กทม. จับมือ 21 หน่วยงานรัฐ-เอกชน แก้ฝุ่นละออง นำร่อง “อากาศสะอาดเขตปทุมวัน”

Home » กทม. จับมือ 21 หน่วยงานรัฐ-เอกชน แก้ฝุ่นละออง นำร่อง “อากาศสะอาดเขตปทุมวัน”


กทม. จับมือ 21 หน่วยงานรัฐ-เอกชน แก้ฝุ่นละออง นำร่อง “อากาศสะอาดเขตปทุมวัน”

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการอากาศสะอาดเขตปทุมวัน

ซึ่ง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมทั้งร่วมเป็นพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเขตปทุมวัน ร่วมกับอีก 20 หน่วยงาน

เพื่อสร้างความร่วมมือพัฒนาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูอากาศสะอาดกลับคืนสู่พื้นที่เขตกรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน

โดยมี นายไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) นางมาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารเขตปทุมวัน หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย เข้าร่วม

นายชาตรี กล่าวว่า โครงการอากาศสะอาดเขตปทุมวัน ได้ดำเนินการต่อยอดจากโครงการถนนอากาศสะอาดของกทม.เดิมสำนักงานเขต 50 เขต ได้คัดเลือก 50 ถนน เพื่อสร้างเครือข่ายและบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

สำหรับการโครงการอากาศสะอาดเขตปทุมวัน ได้นำแนวคิดของเขตควบคุมมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ที่มีต้นแบบจากลอนดอน ประเทศอังกฤษมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่กรุงเทพฯ นำร่องเขตปทุมวัน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพ โดยสร้างความร่วมมือในการตรวจสอบสภาพรถที่อาจปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมถึงเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมการใช้รถสาธารณะพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยมุ่งพัฒนานวัตกรรม 3 ข้อ ได้แก่

1. ระบบฐานข้อมูลออนไลน์กรุงเทพธุรกิจอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA-BLEZ) เพื่อรายงานผลการตรวจสอบสภาพรถของผู้ที่ใช้รถในเขตปทุมวัน 2. บริการรถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า พร้อมจุดจอดบริการแก่ประชาชนบริเวณศูนย์การค้า สถานประกอบการ และจุดต่าง ๆ ในพื้นที่

และ 3. ระบบเซ็นเซอร์วัดค่า PM 2.5 เฉพาะจุด ที่สามารถแสดงผลทันที เพื่อให้คนในพื้นที่ทราบค่าคุณภาพอากาศได้ ผ่านจอแสดงผลขนาด 50 นิ้ว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การฟื้นฟูอากาศและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะของประชาชนที่ดีขึ้น

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ความร่วมมือกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเขตปทุมวันตามโครงการอากาศสะอาดเขตปทุมวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อสุขภาพ และร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อน รวมถึงขยายผลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคประชาสังคม และเครือข่าย

เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเขตปทุมวัน สร้างพลเมืองตื่นรู้ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การสื่อสารสาธารณะ เพื่อการปกป้องตนเองด้านสุขภาพและการประเมินผลกระทบจากวิกฤตปัญหามลพิษทางอากาศ พร้อมทั้งขยายผลการดำเนินการตามเกณฑ์มาตรการประเมินกรุงเทพธุรกิจอากาศสะอาดต้นแบบ (BMA-BLEZ) ในธุรกิจภาคเอกชน และทดลองระบบการจัดการพื้นที่การปล่อยมลพิษต่ำในเขตเมือง ให้เป็นต้นแบบกับพื้นที่อื่น

สำหรับหน่วยงานที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จำนวน 21 หน่วยงาน ได้แก่ 1. สำนักงานเขตปทุมวัน 2. สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. 3. กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ

4. ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ 5. กองบังคับการตำรวจจราจร 6. สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน 7. สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8. สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน 9. สมาคมราชกรีฑาสโมสร 10. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

11. บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด 12. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 13. บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) 14. บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 15. บริษัท ลิโด้ คอนเน็คท์ จำกัด

16. บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด 17. โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ 18. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 19. วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร 20. กรมการขนส่งทางบก และ 21. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ทั้งนี้ภายในงานเปิดตัวโครงการมีการจัดแสดงบูธนิทรรศการจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 1. บูธสาธิต การตรวจสอบ ตรวจจับ และห้ามใช้รถยนต์ควันดำ โดยกรมควบคุมมลพิษ 2. นิทรรศการด้านผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศกับสุขภาพ โดยกรมอนามัย

3. นิทรรศการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ 4. นิทรรศการ Sensor For All โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5. บูธแจกต้นไม้ดูดซับมลพิษ จำนวน 200 ต้น โดยสำนักงานเขตปทุมวัน

6. บูธตรวจสุขภาพปอดและประเมินเบื้องต้น โดยศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร 7. รถโดยสารไฟฟ้า 100% โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด

8. บูธกิจกรรมการดำเนินการธุรกิจสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยห้าง ร้านค้า ภาคเอกชนเขตปทุมวัน นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานในพื้นที่ถนนพระราม 1 ได้ร่วมกิจกรรม BIG CLEANING บริเวณหน้าสถานที่ของตนเองด้วย

อย่างไรก็ตามกทม.มีนโยบายและแผนในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) มุ่งเป้าให้กรุงเทพฯลดค่าฝุ่นละอองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ที่ผ่านมาได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ทั้งมาตรการระยะสั้น

เช่น เพิ่มมาตรการตรวจจับรถควันดำและเร่งระบายรถบริเวณที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้มีการเผาหญ้าหรือขยะในที่โล่ง เป็นต้น และมาตรการระยะยาว เช่น การปรับปรุงมาตรฐานการระบายไอเสียรถยนต์ใหม่ และปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้สูงขึ้น

เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าพร้อมโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงและครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเร็ว ส่งเสริมและผลักดันให้มีการนำรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (NGV) ใช้ระบบไฟฟ้าหรือระบบไฮบริด มาใช้ทดแทนรถโดยสารรุ่นเก่าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล การจัดหาพื้นที่จอดแล้วจรให้เพียงพอเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ