กทม.เปิดสายด่วน 50 เขต โทรประสานตรงขอความช่วยเหลือ-เข้าระบบรักษาโควิด 24 ชั่วโมง

Home » กทม.เปิดสายด่วน 50 เขต โทรประสานตรงขอความช่วยเหลือ-เข้าระบบรักษาโควิด 24 ชั่วโมง

กทม.เปิดตัวสายด่วน 50 เขต ประสานช่วยเหลือ-เข้าระบบรักษาโควิด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (4 ส.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เร่งดำเนินการค้นหาเชิกรุกเพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างต่อเนื่อง

และเพื่อให้การควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กทม. จึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กสทช. True dtac AIS และ NT จัดตั้ง “สายด่วนโควิดเขต” เป็นสายตรงถึง 50 สำนักงานเขต เขตละ 20 คู่สาย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโดยเร็ว โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้บางเขตที่มีความพร้อมได้เริ่มทยอยให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 64 และจะดำเนินการให้ครบทั้ง 50 เขตโดยเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากผู้ป่วยติดเชื้อผ่านทางสายด่วนโควิดเขต จะมีการประเมินอาการและความพร้อมในการเข้ารับการรักษาตามระดับอาการ หากผู้ป่วยสามารถแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) ได้ เจ้าหน้าที่จะแนะนำขั้นตอนในการรับการดูแล หากไม่พร้อมจะดำเนินการรับผู้ป่วยมาพักคอย ณ ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) โดยจะมีทีมแพทย์พยาบาลประเมินอาการ ให้ยารักษา และส่งต่อเข้ารับการรักษาตามอาการต่อไป

ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น อันจะเป็นการลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่ดูแลโทรแจ้งเขตพื้นที่ที่พักอาศัยในปัจจุบัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อประสานความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วต่อไป

ผู้ป่วยที่มีผลตรวจโควิดจาก Antigen Test Kit หรือ Rt-PCR สามารถโทรติดต่อสายด่วน 1330 หรือสายด่วนของสำนักงานเขต ซึ่งนอกจากการดำเนินการเกี่ยวกับ HI/CI แล้วยังประสานให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ในเรื่องอื่นๆ ด้วย โดยสายที่โทรมาที่เขตจะมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยไปที่ระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อให้ สปสช. เป็นผู้แจกจ่ายเคสให้กับทีมที่ต้องเข้าไปประเมินตามลักษณะอาการของผู้ป่วย สำหรับรายที่ต้องเข้าระบบ HI และ CI กทม. โดยศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง จะเป็นผู้ดูแล ร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น และคลินิกภาคเอกชนที่เป็นเครือข่าย

info-bkk-all-hotline-0

เร่งดูแลผู้ป่วยโควิดด้วย BKK HI/CI Care

นอกจากนี้ กทม. ได้ปรับวิธีการตรวจเชิงรุกโดยมีทีม CCRT ตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) ที่รู้ผลการตรวจเร็วขึ้น เพื่อแยกผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้มากที่สุดก่อน โดยผู้ที่มีผลตรวจจาก ATK เป็นลบสามารถกลับบ้านได้ แต่หากเป็นผู้เสี่ยงสูงแนะนำให้แยกตัวจากผู้อื่น

แต่หากมีผลติดเชื้อจะส่งตรวจ Rt-PCR ซ้ำอีกที่จุดตรวจเดียวกัน หรือส่งเข้าศูนย์พักคอย (Community Isolation : CI) แยกโซนเฉพาะผู้ที่มีผลจาก ATK ซึ่งผู้มีผลติดเชื้อจะต้องเซ็นยินยอมในใบ Informed Consent จากนั้นจะมีหน่วยตรวจ Rt-PCR มาตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งที่ศูนย์พักคอย เพื่อให้ได้ผลยืนยันการติดเชื้อก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา

ผู้ป่วยที่มีผลตรวจยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อและต้องการแยกรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation : HI) หน่วยเชิงรุกจะส่งข้อมูลเข้าระบบ BKK HI/CI Care หรือผู้ป่วยสามารถติดต่อเข้าระบบการรักษาได้ที่ โทรสายด่วน 1330 หรือสายด่วนโควิดเขตทุกเขต เพื่อที่จะได้รับการดูแลติดตามอาการจากแพทย์ และได้รับชุดอุปกรณ์ HI เครื่องวัดออกซิเจน ปรอทวัดไข้ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ โดยจะมีจิตอาสาส่งยาและอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้ออาหาร ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในระบบการรักษา และถ้าผู้ป่วยที่รักษาแบบ HI มีอาการรุนแรงขึ้น ตามคำวินิจฉัยจากแพทย์ที่ดูแล จะนำส่งเข้ารักษาใน รพ.สนาม Hospitel หรือ รพ. ต่อไป

สำหรับผู้ที่มีผลการตรวจเป็นบวกจาก ATK ด้วยตนเองหรือจากสถานที่เอกชน จะต้องตรวจ ATK ซ้ำ โดยแจ้งผ่านสายด่วนโควิดเขต หรือแจ้งที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อนัดคิวตรวจหาเชื้อก่อน จึงจะสามารถส่งตรวจซ้ำด้วย Rt-PCR ได้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะต้องถูกส่งต่อไปศูนย์พักคอยร่วมกับผู้สงสัยติดเชื้อรายอื่น

การตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบว่าเป็นผู้ที่สงสัยที่จะติดเชื้อโควิด เพื่อเฝ้าระวังตัวเองและแยกตัวออกจากชุมชนและครอบครัว ก่อนตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันเป็นผู้ป่วยและเข้ารับการรักษาต่อไป

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น การนำผู้ป่วยเข้ารักษาให้เร็วที่สุดเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาชีวิตของทุกๆ คน และเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ได้เร็วที่สุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ