กกต.กทม. แบ่ง 33 เขตเสร็จแล้ว รอกฎหมายเลือกตั้งประกาศใช้ เดินหน้ารับฟังความเห็น ก่อนชง 3 รูปแบบ เสนอกกต.เลือก เผย ยังไม่มีร้องติดป้ายหาเสียงผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 33 เขตเลือกตั้งของกทม. ว่า ทางกกต.กทม. ได้เตรียมความพร้อม โดยมีการแบ่งรูปแบบเขตเลือกตั้งไว้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เดือนก.พ.2565 ตั้งแต่ข้อมูลแนวเขตเลือกตั้ง ข้อกฎหมายที่กำหนดจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 เพื่อให้กกต.ได้ใช้ดุลยพินิจอิสระในการเลือกรูปแบบ
นายสำราญ กล่าวว่า เมื่อมีการประกาศจำนวนราษฎรใหม่ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 65 เราก็จะนำจำนวนราษฎรรายแขวง รายตำบล มาพิจารณาว่าเขตเลือกตั้งที่เราได้ทำไว้ อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ดูเบื้องต้นยังอยู่ในเกณฑ์ และเราก็ได้เร่งดำเนินการแบ่งเขตอย่างจริงจังแล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศเผยแพร่ได้ ต้องรอร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศใช้บังคับเสียก่อน
นายสำราญ กล่าวต่อว่า เนื่องจากมาตรา 27 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง แต่เมื่อยังไม่มีกฎหมายรองรับ เราก็ได้แต่เตรียมการไว้ แต่เมื่อกฎหมายประกาศบังคับใช้ ระเบียบที่กำหนดรายละเอียดของการแบ่งเขต ซึ่งทราบว่ามีการดำเนินการยกร่างไว้เสร็จแล้ว ก็จะประกาศออกมา และถึงเวลานั้นการแบ่งเขตก็จะปรากฏออกมา คิดว่าไม่นานนี้
นายสำราญ กล่าวว่า เมื่อได้รูปแบบที่ชัดเจนไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบแล้ว ก็จะมีการประกาศรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง และประชาชนในเขตจังหวัดนั้นๆ เป็นเวลา 10 วัน ตามที่ระเบียบกำหนด จากนั้นจะนำความเห็นมาประมวลภายในเวลา 3 วัน ก่อนจะเลือกรูปแบบที่เหมาะสม โดยเรียงลำดับ เสนอต่อกกต.ในวันรุ่งขึ้น จากนั้นเป็นกระบวนการของสำนักงานกกต. เสนอต่อกกต.พิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยในส่วนของกกต.กทม. แต่ละเขตเลือกตั้งเราแบ่งไว้เกินกว่า 3 รูปแบบ
เมื่อถามว่า กทม.มี 33 เขตเลือกตั้ง เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 เขต ใน 3 เขตดังกล่าว เมื่อแบ่งใหม่จะกระทบไปยังเขตอื่นรวมกี่เขตเลือกตั้ง นายสำราญ กล่าวว่า ขอยังไม่ระบุ แต่จากที่ได้แบ่งไว้ตอนเดือนก.พ. เมื่อนำมาพิจารณากับจำนวนราษฎรที่ประกาศล่าสุด ไม่แตกต่าง โดยของกทม. 33 เขตเลือกตั้ง จะแบ่งเป็นฝั่งพระนคร รวม 35 เขตปกครอง แบ่งเป็น 23 เขตเลือกตั้ง ฝั่งธนบุรีรวม 15 เขตปกครอง แบ่งเป็น 10 เขตเลือกตั้ง ซึ่งในทางกายภาพ กทม.ไม่ได้มีภูมิประเทศเป็นป่าเป็นภูเขา
นายสำราญ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการแบ่งเขตก็จะไม่มีเรื่องการร้องเรียนว่า แบ่งเขตแล้วเกิดปัญหาการเดินทางไม่สะดวก อีกทั้งหลักการแบ่งเขต กฎหมายก็เขียนไว้ว่า เขตพื้นที่ต้องติดต่อกัน ไม่สามารถแบ่งพื้นที่ของแต่ละแขวง ตำบล ถ้าจะยกก็ต้องยกมาทั้งแขวงทั้งตำบล ที่สำคัญคือความสะดวกของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคการเมืองเริ่มมีการติดป้ายหาเสียง นายสำราญ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วง 180 วันก่อนสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้พรรคการเมือง ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ โดยการปฏิบัติก็จะเป็นลักษณะเดียวกับที่ผู้สมัคร พรรคการเมืองเคยปฏิบัติในการเลือกตั้งปี 62 ซึ่งจนถึงขณะนี้กกต.กทม. ยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการกระทำในลักษณะที่ผิดกฎหมาย