ญี่ปุ่น คือหนึ่งในชาติที่ขึ้นชื่อถึงความเป็นอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นชาติ การยึดติดกับขนบธรรมเนียมดั้งเดิม วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ไม่เปิดกว้างให้อิทธิพลจากโลกภายนอกเข้ามาครอบงำเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม วงการรักบี้ของญี่ปุ่นกลับแตกต่างออกไป เพราะพวกเขาปล่อยให้คนชนชาติอื่น ตั้งแต่ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฟิจิ, ซามัว และอีกมากมาย เข้ามาเป็นผู้เล่นตัวแทนของแดนอาทิตย์อุทัย ไล่ล่าความสำเร็จ ต่อกรกับทีมระดับโลก
เหตุใดญี่ปุ่นจึงกล้าฉีกธรรมเนียมเดิม? ยอมรับคนต่างชาติเข้ามาเป็นนักรบในเกมกีฬาที่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นญี่ปุ่นอย่างสูง เช่น รักบี้
ติดตามได้ที่นี่..
ใช้ต่างชาติ.. เพราะญี่ปุ่นไม่เล่น
เหตุผลที่ง่ายที่สุดกับการเข้าใจได้ว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงยอมรับได้กับการดึงผู้เล่นต่างแดนมาเล่นภายใต้ธงชาติของตัวเอง? ก็เพราะว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เล่นกีฬารักบี้ หรือถ้ามีก็ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบเท่านั้น
กีฬารักบี้เคยเป็นที่นิยมมากในยุค 1950s ตอนนั้นถึงขั้นที่ว่ามีการส่งนักกีฬาของญี่ปุ่นไปเรียนรู้งานที่ประเทศอังกฤษ ต้นกำเนิดของเกมรักบี้ รวมถึงทำการแข่งขันอุ่นเครื่องกับทีมชาตินิวซีแลนด์ อีกหนึ่งชาติที่เก่งกาจในเกมกีฬานี้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของวงการรักบี้ญี่ปุ่นเผยออกมาให้เห็นในช่วงยุค 70s อันเป็นช่วงเวลาที่วงการรักบี้ทั่วโลกคาดหวังจะได้เห็นญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในทีมชั้นนำ แต่ผลงานของทีมจากแดนอุทัยกลับน่าผิดหวัง โดนทีมระดับโลกอย่าง อังกฤษ, สกอตแลนด์ ไล่อัดเป็นว่าเล่น
ปัญหาสำคัญของญี่ปุ่นคือการไม่ขยายทรัพยากรเข้าสู่ชุมชน คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้าถึงศาสตร์การเล่นรักบี้ ไม่ว่าจะในแง่ของการเรียนการสอนหรือพื้นที่สาธารณะที่จะเล่นในชุมชน ทำให้คนรุ่นหลังหมดความสนใจในกีฬารักบี้และหันไปเล่นกีฬาอื่นที่เล่นได้ง่ายกว่า เช่น เบสบอล เป็นต้น
เมื่อไม่มีการกระจายความรู้ในวงกว้าง จำนวนผู้เล่นรักบี้ของญี่ปุ่นจึงถูกสร้างภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด นอกจากนี้ การพัฒนาเรื่องความรู้ของเกมรักบี้ในญี่ปุ่นยังมีไม่มากพอ ทำให้ผู้เล่นหลายคนได้รับบาดเจ็บหนักตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและเลิกเล่นกีฬาหันไปเอาดีทางด้านอื่น
การพัฒนาของวงการรักบี้ญี่ปุ่นเป็นไปอย่างล่าช้า กว่าจะรู้ตัวอีกที ชาติอื่นก็พัฒนานำหน้าพวกเขาไปไกล ผู้เล่นญี่ปุ่นไม่สามารถต่อกรกับชาวต่างชาติได้ ถึงจะคัดระดับหัวกะทิมาติดทีมชาติแล้วก็ตาม
ในอดีต ญี่ปุ่นเคยยึดติดกับการใช้ผู้เล่นในประเทศเท่านั้น ไม่รับนักกีฬาโอนสัญชาติโดยเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ความไม่เป็นมืออาชีพของวงการรักบี้ในญี่ปุ่นกลายเป็นดาบที่ย้อนกลับมาแทงพวกเขาเอง
ถึงญี่ปุ่นจะมีความภูมิใจในความเป็นชาติมากเพียงใด พวกเขาก็ต้องการความเป็นเลิศมากเช่นกัน แนวคิดหนึ่งที่ฝังอยู่ในคนญี่ปุ่นมาอย่างเนิ่นนาน คือการมองว่าชนชาติของตัวเองเป็นเลิศ ไม่เป็นรองใครในโลกใบนี้ ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนจากประเทศตะวันตก ถ้าพวกเขาเล่นรักบี้ได้ดี นักกีฬาที่เป็นตัวแทนของญี่ปุ่นก็ต้องเล่นได้ดีเช่นกัน
ญี่ปุ่นมองหาการพัฒนาด้วยตนเอง แต่พวกเขาพบว่า ด้วยศักยภาพในตอนนั้น ไม่สามารถยกระดับความสามารถของคนญี่ปุ่นในการเล่นรักบี้ได้อย่างรวดเร็ว บวกกับด้วยเรื่องวิทยาศาสตร์กีฬาในอดีตที่ยังไม่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยแบบทุกวันนี้ ทำให้คนญี่ปุ่นไม่สามารถหาวิธีสร้างร่างกายให้ทัดเทียมกับ “คนขาว” จากโลกตะวันตกได้ รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชาชนที่มีเชื้อสายยุโรปด้วยเช่นกัน
ในช่วงเวลาที่วงการญี่ปุ่นกำลังติดหล่มความล้มเหลวของตัวเอง กีฬารักบี้กลับเป็นที่นิยมในกลุ่มชาวต่างชาติที่ย้ายมาทำงานที่ญี่ปุ่น พวกเขารวมทีมในฐานะพนักงานบริษัทแข่งขันกันเอง และกลายเป็นที่นิยมอย่างลับๆบนแดนอาทิตย์อุทัย
ยุค 90s ถือเป็นช่วงเวลาที่รักบี้เฟื่องฟูในกลุ่มชาวต่างชาติ ภายใต้การนำของ เอียน วิลเลียมส์ อดีตนักกีฬารักบี้ทีมชาติออสเตรเลียซึ่งย้ายมาเล่นรักบี้ที่ญี่ปุ่น และตัดสินใจดึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่บนแดนอาทิตย์อุทัยนับร้อยคนให้หันมาเล่นรักบี้ โดยมีเงินค่าจ้างให้เพื่อให้ลีกรักบี้ของบริษัทเอกชนได้รับความนิยมมากขึ้น
การเล่นรักบี้จึงกลายเป็นเสมือนอาชีพเสริมของชาวต่างชาติในญี่ปุ่น และด้วยเงินตอบแทนที่ดีจึงก่อให้เกิดพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ลีกของพนักงานบริษัทกลายเป็นลีกยอดนิยมจนได้สปอนเซอร์มาสนับสนุนระดับหลักล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดึงดูดชาวต่างชาติให้เดินทางมาเล่นรักบี้ที่นี่
ญี่ปุ่นมองเห็นการเติบโตของสังคมรักบี้โดยชาวต่างชาติ พวกเขาจึงปิ๊งไอเดียใสแจ๋วขึ้นมา นั่นคือ ทำไมไม่ดึงชาวต่างชาติเหล่านี้มาเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นเสียเลยล่ะ?
ความไม่มืออาชีพกับทางเลือกที่มัดมือชก
แม้ว่าชาวต่างชาติที่เล่นรักบี้ในญี่ปุ่นตอนนั้นจำนวนไม่น้อยเป็นพนักงานออฟฟิศที่รับจ็อบควบเป็นนักกีฬาไปด้วย แต่ความสามารถของเขาไม่ได้ต่างจากนักรักบี้อาชีพชาวญี่ปุ่นเลย สืบเนื่องมาจากปัญหาความไม่เป็นมืออาชีพของวงการรักบี้ญี่ปุ่นที่ค้างคาเป็นปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขมายาวนาน
“ที่ญี่ปุ่นแตกต่างจากที่อื่น ไม่ว่าคุณจะเป็นทีมระดับมัธยม, มหาวิทยาลัย หรือ ทีมจากบริษัท คุณก็คว้าแชมป์ของญี่ปุ่นได้ ไม่มีใครสนเรื่องทีมชาติญี่ปุ่นหรอก เพราะว่าไม่มีใครแคร์” เอียน วิลเลียมส์ นักรักบี้ชาวออสเตรเลียที่ย้ายมาเล่นที่ญี่ปุ่นกล่าว
อย่างไรก็ตาม วิลเลียมส์คือหนึ่งในนักรักบี้ต่างชาติที่ถูกทีมชาติญี่ปุ่นเรียกติดทีมชาติในปี 1993 ซึ่งเขาตกลงอย่างเต็มใจเพราะความผูกพันที่มีต่อญี่ปุ่น แม้ว่าการลงสนามในฐานะผู้เล่นตัวแทนของญี่ปุ่นเกมแรกและเกมเดียวในชีวิตของเขา จะจบลงด้วยการถูกทีมชาติเวลส์ถล่ม 5 ต่อ 55 จุดก็ตาม
การเรียกผู้เล่นชาวต่างชาติมาติดทีมชาติญี่ปุ่นในระยะแรกไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีนักเพราะพวกเขาไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ ทำให้ญี่ปุ่นหันไปใช้บริการผู้เล่นในชาติเป็นหลัก ผลลัพธ์คือการถูกถล่มยับโดยทีมชั้นนำยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ชนิดที่เรียกว่า ทีมชาติญี่ปุ่นเคยโดนทีมชาตินิวซีแลนด์ถล่ม 17-145 ในการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกเมื่อปี 1995 ซึ่งกลายเป็นสถิติการแพ้ที่ขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยโครงสร้างลีกรักบี้ในญี่ปุ่นที่ไม่มีลีกอาชีพ ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถพัฒนานักกีฬาอย่างมีประสิทธิภาพได้เสียที ในทางกลับกัน ยิ่งลีกรักบี้ของพนักงานบริษัทบูมมากเท่าไร นักรักบี้จากต่างแดนยิ่งเข้ามาเล่นที่ญี่ปุ่นมากเท่านั้น โดยพวกเขาหันมาเป็นนักรักบี้จริงจังโดยมีชื่อทำงานในองค์กรแต่เน้นเล่นรักบี้เป็นหลัก (คล้ายกับโมเดลฟุตบอลไทยลีกก่อนเป็นลีกอาชีพเต็มตัวที่มีแต่ทีมองค์กรและนักกีฬาจะมีชื่อเป็นพนักงานบริษัทควบคู่ไปด้วย)
ลีกบริษัทได้รีแบรนด์ครั้งใหญ่ด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็น Top League ในปี 2003 กลายเป็นลีกกีฬาอาชีพ มีการดึงผู้เล่นต่างชาติเข้ามาอย่างจริงจัง นำโดยบริษัท Yamaha ที่จ้างนักรักบี้อาชีพจากต่างแดนมาเล่นให้กับทีมเท่านั้น มีการสร้างสนามฝึกซ้อมให้ใหม่ เพื่อหวังสร้างชื่อให้องค์กรผ่านกีฬาประเภทนี้
เมื่อลีกพัฒนาก็เป็นการบังคับกลายๆให้สมาคมกีฬารักบี้ญี่ปุ่นต้องปรับตัวตาม ช่วยเหลือผลักดันลีกให้เป็นที่นิยม มีรายได้เข้ามามากกว่าเดิมเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เล่น
ขณะเดียวกัน สมาคมกีฬารักบี้ญี่ปุ่นมองเห็นว่าตอนนี้ นักรักบี้ต่างชาติที่เล่นอยู่ในประเทศมีความสามารถสูงกว่าเมื่อก่อนมาก พวกเขาจึงหวังชุบมือเปิบ ดึงผู้เล่นเหล่านี้มาติดทีมชาติเพื่อยกระดับทีมโดยใช้ทางลัด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก เหล่าบริษัทต่างๆไม่ยอมปล่อยนักกีฬาของตัวเองไปเล่นให้กับทีมชาติญี่ปุ่น ไม่ใช่เพราะว่าอยากรักษาพื้นที่ให้กับคนญี่ปุ่นแท้ๆ แต่เป็นเพราะองค์กรทั้งหลายมองว่า สมาคมรักบี้ไม่ได้ออกเงินสักเยนเดียวในการดึงผู้เล่นเหล่านี้เข้ามา จะเอาไปใช้งานฟรีๆได้อย่างไร?
อย่างไรก็ตาม สมาคมรักบี้ญี่ปุ่นผลักดันโครงการอย่างจริงจังถึงขั้นเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ในการดึงผู้เล่นต่างชาติมาเป็นนักกีฬาทีมชาติอย่างเต็มตัว และยอมที่จะเปิดโอกาสในการดึงเลือดเนื้อเชื้อไขของชาติอื่นมาเล่นในฐานะตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น
ปัญหาจากองค์ประกอบภายใน
ไม่ใช่แค่เรื่องของความไม่เป็นมืออาชีพเพียงอย่างเดียวที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องหันไปดึงชาวต่างชาติมาเป็นนักรักบี้ในประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนถึงปัญหาด้านประชากรในญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
นับตั้งแต่ยุค 1990s เป็นต้นมา อัตราการเกิดของเด็กชาวญี่ปุ่นมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องหากเทียบจากในอดีต ซึ่งส่งให้ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สถานะการเป็นสังคมผู้สูงอายุ
ในขณะที่กลุ่มประชากรตั้งแต่อายุ 0-65 ปีของสังคมญี่ปุ่นมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าสู่ยุค 90s จำนวนประชากรตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไปกลับสวนทางมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
พูดง่ายๆคือ ญี่ปุ่นสูญเสียทรัพยากรในวัยทำงานไปเรื่อยๆไม่ใช่แค่ตอนนี้ แต่รวมถึงการคาดการณ์ในอนาคตไปอีกหลายสิบปีเพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน ขณะที่คนวัยเกษียณกลับมีเพิ่มมากขึ้น เท่ากับว่ามีช่องว่างจำนวนมากที่ญี่ปุ่นต้องหาแรงงานทดแทนเข้ามาเพิ่มคนที่หายไปจากการเข้าสู่วัยชรา เพราะไม่สามารถให้กำเนิดคนญี่ปุ่นสายเลือดใหม่เข้ามาทดแทนตรงนี้
วิธีที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้มาแก้ไขปัญหาคือ การดึงชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน ไม่ต้องพูดถึงในแง่ของนักกีฬา แต่เราพูดถึงในแง่พนักงานบริษัททั่วไป เพราะญี่ปุ่นคือแหล่งเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของเอเชีย และต้องการแรงงานที่ฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจต่อไป
ดังนั้นแล้ว อัตราการเข้ามาของชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นย่อมมีเพิ่มขึ้น เท่ากับว่าทีมรักบี้ญี่ปุ่นในลีกพนักงานบริษัทย่อมต้องมีมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่มากขึ้นของชาวต่างชาติในเกมรักบี้ของญี่ปุ่น
แม้ว่าปัจจัยหลักของการดึงผู้เล่นต่างชาติมาเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นจะเป็นเรื่องของการพัฒนาลีกอาชีพ และดึงนักกีฬาอาชีพจากต่างประเทศเข้ามาเล่นมากกว่า แต่การเปิดรับคนต่างถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศ ช่วยให้ชาวญี่ปุ่นมีความรู้สึกคุ้นเคยกับคนต่างชาติในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น
ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเดินหน้าอย่างจริงจังกับนโยบายในการเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาทำงานที่ญี่ปุ่นเพื่อทดแทนแรงงานในประเทศ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากคนญี่ปุ่นจะมีความรู้สึกหวงแหนความเป็นชาติน้อยลง และสัมผัสได้ถึงตัวตนของคนต่างชาติในสังคมญี่ปุ่น
ทำผลงานดี ไม่มีใครกังขา
เมื่อมองถึงจำนวนประชากรที่ลดลง ญี่ปุ่นย่อมต้องการให้ประชากรในประเทศไปประกอบอาชีพที่ดีกับเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า หรือหากมองที่การเล่นกีฬา รัฐบาลญี่ปุ่นก็สนับสนุนเยาวชนให้ไปเล่นกีฬาอย่าง เบสบอล หรือ ฟุตบอล ที่สร้างชื่อเสียงของประเทศได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความรัฐบาลญี่ปุ่นจะทิ้งกีฬานี้ หลังจากตัดสินใจเอาจริงเอาจังกับการผลักดันรักบี้ ญี่ปุ่นสามารถสร้างความนิยมของเกมชนิดนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันการแข่งขันในระดับมัธยมศึกษา จนกลายเป็นที่ติดตาของคนญี่ปุ่น รวมถึงการใช้สื่อการ์ตูน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ มังงะ หรือ อนิเมะ มาช่วยโปรโมท เช่นเรื่อง All Out!!, Try Knights หรือ Number24 ก็ช่วยปลุกกระแสความชอบในกีฬารักบี้ของคนรุ่นใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ไม่มีวิธีไหนจะดึงผู้คนให้มาติดตามเกมรักบี้ไปมากกว่าการได้รับชัยชนะ ซึ่งญี่ปุ่นก็พยายามหาทางออกมาตลอด และหนึ่งในนั้น คือการนำผู้เล่นต่างชาติมาเป็นตัวแทนของประเทศ
เนื่องจากกฎของกีฬารักบี้ระดับนานาชาติสามารถเปิดโอกาสให้ผู้เล่นต่างชาติมาเล่นได้ หากผ่านเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น มีพ่อแม่ หรือ ปู่ย่า เป็นคนชาตินั้น, ย้ายมาอาศัยในประเทศนี้ ก่อนจะเป็นนักกีฬารักบี้ และเล่นรักบี้ในชาตินั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี (ในอดีต 3 ปี)
ด้วยกฎที่เปิดกว้างเช่นนี้ ทำให้ญี่ปุ่นย่อมไม่ปฏิเสธโอกาสการดึงผู้เล่นต่างชาติเข้ามาเป็นนักกีฬาของทีม อีกทั้งผู้เล่นเหล่านี้ล้วนมีประสบการณ์ต้องเข้ามาใช้ชีวิตในญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายปี ได้เรียนรู้วัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนในหมู่เกาะแห่งนี้
ช่วงแรกอาจจะมีเสียงต่อต้านจากการใช้ผู้เล่นต่างประเทศเพราะผลงานของทีมไม่ได้ดีเท่าไรนักและขัดกับความเป็นชาตินิยมของชาวญี่ปุ่น แต่เมื่อผลงานของทัพเบรฟ บลอสซัม แข็งแกร่งขึ้น มีผลงานเป็นรูปธรรม เสียงวิจารณ์ก็ค่อยๆเลือนหายไป
ไม่ว่าจะเป็นการคว้าแชมป์ Pacific Nations Cup ได้เป็นครั้งแรกในปี 2011 ก่อนจะคว้าแชมป์ได้อีก 2 ครั้งหลังจากนั้นในปี 2014 และ 2019
ขณะเดียวกัน ผู้เล่นต่างชาติค่อยๆยกระดับความแกร่งของทีมชาติญี่ปุ่นให้สามารถเอาชนะทีมระดับหัวแถวของวงการรักบี้ได้อย่างต่อเนื่อง
เริ่มต้นที่การถล่มทีมชาติเวลส์ 23-8 ซึ่งถือเป็นชนะทีมในระดับ “Tier 1” เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีของทีมชาติญี่ปุ่น หลังจากนั้น พวกเขาก็เก็บทีมดังๆมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ แอฟริกาใต้, อิตาลี, สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังพบกับความสำเร็จชิ้นโบว์แดง ด้วยการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 2019 และผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ความสำเร็จจากทัวร์นาเมนต์นี้ช่วยสร้างความนิยมอย่างรวดเร็วให้กับวงการรักบี้ญี่ปุ่น ดึงคนบนเกาะแห่งนี้ให้มาติดตามรักบี้มากขึ้นได้เป็นสองเท่าเลยทีเดียว
ชาตินิยมในอีกรูปแบบ
ผลงานที่ยอดเยี่ยม กระแสรักบี้บูมที่ตามมา ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เปิดรับผู้เล่นต่างชาติอย่างเต็มใจ เพราะความชาตินิยมของพวกเขา ไม่ได้หมายถึงการผูกพันกับคนญี่ปุ่นแท้เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความภาคภูมิใจกับความสำเร็จของชาติ การมีชื่อเสียงที่โด่งดัง ได้รับการยอมรับไม่แพ้ชาติอื่น
อีกทั้งผู้เล่นเหล่านี้ยังเล่นให้กับทีมชาติญี่ปุ่นอย่างเต็มที่สุดความสามารถ ถึงจะไม่ใช่เชื้อชาตินิฮงจิน แต่คนญี่ปุ่นสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณนักรบซามูไรในผู้เล่นเหล่านี้ที่พร้อมสู้เต็มที่เพื่อนำชัยชนะมาให้
“ฉันหวังว่าจะได้เห็นคนญี่ปุ่นแท้ๆเล่นในทีมมากกว่านี้ แต่ฉันรับได้ที่จะมีคนต่างชาติมาเล่น เพราะฉันรู้สึกว่าพวกเขาคือคนญี่ปุ่นเหมือนกัน”
“มันเหมือนช่วงสงครามเอเชียตะวันออก ที่คนเกาหลีและชาติอื่นๆมาสมัครร่วมรบเพื่อปกป้องแผ่นดินญี่ปุ่น” แฟนรักบี้หญิงชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งกล่าว
คนญี่ปุ่นไม่ได้เพียงยอมรับนักรักบี้ต่างชาติเท่านั้น แต่มีการยกให้ผู้เล่นต่างชาติอย่าง ไมเคิล ลีทช์ นักรักบี้ชาวนิวซีแลนด์แท้ๆขึ้นเป็นกัปตันทีมด้วย
เพราะญี่ปุ่นไม่ได้มองลีทช์เป็นชาวนิวซีแลนด์ แต่เห็นเขาเป็นคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง เนื่องจากผู้เล่นรายนี้ย้ายมาอยู่ที่ญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 15 ปี เล่นให้กับทีมชาติญี่ปุ่นมาตั้งแต่ชุดเยาวชน และที่สำคัญ ตัวของ ไมเคิล ลีทช์ เอง ไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แต่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเต็มตัว
“คนญี่ปุ่นเป็นโรคกลัวคนต่างชาติ ตอนแรกพวกเขาก็กลัวผม แต่ผมไม่ได้คิดแบบนั้น เราเป็นมนุษย์ มีกระดูก มีเลือดเนื้อเชื้อไขเหมือนกัน ผมยอมรับว่า ผมพยายามนำส่วนหนึ่งของความเป็นนิวซีแลนด์ในตัวมาใส่ในทีมที่มีวิถีทางของญี่ปุ่น”
“แต่ผมภูมิใจมากๆที่ได้เป็นกัปตันทีมชาติญี่ปุ่น นี่คือทีมที่มีความแตกต่างอย่างมากทางเชื้อชาติ” ไมเคิล ลีทช์ กล่าว
ถึงจะไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่นร้อยเปอร์เซนต์ แต่ผู้เล่นรักบี้ต่างชาติทุกคนก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคมญี่ปุ่นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทีมรักบี้ญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นว่า สังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่ไม่ได้ชาตินิยมตกขอบจนล้าสมัย แต่พร้อมเปิดรับวัฒนธรรมใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม
ฮิโรอากิ มูโตะ นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ได้เผยว่า ทีมรักบี้ญี่ปุ่นคือภาพสะท้อนของสังคมสมัยใหม่ ที่มีการเรียนรู้อารยธรรมจากต่างแดนเพื่อนำจุดเด่นที่เข้ากับประเทศญี่ปุ่นมาพัฒนาสังคมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“คนทำงานที่มาจากต่างประเทศ พวกเขามาจากวัฒนธรรมที่หลากหลายจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการปรับระบบการทำงานใหม่ เราต้องไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลง หากจะยกระดับญี่ปุ่น ให้อยู่ในมาตรฐานสากล” มูโตะ กล่าว
ขณะเดียวกัน โยอิจิ ชิมาดะ อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาวญี่ปุ่น ได้มองปรากฎการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์กันได้โดยไม่มีกรอบของคำว่าชาติมาคอยขวางกั้น
“นักรักบี้ญี่ปุ่นกว่าครึ่งทีมตอนนี้เป็นชาวต่างชาติ แต่มันน่าเหลือเชื่อมากที่พวกเขาทุ่มเทสู้เพื่อญี่ปุ่นขนาดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก”
“ผมมองว่านี่เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนกับการแสดงให้เห็นว่าผู้เล่นรักบี้ไม่จำเป็นต้องเป็นชาวญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียวเหมือนที่สื่ออนุรักษ์นิยมพยายามปั่นข่าว พวกเขาร้องเพลงชาติญี่ปุ่นอย่างภาคภูมิใจก่อนการแข่งขันทุกครั้ง” โยอิจิ ชิมาดะ กล่าว
สุดท้ายแล้ว ความหมายของคำว่า ชาตินิยม ในสายตาของคนญี่ปุ่นยุคใหม่ จึงไม่ได้ยึดติดกับเรื่องเชื้อชาติหรือความคิดเดิมๆที่ล้าหลัง หากแต่ชาตินิยมของพวกเขามองถึงผลดี ผลพลอยได้ที่จะตามมากับการเปิดรับคนต่างชาติที่จะช่วยเข้ามายกระดับผลงานของประเทศญี่ปุ่นให้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต
และท้ายที่สุด เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความสำเร็จนั้นไม่ได้มีบัญญัติไตรยางค์ที่ตายตัว คนญี่ปุ่นอาจเคยมีความคิดว่าเลือดรักชาติหรือความอนุรักษ์นิยมของพวกเขานำไปสู่ความสำเร็จมากมาย แต่ความจริงแล้ว สูตรสำเร็จเปลี่ยนแปลงได้เสมอโดยไม่ต้องยึดติดกับชุดความคิดและวิธีการเดิมๆ
กีฬารักบี้ จึงกลายเป็นภาพแทนในรูปแบบหนึ่งเท่านั้น กับการแสดงให้เห็นถึงญี่ปุ่นโฉมใหม่ที่พร้อมเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม และพร้อมเดินหน้าไปด้วยกันเพื่อความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่น