กรมควบคุมโรค เปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วย ฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1 รายแรกในไทย

Home » กรมควบคุมโรค เปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วย ฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1 รายแรกในไทย
กรมควบคุมโรค เปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วย ฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1 รายแรกในไทย

กรมควบคุมโรค เปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วย ฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1 รายแรกในไทย รอผลยืนยันเป็น Clade 1B หรือไม่

วันนี้ (21 ส.ค.67) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงพบ ผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1 รายแรกในไทย พบเดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งผู้ป่วยเดินทางมาวันที่ 14 ส.ค.67 และวันที่ 15 ส.ค.67 มีอาการไข้และมีตุ่มขึ้นมา จึงไปโรงพยาบาล

เมื่อโรงพยาบาลซักถามประวัติและได้ตรวจเชื้อโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง พบว่าเป็นฝีดาษลิง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นสายพันธุ์ Clade Ib หรือไม่ ซึ่งขณะนี้จะติดตามผู้ที่สัมผัส 21 วัน และต้องดูย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.67 ที่อยู่บนเครื่องบินระหว่างเดินทาง ซึ่งขณะนี้มีผู้ใกล้ชิดจำนวน 43 คน

สำหรับผู้ป่วยรายนี้เป็นคนยุโรปเดินทางมาประเทศไทย อาการไม่ได้รุนแรงอะไร คาดว่าวันที่ 23 ส.ค.67 จะสามารถยืนยันสายพันธุ์ที่ชัดเจนได้ หากผลตรวจได้รับการยืนยันว่าเป็นเชื้อฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade Ib ก็จะเป็นผู้ป่วยสายพันธุ์นี้รายแรกในไทย ผู้ป่วยรายนี้มีที่พักอาศัยอยู่ในไทย และเดินทางไปทำงานแถบประเทศแอฟริกา

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกามีสถานะเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา

รู้จัก ฝีดาษลิง Clade 1B

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลถึงสายพันธุ์ฝีดาษวานร ภายในงานสัมมนาวิชาการด้านจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ ซึ่งจัดโดยกรมการแพทย์ ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง ว่า  ฝีดาษวานร (Mpox หรือ Monkeypox)  มีสายตระกูลเรียกว่า เคลด 1 (Clade 1)  เคลด 2 (Clade 2)  โดยเคลด 1 มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10%  แต่ขณะนี้ที่ระบาดไม่ใช่เคลด 1  แต่ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์มาเป็นเคลด 1บี (Clade 1b) ซึ่งเคลด 1บี  ยังน่ายินดีตรงที่อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือ 1% แต่ติดต่อง่ายกว่า ปี 2565 ที่มีการระบาด ของสายพันธุ์เคลด 2บี  แต่ไม่รุนแรงเหมือนกัน  โดยประเทศไทย ปัจจุบันเป็นสายพันธุ์เคลด 2บี

ฝีดาษวานรสายพันธุ์  เคลด 1 บี (Clade 1b) เป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว แต่ปรับตัวเองให้ติดเชื้อง่ายขึ้น จากเดิมปี 2565 เคยระบาดเคลด 2 บี มีความแตกต่างกันโดยในอดีตติดต่อค่อนข้างยาก ต้องสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด พบมากในกลุ่มชายรักชาย แต่ปีนี้กลับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสาธารณรัฐคองโก มีการติดต่อง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีคนติดเชื้อเคลด 1 บีไปแล้วประมาณ 18,000 คน เสียชีวิตกว่า 500 กว่าคน

“ที่น่าตกใจคือ จำนวนผู้เสียชีวิตในนี้เป็นเด็กถึง 70% แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ง่ายขึ้น คนที่อยู่บ้านเดียวกัน อย่างเด็กเล็กก็สามารถถ่ายทอดเชื้อกันได้ ผ่านสารคัดหลั่ง การไอจาม ซึ่งมีการติดตามข้อมูลจากแอฟริกาพบว่า คนที่ป่วยและไปอยู่ในบ้านเดียวกันประมาณ 4 ชั่วโมงมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ ทั้งจากการสัมผัสเชื้อจากสารคัดหลั่ง การใช้มือที่สัมผัสเชื้อขยี้ตา การไอหรือจาม โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ ย่อมติดเชื้อได้ แต่ต้องย้ำว่า ไม่ใช่การติดเชื้อจากแอร์บอร์น” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ