‘กรณ์’ จี้ ‘จุรินทร์’ สั่งคุมค่าการกลั่นน้ำมัน ราคาหน้าปั๊มลดทันที 4 บาทต่อลิตร ชี้เป็นประธานฯ มีอำนาจและหน้าที่โดยตรง
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ที่พรรคกล้า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.การคลัง แถลงข่าวกรณีกระทรวงพลังงาน ประกาศมาตรการเกี่ยวกับราคาน้ำมันแพง แต่ราคาหน้าปั๊มน้ำมันยังไม่ลดลง ว่า เป็นตัวยืนยันและสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ยิงตรงไปยังประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ในเรื่องราคาน้ำมันแพงวิธีแก้ คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ มีอำนาจและหน้าที่โดยตรงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ ซึ่งได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งมีนายจุรินทร์เป็นประธานโดยตำแหน่ง ในกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าควบคุม
“เมื่อประกาศเป็นสินค้าควบคุม คำถามคือ มาตรการอยู่ที่ไหน ทำไมยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนกำหนดค่าการกลั่น ทำไมกระทรวงพาณิชย์ไม่ใช้อำนาจที่มีกำกับอัตราค่าการกลั่นที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน นี่คือสาเหตุที่ราคาหน้าปั๊มยังไม่ปรับลดลง ดังนั้น จึงขอฝากให้นายจุรินทร์รีบกลับมาแก้ไขเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนรออยู่ ถ้ารัฐมนตรีใช้อำนาจที่มี พรรคกล้าบอกเลยว่าภายในอาทิตย์นี้ราคาหน้าปั๊มสามารถปรับลดลงได้เลย 4 บาทต่อลิตร โดยมาจากค่าการกลั่น”
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ค่าการกลั่นน้ำมันไตรมาสแรกของปี 65 ตัวเลขกำไรโดยรวม 6 โรงกลั่น อยู่ที่ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูง เพราะนักวิเคระห์คาดการณ์ว่าทั้งปีจะมีกำไรอยู่ที่ 6.8-6.9 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ไตรมาสแรกค่าการกลั่นขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.91 บาทต่อลิตร ระหว่างทางมาจนถึงเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางวันเข้าไปคำนวณเพิ่มขึ้นไปเป็น 8 บาท เท่ากับว่าขณะนี้ค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8 บาท และสิ้นเดือน มิ.ย. อาจถึง 6 บาท
“ฉะนั้น 4 บาทที่พูดถึง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาหน้าปั๊มที่สูง เพราะค่าการกลั่นสูงเฉลี่ย 5.80 บาทต่อลิตร หากไปหักลบกับราคาเฉลี่ยของไตรมาสแรก ก็จะชัดเจนว่าราคาน้ำมันจะลดลงทันที 4 บาทต่อลิตร นี่คือความสำคัญของค่าการกลั่นน้ำมัน”
หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมตรี และรมว.พลังงาน ไปเจรจาขอนำกำไรโรงกลั่น 8 พันล้านบาทต่อเดือน เริ่มต้นเดือนกรกฎาคม ไปอุดหนุนให้กองทุนน้ำมันนั้น เป็นเพียงข้อตกลงปากเปล่า ดังนั้น ต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อเป็นหลักประกัน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าไม่ตอบโจทย์หากปัญหาน้ำมันยืดเยื้อเกิน 3 เดือน ถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป หรือจะกลับไปเจรจาต่อกับโรงกลั่นน้ำมันอีกครั้ง