กมธ.ที่ดิน ทำหนังสือด่วนถึงนายกฯ แนะยุติ โครงการผันน้ำยวม แฉ EIA ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน เผยงบบาน 1.7 แสนล้านบาท ด้านกรมชลฯ เดินหน้าหาเอกชนร่วมทุน
วันที่ 8 ธ.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล โดยมีเนื้อหาสำคัญระบุ ว่าในคราวประชุม กมธ.ที่ดินฯ ครั้งที่ 110 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอต่อโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล) ของกรมชลประทาน เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ในหนังสือระบุว่า กมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ตลอดจนขั้นตอนของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของโครงการไม่สอดคล้องและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
- ประสานเสียงค้าน โครงการผันน้ำยวม นักวิชาการชี้แก้ขาดแคลนน้ำไม่ถูกจุด
อีกทั้งเมื่อพิจารณารายงาน EIA ยังพบว่าพื้นที่ก่อสร้างโครงการและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว และมีทรัพยากรธรณีกลุ่มโลหะหนักที่มีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน กมธ.จึงมีข้อเสนอเพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1.ระงับการพิจารณารายงาน EIA ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล และเร่งรัดให้มีการตรวจสอบการจัดทำรายงานฉบับดังกล่าว เนื่องจากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีข้อร้องเรียนที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าอาจมีการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน สร้างความเสียหายต่อรัฐอย่างร้ายแรง
2.ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนฯ เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด ซึ่งหากมีการดำเนินโครงการนี้ นอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการลงทุนก่อสร้างแล้วยังเป็นการทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความเสี่ยงหากมีการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนต่างชาติ (PPP) ด้วย
ขณะที่กรมชลประทาน(ชป.) โพสต์ข่าวในเพจ รอบรั้วชลประทาน ระบุว่า วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ชป. หารือขับเคลื่อนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล โดย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังการชี้แจงข้อสังเกตและประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนใกล้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ณ ห้องประชุมดงตาล ชั้น 4 อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
“สำหรับการหารือครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการประชุมหารือโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล (โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดตากและจังหวัดแม่ฮ่องสอน) เมื่อวันที่ 28 ก.ย.65 ซึ่งที่ประชุมฯตั้งประเด็นสอบถามและข้อสังเกตเพิ่มเติมจากผู้แทนหน่วยงานภายนอก จึงเห็นควรหารือเพื่อนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจในการดำเนินโครงการฯ ต่อไปได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เสนอแนะให้ที่ปรึกษาโครงการฯ พิจารณาทบทวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อให้ข้อมูลที่ได้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด ปัจจุบันโครงการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป” เพจรอบรั้วชลประทานระบุ
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มีนาคม 2565 มีการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ โครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งผู้แทนกรมชลประทานนำเสนอว่าการสำรวจพื้นที่โครงการพบว่ามีประมาณ 29 ครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบ โดยพัฒนาการร่วมทุนเป็นรูปแบบ Public Private People Partnership หัวใจของโครงการคือร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับโครงการนี้ กฟผ. ก็มีความสำคัญเพราะโครงการต้องสูบน้ำ และเอกสารการประชุมระบุว่ามูลค่าการลงทุน ค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงานและบำรุงรักษา และค่าลงทุนโครงการ อยู่ที่ 172,200.34 ล้านบาท-170,620.36 ล้านบาท