'กมธ.งบฯ 66' ถามกรมควบคุมโรค เลิกซื้อ แอสตราฯได้หรือไม่ เหตุ ปชช.ต้องการ mRNA

Home » 'กมธ.งบฯ 66' ถามกรมควบคุมโรค เลิกซื้อ แอสตราฯได้หรือไม่ เหตุ ปชช.ต้องการ mRNA



“กมธ.งบฯ 66” จี้ ถามกรมควบคุมโรค เลิกซื้อ แอสตราฯได้หรือไม่ เพราะประชาชนต้องการ mRNA เป็นเข็มกระตุ้น กรมฯแจ้งปรับสัญญาจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปได้

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 6 ก.ค.65 ที่รัฐสภา น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย และ น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงผลการประชุม

โดย น.ส.ปิยะรัฐชย์ กล่าวว่า กมธ.ฯใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณฯมาแล้วทั้งหมด 20 วัน รวม 179 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว 11 กระทรวง 9 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 40.7 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด

ด้าน น.ส.จิราพร กล่าวว่า ในการพิจารณางบประมาณของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีกมธ.ฯบางท่าน สอบถามถึงการรายงานตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน สะท้อนตัวเลขผู้ติดเชื้อตามความเป็นจริงหรือไม่ เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ BA.2 BA.4 และ BA.5 ที่กำลังแพร่ระบาดในระลอกที่ 5 สามารถกลายพันธุ์และแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอีกครั้ง

แต่การรายงานตัวเลขของหน่วยงานกลับไม่สะท้อนจำนวนที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะปัจจุบันที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อมูลว่าตนเองติดเชื้อ เพื่อทำการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อแท้จริงสูงกว่าที่มีการรายงาน ดังนั้น กมธ.จึงมีข้อเสนอแนะให้ หน่วยงานควรมีมาตรการในการตรวจสอบตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สะท้อนกับความเป็นจริง

น.ส.จิราพร กล่าวว่า ผู้แทนของกรมควบคุมโรคชี้แจงว่า ตัวเลขการรายงานผู้ติดเชื้อ มาจากการตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน การตรวจแบบสากล ทั้งนี้ ข้อมูลการตรวจ ATK ล้วนถูกนำมาประเมินในสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามกมธ.บางท่าน ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในความเป็นจริง ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน ที่มีการตรวจ ATK แล้ว ไม่ได้แจ้งผลการตรวจมาที่หน่วยงาน จึงไม่มีตัวเลขรายงานของผู้ป่วยปรากฏอยู่ ดังนั้นอาจไม่สะท้อนตัวเลขจากผู้ป่วยจริง

นอกจากนี้ทางกมธ.ยังสอบถามเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ว่าหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติปรับลดการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา เหลือ 34,500,500 โดส เพราะปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ อยู่ระหว่างการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ด้วยวัคซีน mRNA จึงต้องการทราบว่า กรมควบคุมโรคจะเสนอให้ยุติการจัดซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา ได้หรือไม่

น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่านอกจากนั้น กมธ.ฯยังถามว่าครม.มีมติจัดซื้อ Long-Acting Antibody หรือ LAAB หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ จำนวน 257,500 โดส จึงต้องการให้กรมควบคุมโรคชี้แจงว่า จะสามารถปรับข้อสัญญากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ได้หรือไม่

โดยผู้แทนจากกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า กรณีการขอแก้ไขสัญญาจัดซื้อวัคซีนมาเป็นการจัดซื้อ LAAB นั้น อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถดำเนินการได้ และในปัจจุบันยังมีกลุ่มผู้เสี่ยงสูง ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีนจึงได้มีการจัดหา LAAB เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 การป่วยหนัก และการเสียชีวิตในผู้ป่วย 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันกับตัวเอง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ