“กรมการค้าภายใน” อ่วม เจอกมธ.งบฯ ซักยิบ จี้แก้ปุ๋ย-น้ำมันปาล์มแพง ชี้อย่าโยนบาปให้ ก.พลังงานอย่างเดียว แนะรมว.พณ.ต้องเดินไปให้รู้ความจริง
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 28 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ร่วมกันแถลงผลการประชุมกมธ. ในส่วนงบประมาณของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 911,222,500 บาท
โดยนายสัณหพจน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับปัญหาราคาสินค้า โดยเฉพาะปุ๋ยซึ่งมีราคาแพงขึ้นอย่างมาก จนกระทบกับต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตร ทั้งนี้กมธ.บางคนได้สอบถามว่า จากปัญหาดังกล่าว กรมการค้าภายในมีแนวทางแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยแพง หรือมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร เพราะในแต่ละปีประเทศไทยต้องใช้ปุ๋ยเพื่อทำการเกษตรถึง 100 ล้านกระสอบ แต่ราคาปุ๋ยปัจจุบันสูงขึ้นจาก 800 บาท เป็นประมาณ 2,000 บาทแล้ว ทำให้เกษตรกรไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้ซื้อปุ๋ยเพื่อทำการเกษตร บางคนถึงขั้นต้องกู้เงินนอกระบบมาซื้อปุ๋ย
จากปัญหาดังกล่าว มีกมธ.บางคนให้ข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานอาจประสานให้กระทรวงการคลังออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีเงินไปซื้อปุ๋ย หรืออาจให้รัฐบาลช่วยอุดหนุนปุ๋ยให้เกษตรกรครัวเรือนละ 5 กระสอบต่อปี เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน
นายสัณหพจน์ กล่าวต่อว่า ผู้แทนของกรมการค้าภายใน ชี้แจงว่า เบื้องต้นหน่วยงานได้จัดทำโครงการจัดหาปุ๋ยเคมีในราคาถูก เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณมีความเห็นว่า การช่วยเหลือเรื่องปุ๋ยเคมีเป็นการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้น หน่วยงานจึงได้ประสานกระทรวงเกษตรฯ เพื่อรับไปดำเนินการ ช่วยเหลือให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเคมีในราคาที่ถูกลงเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยจากจีน แคนาดา และรัสเซีย โดยราคาปุ๋ยในตลาดโลกได้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะค่าขนส่งทางเรือปรับสูงขึ้น จึงส่งผลต่อต้นทุนการขนส่ง นอกจากนี้ ประเทศจีนยังมีนโยบายห้ามส่งออกปุ๋ย เพราะต้องการเก็บปุ๋ยไว้ใช้ในประเทศ และภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้เรือขนส่งไม่สามารถเข้าไปรับสินค้าได้ การแก้ไขปัญหาเรื่องปุ๋ยเคมีจะต้องพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ ปริมาณปุ๋ยเคมีต้องมีเพียงพอไม่ขาดแคลน และเกษตรกรได้รับผลกระทบด้านราคาน้อยที่สุด
“เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในเจอกฐินเยอะ มีกมธ.หลายคนถาม เพราะเป็นส่วนงานที่มีผลต่อการค้าและเกษตรกรรม อันจะส่งผลต่อผลกระทบเรื่องอื่นๆ ดังนั้น จึงอย่าเพิ่งโยนบาปไปให้ในส่วนพลังงานอย่างเดียว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต้องเดินให้ถึง ไม่เช่นนั้นจะไม่รู้ความจริง” นายสัณหพจน์ กล่าว
นายสัณหพจน์ กล่าวว่า นอกจากราคาปุ๋ยแพงแล้ว ยังมีสินค้าทางการเกษตรอีกหลายชนิดที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ซึ่งนำมาใช้ในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร กมธ.บางคนได้สอบถามว่า ประชาชนสอบถามมาจำนวนมากว่า น้ำมันปาล์มขวดราคาเพิ่มขึ้นไปถึงลิตรละ 70 บาทแล้ว ซึ่งเกษตรกรอาจได้รับประโยชน์จากราคาผลปาล์มเพิ่มสูงขึ้น แต่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันปาล์มอาจได้รับผลกระทบ ด้วยเหตุนี้จึงต้องสอบถามหน่วยงานว่า มีแนวทางหรือกลไกอย่างไร เพื่อสมดุลประโยชน์ให้เกษตรกรอยู่ได้ และผู้บริโภคไม่เดือดร้อน
โดยผู้แทนกรมการค้าฯ ชี้แจงว่า หน่วยงานให้ความสำคัญว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรได้ประโยชน์มากที่สุด และประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ ประเทศอินโดนิเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่มีผลผลิตน้ำมันปาล์มมหาศาล เคยประกาศว่าจะจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม แต่ปัจจุบันได้กลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มแล้ว หรือประเทศมาเลเซีย มีนโยบายที่จะผลักดันการส่งออกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มขึ้นมา ซึ่งมีผู้แทนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการทุกภาคส่วนมาร่วมกันพิจารณาให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์เป็นระยะ
นายสัณหพจน์ กล่าวอีกว่า กมธ.ยังเสนอความเห็นในส่วนเรื่องการชั่งตวงวัดสินค้าทางการเกษตรว่า ควรจะมีตัวแทนของผู้นำท้องถิ่นและเกษตรกร เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อตรวจเช็กความแม่นยำ และเสนอให้เครื่องชั่งตำบลละ 1 ตราชั่ง เพื่อใช้ส่วนกลาง ส่วนเรื่องข้าว ทางกมธ.ระบุว่า ชาวบ้านและเกษตรกรก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการทำเป็นขบวนการกำหนดราคาขึ้นลงหรือไม่