กรมชลประทาน จับตาฝนเพิ่ม 10-14 ส.ค. เหนือ อีสาน ตะวันออก เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง

Home » กรมชลประทาน จับตาฝนเพิ่ม 10-14 ส.ค. เหนือ อีสาน ตะวันออก เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง


กรมชลประทาน จับตาฝนเพิ่ม 10-14 ส.ค. เหนือ อีสาน ตะวันออก เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง

กรมชลประทาน จับตาฝนเพิ่ม 10-14 ส.ค. เหนือ อีสาน ตะวันออก ตกหนักบางแห่ง สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง รับมือสถานการณ์ ควบคุมบริหารจัดการน้ำในอ่าง

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.65 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา

ดร.ทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 43,706 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 32,377 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,898 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 13,973 ล้าน ลบ.ม.

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 10-14 ส.ค.65 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก นั้น

กำชับไปยังสำนักงานชลประทานในพื้นที่ดังกล่าว เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝน ควบคุมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เป็นไปตาม เกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับเพิ่มการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยแจ้งเตือนพื้นที่ท้ายน้ำและพื้นที่ริมตลิ่งก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง บริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่อย่างเชื่อมโยงต่อเนื่องกันเป็นระบบ

ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทาน เครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำนอกเขตชลประทาน เพื่อลดสิ่งกีดขวางทางน้ำในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องให้ได้มากที่สุด พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด

ที่มา มติชนออนไลน์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ