เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา ออก มาตรการกวดขันการเล่นดอกไม้เพลิง การจุดและปล่อย พลุ โคมลอย โคมไฟ โคมควัน และการใช้อาวุธปืนยิงฟ้า ในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 ไว้
- กำชับอำเภอพิจารณาอนุญาตการจุดและปล่อยพลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน ตามหลักเกณฑ์การอนุญาตที่กำหนดไว้
- ให้จังหวัดและอำเภอประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ให้ทราบว่าการจุดและปล่อยพลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน ต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่ง วันลอยกระทง ในปีนี้ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 โดยที่เป็นการสมควรกำหนดมาตรการป้องกันอันตรายและดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 49 จึงกำหนดมาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 และขอความร่วมมือจากผู้ผลิต สะสม จำหน่าย ผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย ตลอดจนผู้จัดงานเทศกาลลอยกระทง และประชาชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1.กรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมและมาตรการดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงให้กับประชาชน โดยกำชับผู้อำนวยการเขตดูแลพื้นที่ที่มีการจัดงานเทศกาลลอยกระทง ตรวจสอบความปลอดภัยของท่าน้ำและโป๊ะ หากพบว่าไม่ปลอดภัย ให้ปิดการใช้งานทันที รวมถึงพื้นที่จัดงานที่มีเครื่องเล่น ผู้อำนวยการเขตต้องตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่จัดงานอย่างเข้มงวด และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจตราพื้นที่และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรตามสถานที่ต่างๆ ตลอดระยะเวลาจัดงาน โดยประสานงานกับหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมเฝ้าระวังดูแลในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่นโดยใช้กล้อง CCTV เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน
- กกต. ชี้ 2 อดีต สส.ก้าวไกล แจ้-ปูอัด หากไม่มีพรรคอยู่ ต้องเลือกตั้งใหม่?
- แคปชันลอยกระทง 2566 ภาษาไทย – อังกฤษ กวนๆฮาๆ
- แหล่งข่าว เผย! ‘เสี่ยแป้ง’ ปลอดภัยดี ไม่เคยบอกจะมอบตัว?
2.ห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่นั้น หากผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ประสงค์จะขอจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ให้ยื่นแบบคำขอรับใบอนุญาต พร้อมแผนการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อผู้อำนวยการเขตในพื้นที่ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ แจ้งศูนย์วิทยุพระราม โทร.199
3.กรุงเทพมหานครได้ กำหนดแผนป้องกันอันตรายจากดอกไม้เพลิง และการเล่นโคมลอย และจัดตั้งชุดเฉพาะกิจจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบ ตรวจตราสถานประกอบการที่ผลิต สะสมและจำหน่ายดอกไม้เพลิงอย่างเข้มงวดตามกฎหมาย ห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง รวมตลอดถึงพลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และวัตถุอื่นใด อันมีสภาพคล้ายคลึงกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.ขอความร่วมมือ สถานประกอบการสถานบันเทิง ผู้จัดงาน หรือเจ้าของพื้นที่ที่จัดงานลอยกระทง ตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่จัดงาน หากพบจุดเสี่ยงอันตราย หรืออุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหาย ให้ดำเนินการแก้ไขให้มีความปลอดภัย หรือประสานผู้รับผิดชอบดำเนินการทันที พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งานประจำจุดเสี่ยง ตลอดจนจัดให้มีเส้นทางเข้า-ออกที่ชัดเจน เพื่อลดความหนาแน่นในพื้นที่ และกรณีเหตุฉุกเฉินให้ประสานงานกับสำนักงานเขตอย่างใกล้ชิด
5.แจ้งเตือนประชาชน เพิ่มความระมัดระวังในการดูแลบุตรหลานหรือเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ หรือพลัดหลง และให้ลอยกระทงในพื้นที่ที่มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นท่าน้ำหรือ โป๊ะเรือต้องมีแสงสว่างที่เพียงพอ และมีที่กั้นหรือราวจับเพื่อป้องกันการตกน้ำ หากขึ้นเรือลอยกระทงกลางแม่น้ำ ควรสวมเสื้อชูชีพ และรณรงค์ให้ผู้มาร่วมงานเทศกาลลอยกระทง งดดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพของมึนเมาชนิดต่างๆ เพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำ หรือประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่ และผู้เดินเท้าต้องข้ามถนนโดยใช้ทางข้าม หรือที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยให้ความสะดวกหากพบผู้บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน แจ้งศูนย์เอราวัณ โทร. 1669