กรมทะเลฯ นำเทคโนโลยีสุดล้ำ ยกระดับอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก

Home » กรมทะเลฯ นำเทคโนโลยีสุดล้ำ ยกระดับอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก



กรมทะเลและชายฝั่ง นำเทคโนโลยีสุดล้ำ ยกระดับภารกิจสำรวจ ติดตาม เฝ้าระวัง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู เพิ่มจำนวนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

29 มี.ค. 66 – ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดี ทช. รักษาราชการแทนอธิบดีทช. ส่งมอบเทคโนโลยีสำรวจติดตาม และประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม กลุ่มประชากรไกลฝั่ง

ให้แก่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อยกระดับการปฏิบัติภารกิจในด้านการคุ้มครอง อนุรักษ์ สำรวจ ประเมินและฟื้นฟู ปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากให้เกิดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเล

นายอภิชัย กล่าวว่า กรมฯ ได้เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้สำรวจ ติดตามและประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มประชากรไกลฝั่ง เพื่อใช้ติดตามสถานภาพ และเฝ้าระวังการสูญเสียทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมไปถึงการศึกษาพฤติกรรมและถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลหายากกลุ่มที่มีการอพยพย้ายถิ่นระหว่างทางไกลเป็นประจำทุกปี เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ให้เกิดการเพิ่มจำนวนของสัตว์ทะเลต่างๆ รวมทั้งกลุ่มที่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์คุ้มครองและหายากในน่านน้ำประเทศไทย อาทิ โลมาอิรวดี โลมาปากขวด โลมาหลังโหนก วาฬบรูด้า และพะยูน เป็นต้น

นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผอ. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมฯ ได้รับมอบเทคโนโลยีสำรวจติดตามและประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 10 รายการ เพื่อนำมาพัฒนาการปฏิบัติภารกิจด้านการสำรวจ และติดตาม เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ให้เกิดการเพิ่มจำนวนของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมากยิ่งขึ้น อาทิ อากาศยานไร้คนขับเป็นแบบปีกตรึง ขึ้นลงทางดิ่ง (VTOL:Vertical Takeoff and Landing) ที่สามารถปฏิบัติงานการบิน ความเร็วได้ไม่น้อยกว่า 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถปฏิบัติการบินภารกิจได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 120 นาทีต่อเที่ยวบิน

อีกทั้งมีคุณสมบัติของกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงที่ติดตั้งมาพร้อมกับอากาศยานไร้คนขับ และมีประสิทธิภาพรองรับการ ขึ้นบิน (Takeoff) จากระดับความสูงพื้นดินได้สูงสุด 4,500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (Mean Sea Level) สามารถกำหนดเส้นทางบินโดยอัตโนมัติแบบกำหนดแนวบินด้วยรูปแบบพื้นที่รูปปิด (Polygon) และแนวเส้นการบิน (Polyline) ได้เป็นอย่างน้อย

พร้อมทั้งสามารถนำข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศที่ได้ไปประมวลผลต่อเพื่อให้ออกมาเป็นภาพถ่าย Orthophoto (2 มิติ) ซึ่งครั้งนี้กรมฯ ส่งมอบให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทางทะเลอันดามันตอนบน และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทางทะเลอันดามันตอนล่าง นำไปปฏิบัติภารกิจต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ