กทม. เปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคก หนอง นา เขตลาดกระบัง ใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ตามศาสตร์พระราชา
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่สำนักงานเขตลาดกระบัง นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้เขตลาดกระบัง ได้เปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคก หนอง นา เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล” อันเป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
สำหรับศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคก หนอง นา เขตลาดกระบัง เป็นการนำพื้นที่ว่างเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเขตลาดกระบัง ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน จัดสร้างศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล” อันเป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่
ในการบริหารจัดการน้ำและกิจกรรมทางการเกษตร ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ภายในพื้นที่สำนักงานเขตลาดกระบัง ซึ่งได้จัดสรรพื้นที่ในการใช้ประโยชน์
ประกอบด้วย 1. นาข้าว ทำการปลูกข้าวนาโยน ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมปทุมธานี 1 อายุเก็บเกี่ยว 120 วัน จากศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน 8 แขวงทับยาว ซึ่งผู้บริหารเขตลาดกระบังได้ร่วมกันโยนกล้า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.64 คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวในประมาณวันที่ 15 ก.พ.64 โดยเมล็ดพันธุ์ที่ได้จะนำไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกต่อไป
2. บ่อเลี้ยงปลา 2 บ่อ และคลองเชื่อมระหว่างบ่อ เป็นหนึ่งในพื้นที่หนองน้ำที่มีประโยชน์ในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาจากสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 5,000 ตัว และอาหารปลาจากศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ประจำแขวงคลองสองต้นนุ่น
3. แปลงพืชผักสวนครัวรั้วกินได้เน้นพืชผักที่ใช้บริโภคในครัวเรือนเหลือสามารถแบ่งปันและจำหน่ายได้ เช่น ผักคะน้า พริก กะเพรา สะระแหน่ ผักบุ้ง เป็นต้น 4. โรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า จำนวน 500 ก้อน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตและจำหน่ายได้ประมาณ 200 กิโลกรัมและยังคงเก็บได้ต่อเนื่องประมาณ 4-6 เดือน
5.โรงเรียนเลี้ยงไก่ไข่และนกกระทา เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรและผู้สนใจได้เลี้ยงสัตว์เพื่อลดรายจ่าย และเสริมอาหารโปรตีนในครอบครัว 6.การเพาะเลี้ยงไส้เดือน การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำเศษวัชพืชและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์และลดต้นทุนรวมถึงลดการใช้สารเคมีในทางการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งนักเรียน เกษตรกรและประชาชน สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ด้านการเกษตรได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นแปลงข้าวนาโยน บ่อเลี้ยงปลา แปลงพืชผัก โรงเรือนเลี้ยงไก่ เลี้ยงนกกระทา การเพาะเห็ด การนำพืชผักและวัสดุเหลือใช้มาใช้ เพาะเลี้ยงไส้เดือน ทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ
ซึ่งในแต่ละฐานกิจกรรมทำให้ผู้เข้ามาศึกษาสามารถนำไปปรับใช้กับสภาพพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม และยังนับได้ว่าศูนย์เรียนรู้ฯแห่งนี้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ในเขตลาดกระบังที่ผู้มารับบริการภายในสำนักงานเขตต้องแวะมาเยี่ยมเยียนและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก