กกต.ไม่รีบ ชี้ขาดคุณสมบัติ ‘พิธา’ถือหุ้นสื่อ รอหลังเลือกตั้ง ลั่นต้องให้ความเป็นธรรม

Home » กกต.ไม่รีบ ชี้ขาดคุณสมบัติ ‘พิธา’ถือหุ้นสื่อ รอหลังเลือกตั้ง ลั่นต้องให้ความเป็นธรรม



กกต. ไม่รีบวินิจฉัยคุณสมบัติ ‘พิธา’ ถือหุ้นสื่อ รอหลังเลือกตั้ง ต้องให้ความเป็นธรรม เผยมีผู้สมัครบัญชีรายชื่อฟ้องล้มละลาย เร่งหาข้อเท็จจริงเพิ่ม ก่อนส่งศาล

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. กล่าวถึงกรณีมีการร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นสื่อ บมจ.ไอทีวี ว่า ตนยังไม่เห็นคำร้อง ซึ่งเรื่องนี้ร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติ มีขั้นตอนตามกฎหมาย มีอยู่ 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงหลังวันเลือกตั้ง และช่วงประกาศผลการเลือกตั้ง

โดยก่อนการเลือกตั้ง ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 61 ถ้ากกต.ตรวจสอบแล้ว เห็นว่าไม่มีคุณสมบัติ ให้ยื่นต่อศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาเพียง 2 วัน แต่หากดำเนินการไม่ทัน หลังการเลือกตั้ง ก่อนประกาศผล ถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามลงรับสมัครรับเลือกตั้ง กกต.จะมีมติให้ดำเนินคดีอาญามาตรา 151 ฐานรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีคุณสมบัติในการสมัคร แต่ยังลงสมัคร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง

ดังนั้น ต้องประกาศผลให้เป็นส.ส.ไปก่อน จากนั้นจะดำเนินการหลังประกาศผล มีรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งกำหนดช่องทางดำเนินการไว้ ทั้งให้ส.ส.หรือส.ว. เข้าชื่อ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือกกต.เป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

เมื่อถามว่าทำไมกกต.ไม่ยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณาก่อนเลือกตั้ง เพราะถ้ายื่นหลังเลือกตั้ง จะมีผลกระทบมากกว่า นายแสวง กล่าวว่า ทุกอย่างมีกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมีเรื่องร้องเรียน สำนักงานจะรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา ก่อนเสนอให้กกต.พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา

อย่างวันนี้ (11 พ.ค.) หน่วยงานที่กกต. ขอความร่วมมือในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพิ่งส่งข้อมูลล่าสุดมาให้ พบว่ามีผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ คนหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่กกต. เห็นว่าจำเป็นต้องให้ความเป็นธรรม และได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อน จึงให้สำนักงานไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า คำสั่งล้มละลายยังมีผลอยู่หรือไม่ และผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้อย่างไรหรือไม่ จากนั้น กกต.ค่อยมาพิจารณาเรื่องการยื่นต่อศาล จึงต้องแยกเรื่องกระบวนการให้ความเป็นธรรม กับผลกระทบออกจากกัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ