กกท. โดย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เล็งแผนใหม่ ยื่นดิวส์ตรงถึงฟีฟ่า ต่อรองราคาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ชี้โอกาสได้ดูกับไม่ได้ดูยังมีเท่าๆกัน
ความคืบหน้าการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565 หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท จากจำนวนเต็ม ที่กกท. เสนอขอรับการสนับสนุนไป 1,600 ล้านบาท ทำให้ กกท. ต้องหาภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนอีก 1,000 ล้านบาท โดยเวลานี้มีภาคเอกชนใจดี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะสนับสนุนเงินราว 400 ล้านบาทนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าการเจรจาซื้อถ่ายทอดลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ว่า เรื่องนี้มีการสอบถามกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา เพราะราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จึงให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการที่ดำเนินการเจรจากันอยู่
ขณะที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ยังต้องให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ติดต่อ เพื่อให้ลดราคาให้ เมื่อถามว่า ยังขาดเงินอีกเยอะหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบว่า ก็ไม่ลดราคาให้ ส่วนยืนยันได้หรือไม่ว่าคนไทยจะได้ดูบอลโลก พล.อ.ประวิตร ตอบว่า ไม่รู้
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ล่าสุด ยอมรับว่า มีความเป็นได้ทั้ง 2 ทาง ทั้งได้ดู และไม่ได้ดูฟุตบอลโลก 2022 ยอมรับว่า เงื่อนไขที่บริษัท อินฟรอนท์ สปอร์ตส แอนด์ มีเดีย เอเย่นต์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เสนอมา เป็นเงื่อนไขที่รับไม่ได้ ทั้งงบประมาณ และความเหมาะสม แม้ต่อรองลงมาต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท ก็ไม่มาก ยังเป็นหลักพันล้าน ยังสูงเกินไป เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน พยายามต่อรองมากที่สุดแล้ว เจรจามากที่สุดแล้ว ยึดหลักประหยัดงบมากที่สุด เป็นราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นข้อครหาสังคม ว่าไปซื้อแพงกว่าที่อื่น ยืนตัวเลขที่มีกำลัง
“เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่สถานะการเงินร่ำรวย รัฐบาลต้องใช้กิจการสำคัญมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ”
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันนอกจากต่อรองกับ อินฟรอนท์ แล้ว ยังส่งเรื่องตรงถึงฟีฟ่าแล้ว เพื่อเจรจาโดยตรง มีทางออกอย่างไรให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลก ถ้าจะดูตั้งแต่แมตช์แรก ก็ต้องให้จบวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่เป็นวันเปิดสนามแมตช์แรก ระหว่าง “เจ้าภาพ” กาตาร์ กับ เอกวาดอร์ เวลา 23.00 น. ตามเวลาเมืองไทย ถ้าไม่ทัน อาจต้องยอมรับกันว่าอาจได้ดูไม่ครบทุกแมตช์ ส่วนเมื่อเริ่มแข่งแล้วยังไม่ทัน แล้วมีโอกาสถ่ายหรือไม่นั้น ต้องพูดคุยฟีฟ่า เพราะอินฟรอนท์ ยืนยันไม่ขายแยกแพคเกจ โดยในส่วนเงิน 600 ล้านบาท จาก กสทช.ไม่พอแน่นอน กำลังหาเพิ่มเติมมาสมทบจากเอกชนที่ยินดี แต่ยังไม่ขอพูดรายละเอียด เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่มีแนวโน้มที่ดี ในหลายๆ เจ้า ส่วนการใช้เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาตินั้น ในข้อกฎหมายทำไม่ได้ แต่สามารถใช้เงินก่อน แล้วนำกลับมาคืน ทั้งนี้เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องมีภาคเอกชนยืนยันว่าจะช่วยเหลือเพียงพอแน่นอน
“ก็ยังหวังว่ามีภาคเอกชนรายใหญ่ เป็นหลักให้ จะลดงบประมาณภาครัฐได้ ข้อครหาใช้งบภาครัฐก็ลดน้อยลงไป แต่เป็นไปได้ยากในสถานการณ์เช่นนี้ หรือข้อจำกัดเช่นนี้”
“บิ๊กก้อง” กล่าวต่อว่า ถ้าเจรจาไม่ได้ก็ต้องยอมรับ พูดความจริงตรงไปตรงมา ว่าภาครัฐใช้ความพยายามที่สุดแล้ว ต้องยอมรับว่ามีอุปสรรคปัญหาอะไร เอามาวิเคราะห์ไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต ยอมรับว่าต้องปลดล็อกหลายๆ เรื่อง ส่วน กกท. ในการบริหารทีสปอร์ต 7 ต้องพูดคุย กสทช. ว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร ให้ กกท. หรือทีสปอร์ต 7 มีบทบาทล่วงหน้ามากกว่านี้
ผู้สื่อข่าว ถามถึงเปอร์เซ็นต์โอกาสที่คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลก ผู้ว่าการกกท.2022 กล่าวว่า “ให้ไม่ได้จริงๆ ยังวิเคราะห์ยากจริงๆ โอกาสยังเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง เงิน 1,600 ล้านบาทนี้ เป็นตัวเลขที่เราเจรจา การดีลไม่ได้ผ่านบริษัทเอกชน การจ่ายเงิน จะจ่ายไปอินฟรอนท์ หรือฟีฟ่า ไม่มีเอกชนมาเกี่ยว เรื่องส่วนต่างไม่มีแน่นอน”