กกต.เตรียมรับมือภัยไซเบอร์ ขอให้ปชช.มั่นใจ เลือกตั้งยุติธรรม โปร่งใส

Home » กกต.เตรียมรับมือภัยไซเบอร์ ขอให้ปชช.มั่นใจ เลือกตั้งยุติธรรม โปร่งใส



กกต.แถลงจับมือพันธมิตร เตรียมรับมือภัยไซเบอร์ โจมตีระบบเลือกตั้ง ขอให้ประชาชนมั่นใจ จัดสนามแข่งขันเป็นธรรม โปร่งใส

วันที่ 9 พ.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวในการแถลงข่าวความร่วมมือการเฝ้าระวังระบบการเลือกตั้งว่า ว่า กกต.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับระบบเลือกตั้ง โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาการคุกคามทางไซเบอร์

ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการ รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อเฝ้าระวังป้องกันความเสี่ยง และรักษาความมั่นคงปลอดภัยทั้งไซเบอร์ ป้องกันการโจมตีกับระบบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งกกต.

เช่น แอพพลิเคชั่น “smart vote” แอพฯ “ตาสับปะรด” เว็บไซต์สำนักงานกกต. และเว็บฯ กกต.จังหวัด ฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยติดตามตลอด 24 ชั่วโมง จนถึงวันเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พ.ค. นี้

นายแสวง กล่าวต่อว่า อยากให้ประชาชนมั่นใจในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ย้ำว่าหน้าที่ของกกต.คือการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เครื่องมือสำคัญคือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับ และประชาชนเป็นเจ้าของการเลือกตั้ง

นายแสวง กล่าวต่อว่า กกต.จึงตั้งความหวังเอาไว้สูงเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าสังคมจะรู้สึกหรือมองเราอย่างไร แต่สิ่งที่เราตั้งใจทำ คือการให้มีสนามแข่งขันที่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง มีความเสมอภาคทุกพรรคการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน รายการที่ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส นี่คือเป้าหมายที่เราอยากให้เกิดขึ้น

นายแสวง กล่าวอีกว่า ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีข้อผิดพลาด ทางสำนักงานได้รีบดำเนินการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในวันที่ 14 พ.ค. โดยได้ส่งหนังสือแจ้งทุกจังหวัดให้ซักซ้อมกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในการทำงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกกับประชาชน ดูแลการปิดประกาศให้ครบถ้วน ชัดเจน ดูแลรักษาอย่าให้ใครมาทำลาย และนำมาเป็นประเด็น ทำให้เกิดความสับสนว่ากกต.ดูแลไม่ดี หรือทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

นายแสวง กล่าวต่อว่า สำหรับการนับคะแนน การรายงานผล ผอ.ต้องติดตามใกล้ชิด ให้คำแนะนำให้ปฏิบัติและดูแลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง หากเกินกำลัง ให้ส่งมายังกกต.ส่วนกลางซึ่งมีการตั้งคลินิกกปน.รองรับในวันนี้

“กกต.ยืนยันว่าจะรักษาคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา หรือที่จะลงในวันที่ 14 พ.ค.ที่กำลังจะมาถึงนี้ ไม่ว่าท่านลงให้ใคร ให้พรรคไหน คะแนนนั้นก็จะได้กับคนนั้น ผมหวังว่าสถานการณ์ไปจนถึงวันเลือกตั้งน่าจะเป็นไปด้วยดี เราต้องรักษาสนามประชาธิปไตยไว้” นายแสวง กล่าว

เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกำหนดให้ค่าใช้จ่ายของผู้สังเกตการณ์พรรคการเมือง เป็นของพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบ นายแสวง กล่าวว่า เราต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม กกต.อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาตรวจสอบการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือภาคประชาชนต่างๆ แต่ในส่วนของพรรคการเมืองนั้นมีกฎหมายให้พรรคการเมืองส่งผู้สังเกตการณ์ได้ตามมาตรา 55 โดยพรรคการเมืองที่ประสงค์ส่งผู้สังเกตการณ์ให้แจ้งต่อกกต. 15 วัน ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเป็นของพรรคการเมือง

นายแสวง กล่าวต่อว่า หากพรรคการเมืองใช้วงเงิน 44 ล้านบาทหมดไปแล้ว ก็อาจจะอาศัยช่องทางผู้สมัครแบ่งเขตของพรรคการเมืองนั้น ส่งผู้สังเกตการณ์มาดูแลแทน ซึ่งแตกต่างกัน โดยผู้สังเกตการณ์กรณีที่แจ้งกกต.มานั้นจะจัดที่นั่งไว้ให้ด้านใน แต่กรณีที่ส่งมาเองก็จะอยู่ด้านนอก แต่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน

นายแสวง กล่าวอีกว่า กรณีทักท้วงว่ามีกฎหมายพรรคการเมือง ระบุว่ากกต.เคยออกค่าใช้จ่ายให้นั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2541 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองส่งผู้แทนร่วมเป็นกปน.ได้ แต่กฎหมายนั้นยกเลิกไปแล้วตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ยืนยันว่าสิ่งที่กกต.ทำนั้นเป็นไปตามกฎหมาย แต่ทุกคนสามารถมีช่องทางสังเกตการณ์ได้ตามปกติ

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นอีก จะคาดโทษใครหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 7 พ.ค. หรือวันที่ 14 พ.ค. ได้ให้ผอ.ทุกจังหวัดรายงานทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกหน่วย ซึ่งจะมีบันทึกเหตุการณ์เอาไว้อยู่แล้ว ตั้งแต่ 08:00 น จนถึงการนับคะแนน เช่น หากขานคะแนนผิด แล้วมีข้อทักท้วง จะต้องบันทึกเหตุการณ์เอาไว้

นายแสวง กล่าวต่อว่า กรณีนายชูวิทย์ระบุนั้น ตนได้ส่งเรื่องไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เพื่อให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ ดังนั้น นอกจากการบันทึกเหตุการณ์ที่หน่วยแล้ว ให้ตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เป็นข่าวด้วยว่าจริงหรือไม่ แก้ไขอย่างไร

ส่วนกรณีพรรคก้าวไกลเรียกร้องให้กกต. เปิดเผยข้อมูลผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า จำแนกเป็นรายเขต เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงให้จัดทำข้อมูลหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศเป็นไฟล์ Excel นั้น นายแสวง กล่าวว่า ขอรับไว้พิจารณา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ