ความคืบหน้ากรณีการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม
ล่าสุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จริงๆแล้วมนตรีซีเกมส์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอด แต่ขณะเดียวกันก็มีกฎให้กับประเทศเจ้าภาพสามารถไปดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์ได้ เพราะฉะนั้นกัมพูชาก็ใช้สิทธิ์ตรงนี้ในการดำเนินการ โดยให้เอเยนซี่ ติดต่อไทยเรามา โดยเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27.6 ล้านบาท ซึ่งไทยเรามองว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตามหน้าที่ของ กกท.เป็นเพียงแค่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในการถ่ายทอด และไปพูดคุยกับกัมพูชา และส่งต่อรายละเอียดเพื่อให้โอลิมปิคไทยฯ รับผิดชอบต่อ
“สิ่งที่เราสื่อสารไปคือค่าลิขสิทธิ์ครั้งนี้ เป็นราคาที่สูงเกินไป ไม่สามารถดำเนินการได้ เปรียบเทียบการครั้งก่อนๆ ซีเกมส์ 2021 ที่เวียดนาม คิดราคาเป็นค่าธรรมเนียมเพียง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 350,000 บาท ส่วนซีเกมส์ 2019 ที่ฟิลิปปินส์ คิดราคาเพียง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 175,000 บาท ครั้งนี้มีความแตกต่างกันชัดเจน เราต้องเช็กข้อมูลให้รอบด้านว่า ประเทศเพื่อนบ้านเรามีประเทศไหนที่จ่ายบ้าง ซึ่งเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีประเทศใดที่จ่ายราคาแพงเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าภาพกัมพูชาได้แจ้งมาแล้วสามารถพูดคุยเจรจากันได้ตามความเหมาะสม เพราะฉะนั้นเราอยู่ในช่วงที่หารือไปที่โอลิมปิคไทยฯ ว่าราคาแบบนี้จำเป็นจะต้องลดลงมาให้มีความเหมาะสม ใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมา อาจจะเพิ่มบวกขึ้นเล็กน้อยตามสภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งเงินเฟ้อ ราว 5-10 เปอร์เซ็นต์ก็ยังพอรับได้ แต่ค่าลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้นก้าวกระโดดหลายเท่าตัวตรงนี้ ต้องยอมรับว่า กกท.ไม่ได้วางงบประมาณไว้รองรับขนาดนั้น และเชื่อว่าหลายประเทศก็รู้สึกเหมือนกัน เท่าที่คุยกับหลายประเทศก็ยังไม่ได้ตกลง เราต้องสะท้อนไปให้ถึงทางคณะกรรมการโอลิมปิคของกัมพูชาด้วยว่า ไทยและหลายประเทศคิดว่าราคาแพงเกินไป เพราะการตัดสินใจทั้งหมดเป็นของโอลิมปิกกัมพูชา”
ดร.ก้องศักด กล่าวเพิ่มเติมว่า สุดท้ายแล้วถ้าไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดซีเกมส์ก็ถือว่าไม่ผิดกฎมัสต์แฮฟ มัสต์แคร์รี่ แต่ถ้าถ่ายทอดสดต้องทำตามกฎดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ตามหากมองเรื่องของการพัฒนากีฬา ถ้าไม่มีการถ่ายทอด ก็จะไม่มีกระแสร่วมกันเชียร์ให้กำลังใจนักกีฬาไทย แต่ถ้าราคาขนาดนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่ สิ่งที่จะขาดไปแน่นอนหากไม่มีการถ่ายทอดคือ เราจะไม่มีโอกาสได้เชียร์นักกีฬาแบบสดๆ ต้องอาศัยช่องทางอื่นๆ ซึ่งยากลำบากต่อคนทั่วไป แต่กรณีหากมีการถ่ายทอดสดเราก็จะไปติดเรื่องกฎมัสต์แฮฟ มัสต์แคร์รี่ ทำให้การดึงเอกชนมาร่วมค่อนข้างยากลำบาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เคยพูดไว้ตั้งแต่ตอนฟุตบอลโลก 2022 แล้ว แต่ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นกฎนี้ก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่”
ต่อข้อถาม หากไทยเรามีงบประมาณจำกัด สามารถเลือกซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬายอดนิยม เช่น ฟุตบอล และวอลเลย์บอล ได้หรือไม่ ดร.ก้องศักด กล่าวว่า เรื่องนี้ก็อยู่ในข้อหารือ ที่จะพูดคุยกับทางเอเยนซี ที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายจัดการแข่งขัน ซึ่งทราบว่าตอนนี้เจ้าภาพมี 3 แพ็คเกจให้เลือก คือ แพ็คเกจใหญ่ ถ่ายทอดสดครอบคลุม 16 ชนิดกีฬา และแพ็คเกจกลาง รวมถึงแพ็คเกจเล็กสุด