องประดับ ทำหัวแหวน กำไร โดยเชื่อว่าเป็นของขลังสามารถป้องกันคุณไสย ป้องกันอันตรายจากภูติพรายที่อาศัยอยู่ในน้ำและอันตรายจากสัตว์น้ำได้ โดยทั่วไปพื้นผิวลำตัวของปลาโรนันจุดขาว ด้านบนมีสีเทาอมน้ำตาล มีแต้มเป็นจุดสีขาวจางๆ กระจายอยู่ทั่วตัว ด้านท้องมีสีขาว

โดยเฉพาะปลาวัยอ่อนจะมีลวดลายที่มากกว่าปลาขนาดใหญ่ อีกทั้งออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 7-19 ตัว ชอบกินปลาหน้าดินขนาดเล็ก หอย กุ้งและปูเป็นอาหาร ชอบอาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นทะเลที่เป็นโคลนหรือทรายตามชายฝั่งและแนวปะการัง จนถึงระดับความลึก 60 เมตร พบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

อธิบดีกรมทะเลฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปลาโรนันจุดขาวเป็นปลากระดูกอ่อนที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดชนิดหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงถือเป็นภัยคุกคามที่มีอย่างต่อเนื่อง จากการรายงานเบื้องต้นพบว่า บริเวณอ่าวไทย อาจเป็นแหล่งรวมตัวเพื่อผสมพันธุ์ หรือเป็นพื้นที่เลี้ยงดูตัวอ่อนของปลาโรนันจุดขาวอีกด้วย

ทั้งนี้ ตนขอเน้นย้ำไปยังกลุ่มนายทุนหรือบุคคลที่มีความเชื่อผิดๆ หากยังมีการล่าปลาโรนันจุดขาวเพื่อการค้าขายหรือนำอวัยวะมาทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องลางของขลัง ในอนาคตเราอาจจะไม่พบเจอปลาชนิดนี้ในน่านน้ำทะเลไทย และอาจจะสูญพันธุ์ไปจากระบบนิเวศทางทะเล

ฉะนั้น จึงวิงวอนขอให้พี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ผู้ประกอบการเดินเรือ และชาวประมงในพื้นที่ ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลและเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำ หรือการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อปลาชนิดนี้ รวมไปถึงสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด

หากพบเจอสถานการณ์แบบนี้ให้แจ้งเบาะแสมาได้ที่ สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะประสานไปยังหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเข้าตรวจสอบและดำเนินการได้ทันท่วงทีต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ