กทม.เตรียมให้คนทั่วไปลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิด ตั้งเป้าภายใน 2 เดือนมีประชาชน 5 ล้านคนได้รับเข็มแรก
วันนี้ (18 พ.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในเดือน มิ.ย.-ก.ค. ปีนี้ กทม. จะได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข เดือนละ 2.5 ล้านโดส รวม 2 เดือน 5 ล้านโดส ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ กทม. เร่งดำเนินการฉีดให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน (มิ.ย.-ก.ค.)
ทั้งนี้ กทม. มีแผนบริหารจัดการฉีดวัคซีนโควิดให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 2.5 ล้านคน/เดือน โดยจะกระจายการฉีดวัคซีนทั้งภายในโรงพยาบาลทั้ง 126 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพในการฉีดไม่น้อยกว่าวันละ 20,000 คน และจุดบริการฉีดวัคซีนนอก รพ. 25 แห่ง มีศักยภาพในการฉีดวันละ 38,000-50,000 คน/วัน คาดการณ์ว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า 60,000 คน/วัน โดยผู้ที่ได้รับการฉีดจะเป็นประชาชนทั่วไป คาดว่าน่าจะครบ 5 ล้านคนตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
ดังนั้น ในช่วงนี้ กทม. ขอความร่วมมือประชาชนลงทะเบียนผ่านระบบแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ในการเข้ามาฉีดวัคซีน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการและความปลอดภัยของประชาชน โดยหากเปิดให้ประชาชน walk in อาจเกิดปัญหาความแออัดของประชาชนที่ต้องมารอคิว และมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ได้มีการหารือถึงแนวทางที่จะให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกคนสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดได้อย่างทั่วถึง และแบ่งเบาภาระของแอปฯ “หมอพร้อม” อาจจะเป็นในรูปแบบของ web based ซึ่งจะใช้สำหรับการจองคิวฉีดวัคซีนโดยเฉพาะ ซึ่งระบบดังกล่าวจะไม่ซ้ำซ้อนกับ “หมอพร้อม” เนื่องจากขณะนี้ผู้ที่ลงทะเบียนกับหมอพร้อมจะเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค และนัดเข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล
ส่วนระบบ web based จะใช้สำหรับการลงทะเบียนผู้ที่อายุระหว่าง 18-59 ปี และนัดรับการฉีดวัคซีนที่จุดบริการนอกโรงพยาบาล 25 จุด โดยจะประสานหอการค้าไทย และร้านสะดวกซื้อ อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น เข้าร่วมระบบดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนจองคิวได้อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนเรื่องระบบดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในวันนี้ (18 พ.ค.) ผู้ว่าฯ กทม.ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล “หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร – หอการค้าไทย” ณ ห้างบิ๊กซี บางบอน เขตบางบอน ซึ่งเป็นการทดลองเปิดระบบ “ศูนย์บริการวัคซีนบิ๊กซี บางบอน” โดยความร่วมมือกับ รพ.ในเครือบางปะกอก มีการเตรียมระบบให้วัคซีนที่ปลอดภัยและครบถ้วนในทุกขั้นตอน จนถึงการดูแลและสังเกตอาการ โดยตั้งเป้าหมายในการให้บริการฉีดวัคซีน จำนวน 2,500-3,000 คน/วัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ได้แก่ บุคลากรส่วนหน้า และอาชีพที่มีความเสี่ยงต้องให้บริการประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำนักอนามัยได้นำเข้าข้อมูลไว้ในระบบของ กทม. และต่อไปจะให้บริการวัคซีนแก่ผู้ที่ขับรถยนต์สาธารณะ พนักงานเก็บค่าโดยสารสาธารณะ จากบริษัทขนส่งต่างๆ ซึ่งมีประมาณ 7,000 คน รวมถึงจะฉีดวัคซีนให้กับพนักงานเก็บขยะ พนักงานกวาด จากสำนักงานเขต คนขับแท็กซี่ วินจักรยานยนต์ พนักงานขนส่งอาหารต่างๆ ผู้มีอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายต่อไป คือ บุคลากรครูในกรุงเทพฯ ซึ่งมีประมาณ 170,000 คน และกลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่นๆ จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับวัคซีนในลำดับถัดมา ขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ได้รับจัดสรร โดย กทม. จะเร่งขยายสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลให้ครบตามเป้าหมาย 25 แห่งทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จะเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนแบบปูพรมให้กับคนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคน หรือ 70% ของประชากร เพื่อจะได้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายใน 2 เดือนนี้ คือ เดือน มิ.ย.-ก.ค. 64 โดยจะเสริมจุดฉีดวัคซีนอีก 25 จุดทั่ว กทม. รวมถึงจัดจุดใหญ่ที่สถานีกลางบางซื่อ นอกเหนือจากโรงพยาบาลและจุดฉีดหลัก เพื่อให้คนหาเช้ากินค่ำและแรงงานกลุ่มอื่นๆ เข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ประชาชนทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิดอย่างแน่นอน และไทยมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในปริมาณที่มากเพียงพอ และจะเริ่มให้บริการกับประชาชนทุกกลุ่มพร้อมกันทั่วประเทศในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งที่ผ่านมาฉีดให้กับบุคลากรทางแพทย์ไปแล้วมากกว่า 2.3 ล้านโดส ได้ผลเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องเดินหน้าปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้เร็ว และให้เข้าถึงประชาชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งหลังจากได้รับฟังความเห็นของประชาชนจำนวนมาก จึงได้ตัดสินใจเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ และไม่จำเป็นต้องรอตามกลุ่มอายุ แต่ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ด้วย
“จะไม่รอให้คนวัยใดวัยหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ได้รับวัคซีนจนครบก่อน จึงค่อยเปิดให้คนกลุ่มอื่นๆ ได้รับวัคซีน แต่เราจะปรับแผนการเดินหน้าประเทศ ด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่พร้อมฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัยใด เข้าถึงวัคซีนได้ โดยเฉพาะวัยทำงาน เพื่อปกป้องคนทำมาหากิน คนที่เป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงคนในบ้าน ให้ออกจากบ้านไปทำงาน ทำมาหาเลี้ยงชีพ และเดินหน้าชีวิตกันต่อไปได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลมีแผนการกระจายวัคซีนใน 3 ช่องทาง ได้แก่
ช่องทางที่ 1. คือ ผ่านระบบหมอพร้อม สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่มีผู้มาลงทะเบียนแล้วประมาณ 7 ล้านคน และจะเปิดให้กลุ่มผู้อายุต่ำกว่า 60 ปี ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ซึ่งผู้ลงทะเบียนสามารถจองคิวฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลที่เลือก และเลือกวันเวลาที่ท่านสะดวกได้เอง และรับรองว่าจะได้ฉีดในวันเวลาดังกล่าวอย่างแน่นอน หรืออาจจะเป็นระบบอื่นของแต่ละจังหวัด เช่น ภูเก็ตชนะ เป็นต้น
ส่วนช่องทางที่ 2. คือ การลงทะเบียนที่จุดบริการฉีดวัคซีนหรือ Onsite Registration ในกรณีที่มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ ณ จุดบริการนั้น ซึ่งจะมีการพิจารณาจัดเตรียมระบบในช่องทางนี้เพื่อให้เกิดความพร้อมมากที่สุดในการจัดสรร
ส่วนในช่องทางที่ 3. คือ การกระจายวัคซีนเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเฉพาะ คือ ประชาชนกลุ่มเฉพาะที่มีความเสี่ยง กลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ หรือมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า อสม. ทหาร ตารวจ ข้าราชการ พนักงานด้านการบิน ครู อาจารย์ ผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์สาธารณะ พนักงานรถไฟและรถไฟฟ้า พนักงานในโรงแรม คณะผู้แทนการทูตและองค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษาที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ บุคลากรในโรงงาน คนพิการ พนักงานภาคบริการอาหารและยา และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องฉีดเพื่อให้การดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าไปได้โดยไม่สะดุด ซึ่งกลุ่มบุคคลหรือสมาคมใดมีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน สามารถที่จะยื่นเรื่องให้กับกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา เพื่อจัดสรรวัคซีนและจัดเตรียมสถานที่ฉีดต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการวางระบบการฉีดวัคซีนอาจมีปัญหาติดขัดบ้าง หรือเกิดความไม่ชัดเจน เป็นผลสืบเนื่องจากการให้ความสนใจลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งตนเองได้ติดตามและเร่งรัดให้มีการปรับปรุงโดยเร็ว และต้องขออภัยที่อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกบ้าง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงสถานการณ์โควิดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว แม้จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อในบางพื้นที่ แต่ก็ยังมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นมาอีก ซึ่งได้มีการเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเป็นการด่วนในช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ เพื่อรับทราบข้อมูลล่าสุด และหาทางแก้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด
ผลการประชุมจะเร่งแก้ไขปัญหาการติดเชื้อในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการตรวจเชิงรุกให้ได้มากและเร็วที่สุด และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำ เพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกมารักษา หากมีผู้มีอาการรุนแรงก็จะนำออกมาเข้ารักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทางตามระบบต่อไป โดยเราจะให้การดูแลรักษาผู้ที่ติดเชื้ออย่างดีที่สุดด้วยความเท่าเทียม
ทั้งนี้ เรือนจำแต่ละแห่งเป็นระบบปิด จึงมีโอกาสที่จะแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชนได้น้อยมาก พร้อมทั้งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแลเข้มงวดในเรื่องนี้ในช่วงที่มีการระบาด โดยจะไม่ให้มีการเข้าเยี่ยมจากภายนอกจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ส่วนพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังเดินหน้าระดมตรวจเชิงรุก คัดแยกผู้ป่วย ส่งตัวรักษา และระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งทำควบคู่ไปกับการบังคับใช้มาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด คือ การใส่แมสก์ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน การเว้นระยะห่าง และการตรวจวัดอุณหภูมิในทุกสถานที่ ซึ่งการระบาดในขณะนี้เกิดขึ้นจากพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันอย่างแออัด
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ทาง ศบค. เร่งออกตรวจพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นแคมป์คนงานก่อสร้าง โรงงาน และสถานที่อื่นๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด โดยเฉพาะสถานที่ที่เกิดการระบาดรวมทั้งในเรือนจำ โดยใช้แนวทาง Bubble and Seal คือ การปิดกั้นการเดินทางเข้าออกของคนในสถานที่นั้นๆ เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปสู่ภายนอก ซึ่งการที่สถานที่ที่มีการแพร่กระจายส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปิด ทำให้ทีมแพทย์เชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็ว โดยมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดวันต่อวัน
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ในขณะนี้ยังคงทรงตัว แต่สิ่งที่ต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคน คือ เรามีจำนวนผู้ป่วยที่หายป่วยในแต่ละวันเป็นจำนวนมากจนถึงวันนี้มีเกือบ 7 หมื่นคนแล้ว โดยเฉพาะระลอกนี้มากกว่า 4 หมื่นคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ที่คัดแยกตามอาการและรักษาได้อย่างดี และการเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์และเตียงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ตนเองได้เน้นย้ำกับที่ประชุม ครม. ในเรื่องของการชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและ ศบค. โดยเฉพาะในการรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนได้ฉีดวัคซีนเพื่อให้ประเทศไทยเดินไปต่อได้ แต่หากใครมีเจตนาในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานของรัฐ ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบดูแลข่าวปลอม และชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเร็ว
สำหรับมาตรการผ่อนคลายความเข้มงวดในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว เช่น การอนุญาตให้พื้นที่สีแดงเข้มสามารถนั่งทานอาหารได้ร้านได้ โดยจำกัดจานวนคน ซึ่งเป็นความพยายามช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร จะต้องมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด เช่น การจำกัดคนไม่เกิน 1 ใน 4 และเว้นระยะห่าง หากพบว่าร้านใดไม่ดำเนินการตามมาตรการจะสั่งปิดในทันที หรือมีการทบทวนมาตรการ จึงขอให้เจ้าของร้านอาหารทุกร้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑลดำเนินการอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม และกองทัพไทย ควบคุมการลักลอบเข้าประเทศจากชายแดนอย่างเข้มงวดสูงสุด หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดที่แสวงหาผลประโยชน์บนความเสี่ยงของประเทศชาติ ต้องลงโทษให้หนักที่สุดโดยไม่มีการยกเว้น
นายกรัฐมนตรี ปิดท้ายว่า เราจะเอาชนะโควิดได้ก็ด้วยการเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ช่วยกันทำหน้าที่ของแต่ละคนให้ดีที่สุด ดูแลซึ่งกันและกันให้ดีที่สุด เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปต่อได้ เราจะสู้ไปด้วยกัน ประเทศไทยต้องดีขึ้น ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ความรักสามัคคีของคนไทยด้วยกัน เพราะเราทุกคนก็คือ “ทีมประเทศไทย”