ไลฟ์การ์ดสระโอลิมปิก : อาชีพที่ไม่ได้ "ตลกและไร้ประโยชน์" อย่างที่ใครคิด

Home » ไลฟ์การ์ดสระโอลิมปิก : อาชีพที่ไม่ได้ "ตลกและไร้ประโยชน์" อย่างที่ใครคิด
ไลฟ์การ์ดสระโอลิมปิก : อาชีพที่ไม่ได้ "ตลกและไร้ประโยชน์" อย่างที่ใครคิด

ภาพไลฟ์การ์ดสระว่ายน้ำ ในการแข่งขันโอลิมปิกนั่งเหงาๆ กลายเป็นไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้นัดหมาย

พร้อมแคปชันที่ว่า “หากคุณกำลังรู้สึกว่าชีวิตคุณไร้ค่า เราอยากให้คุณดูสีหน้าของไลฟ์การ์ดคนนี้ก่อน” 

“สอนจระเข้ว่ายน้ำ” คือคำพังเพยที่สามารถเอามาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์นี้ได้ทันที ในความขำว่า จะมีไลฟ์การ์ดไปทำไม? นี่มันนักว่ายน้ำระดับโลกเลยนะ

และก่อนที่คุณจะเข้าใจผิดไปไกลว่าอาชีพไลฟ์การ์ดสระว่ายน้ำโอลิมปิกนั้นเปล่าประโยชน์ เราจะพาไปดูว่าแท้จริงแล้วพวกเขาสำคัญขนาดไหน? 

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ Main Stand

ไลฟ์การ์ดไม่ใช่อาชีพตลก 

ไลฟ์การ์ด อาจจะเป็นอาชีพที่คนไทยไม่ได้คุ้นเคยมากนัก เพราะโดยวัฒนธรรมแล้ว บ้านเราไม่ค่อยมีสระว่ายน้ำที่มีราคาเหมาะกับค่าใช้จ่ายของคนไทยมากนัก แม้จะพอได้ใช้เวลากับการว่ายน้ำบ้าง แต่การที่เราจะเห็นไลฟ์การ์ดนั่งอยู่บนเก้าอี้สูงคอยดูความเรียบร้อยเหมือนกับในหนังฝรั่ง จึงเป็นภาพที่หาดูได้ยากสักหน่อย 

ในหนังฝรั่ง มักจะสะท้อนภาพของไลฟ์การ์ดที่ออกแนวเพี้ยนๆหน่อย เน้นไปที่เรื่องตลกเสียเป็นส่วนมาก อย่างไรก็ตาม อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สำคัญมากสำหรับสระว่ายน้ำระดับมาตรฐาน และไม่ใช่ว่าใครจะมาทำงานตรงนี้ก็ได้ และไม่ใช่แค่ว่ายน้ำเป็นในระดับที่ไม่จมน้ำตายเท่านั้น มันยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายในอาชีพนี้

1เมื่อเราลองค้นคว้าข้อมูลในประเทศต่างๆ ดูจะพบว่าการทดสอบเพื่อรับใบประกาศเป็น “ไลฟ์การ์ดอาชีพ” มีหลักสูตรที่แทบจะคล้ายกันหมด ในกรณีนี้ทางผู้เขียนเช็กกับเว็บไซต์ไลฟ์การ์ดของสหราชอาณาจักรอย่าง www.rlss.org.uk และในประเทศสหรัฐอเมริกาจากเว็บไซต์ usamanagement.com โดยขั้นตอนการทดสอบมีดังนี้

– กระโดดและว่ายในน้ำลึก (Jump/dive into deep water)
– ว่ายน้ำในระยะ 50 เมตร ให้ได้เวลาน้อยกว่า 60 วินาที
– ว่ายน้ำในระยะ 100 เมตร ได้แบบต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นน้ำตื้นหรือน้ำลึก
– ทรงตัวในน้ำได้มากกว่า 30 วินาที (คล้าย ๆ กับท่าพื้นฐานของระบำใต้น้ำ) 
– สามารถดำน้ำได้ถึงก้นสระ

2นี่แค่ทักษะทางการว่ายน้ำเท่านั้น การเป็นไลฟ์การ์ดยังต้องมีคุณสมบัติมากกว่านี้อีก เพราะพวกเขาต้องมีทักษะการช่วยชีวิต และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยต้องมีใบรับรองจากศูนย์ฝึกการช่วยชีวิตอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณต้องมีก่อนจะเป็นไลฟ์การ์ด โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา รายรับของอาชีพไลฟ์การ์ดต่อปีโดยเฉลี่ยของ 50 รัฐทั่วประเทศ อยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ล้านบาท หากคิดเป็นชั่วโมงจะมีรายได้ชั่วโมงละ 12 ดอลลาร์ หรือราว 400 บาทนั่นเอง 

แม้อาจจะดูไม่ใช่ค่าตอบแทนที่สูงมากมายนัก (ซึ่งก็มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของบางประเทศแล้ว) แต่ก็ต้องมองว่าอาชีพไลฟ์การ์ดนั้นมีชั่วโมงการทำงานที่ไม่ยาวนานเท่ากับงานนั่งโต๊ะหรืองานออฟฟิศ แต่หากมองที่รายได้สูงสุดต่อวันในกรณีที่ไลฟ์การ์ดสระว่ายน้ำทำงานตั้งแต่สระเปิดจนถึงช่วงเวลาสระปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ชั่วโมง พวกเขาจะได้เงินทั้งหมด 96 ดอลลาร์ หรือราวๆ 3,200 บาทต่อ 1 วัน 

3ตอนนี้คุณเริ่มเข้าใจแล้วว่า อาชีพนี้ไม่ได้มีหน้าที่แค่นั่งบนเก้าอี้สูงแล้วคอยตะโกนเตือนเด็กๆที่เล่นซนเหมือนกับในหนังฝรั่งแล้ว นี่คืออาชีพที่มีความรับผิดชอบสูงมากหากเทียบกับเงินที่ได้ พวกเขาต้องสอดส่องดูทุกสถานการณ์ในสระว่ายน้ำที่ดูแล และต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้แทบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจมน้ำ ลื่นล้ม หัวแตก กระดูกหัก หัวใจวาย หรือแม้กระทั่ง ไฟช็อต  

ดังนั้น เราจะขยับประเด็นมาที่เรื่องของสระว่ายน้ำในโอลิมปิกที่เต็มไปด้วยนักกีฬาที่ฝึกซ้อมว่ายน้ำมาตลอดชีวิต จนไม่ต้องนึกภาพตามก็คงจะรู้ว่าพวกเขาแทบไม่มีโอกาสจะจมน้ำตาย เพราะสามารถเอาตัวรอดได้แน่ๆ

อ้าว แล้วจะมีไลฟ์การ์ดในสระว่ายน้ำระดับโอลิมปิกไปเพื่ออะไรกันล่ะ?

จะไปสอนจระเข้ว่ายน้ำเพื่อ? 

แมทธิว สแตนลี่ย์ นักว่ายน้ำทีมชาตินิวซีแลนด์ ยอมรับว่าตัวเขาเองก็แปลกใจเหมือนกัน ไม่คิดว่าจะมีไลฟ์การ์ดคอยระแวดระวังให้ ในการแข่งขันระดับโอลิมปิก เพราะเขามองมันเป็นเรื่องขำขัน

“การเห็นไลฟ์การ์ดที่สระว่ายน้ำระดับโอลิมปิกถือเป็นเรื่องตลกระดับต้นๆตั้งแต่ผมมาแข่งขันเลย พวกคุณเคยไปบาหลีไหมล่ะ? ไลฟ์การ์ดที่โอลิมปิกทำหน้าที่เหมือนกับไลฟ์การ์ดที่บาหลีเลย พวกเขานั่งบนหอคอยไป จิบเบียร์ไปตลอดทั้งวัน จนกว่าจะมีใครเข่าทรุดเพราะโรคหัวใจกำเริบนั่นแหละพวกเขาถึงจะลงมา” แมทธิว กล่าว 

4มันน่าตลกดีที่เห็นไลฟ์การ์ดนั่งเหม่อลอยคอยดูการแข่งขันว่ายน้ำโอลิมปิก มันดูเหมือนกับว่าพวกเขาจะได้เงินฟรีๆ และกลับบ้านไปแบบที่ไม่ต้องทำอะไรให้เหนื่อย คล้ายว่าจะเป็นงานในอุดมคติแบบที่ “ทำน้อยได้เยอะ” และเป็นงานที่คุณอาจจะคิดว่า “ไม่ต้องมีก็ได้”.. แต่เชื่อเถอะ ความจริงแล้วไลฟ์การ์ดคือบุคลากรในแบบที่ต้องใช้ปากกาเน้นคำเลยว่า “ต้องมี”

ในการแข่งขันระดับโอลิมปิกคงไม่มีนักกีฬาคนไหนจมน้ำแน่ แต่ไลฟ์การ์ดก็ต้องเฝ้าและทำหน้าที่อยู่ เพราะอย่างแรกเลย “มันคือกฎ”

ในโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ หรือแม้กระทั่งโอลิมปิกที่โตเกียวในปีนี้ ต่างก็มีกฎที่ว่า สระว่ายน้ำขนาดใหญ่ทุกที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือไลฟ์การ์ดคอยประจำการเสมอ ดังนั้น ไม่ว่าจะจำเป็นหรือไม่ คนที่อยู่ในสระจะโคตรเก่งขนาดไหน แต่ไลฟ์การ์ดก็ต้องห้ามทิ้งหน้าที่ หรือต่อให้ต้องมานั่งเหมือนเป็นอากาศธาตุก็ต้องทำ 

อย่างไรก็ตาม แคปชันเด็ดที่เป็นไวรัลด้วยประโยคที่ว่า “ถ้าคุณรู้สึกไร้ค่า คุณจงดูสีหน้าของไลฟ์การ์ดที่สระว่ายน้ำโอลิมปิกก่อน” แม้จะทำให้หลายคนตลก แต่สำหรับคนที่ทำอาชีพนี้จริงๆกลับรู้สึกคับข้องหมองใจพอสมควร จนเจ้าตัวต้องออกมาอธิบายด้วยตัวเองว่า ไลฟ์การ์ดที่สระว่ายนํํ้าโอลิมปิกต้องทำอะไรบ้าง? 

เขาคือ เจมส์ เมเยอร์ ไลฟ์การ์ดอาสาสมัครชาวอเมริกัน ที่ทำหน้าที่ในโอลิมปิกมาตั้งแต่ปี 2008 จนกระทั่งปี 2021 ครั้งนี้ก็ยังทำหน้าที่อยู่ ตัวของ เจมส์ บอกว่า คนดูอาจจะเห็นแค่ตอนที่นักว่ายน้ำระดับโลกลงไปอยู่ในน้ำ แต่สำหรับไลฟ์การ์ด พวกเขาคืออาชีพที่เสียสละมาก ต้องมาทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนใครเพื่อน พวกเขาไม่ได้มาแค่เฝ้านักว่ายน้ำเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องช่วยดูแลฝ่ายจัดการแข่งขัน พนักงานทำความสะอาด และทุกๆคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแข่งขันด้วย 

5“ไม่ใช่แค่นักกีฬาแบบที่พวกคุณเข้าใจหรอกนะ แต่มีกลุ่มคนนอกและทำหน้าที่ต่างๆอีกมากมายที่ต้องใช้สระว่ายน้ำนี้ตั้งแต่ช่วงรอบคัดเลือกจนกระทั่งรอบชิงชนะเลิศ พวกเราก็ต้องทำหน้าที่คอยช่วยเหลือพวกเขาทุกอย่างนั่นแหละ เราไม่เคยต้องช่วยนักกีฬา อันนี้ผมยอมรับ แต่ถ้าช่วยชีวิตคนที่ทำหน้าที่อื่นๆที่สระว่ายนํ้าโอลิมปิกล่ะก็ แน่นอนที่สุด ผมทำมาหลายรอบแล้ว” เจมส์ เมเยอร์ กล่าว

ส่วนใครที่มองว่าอาชีพของพวกเขาไร้ค่าหรือมองไปในทิศทางตลกเชิงดูถูก เจมส์ ยอมรับว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อาชีพไลฟ์การ์ดในสระโอลิมปิกจะโดนตั้งข้อสงสัยแบบนั้น ตัวของเขาเองก็เคยโดนพูดถึงแบบนี้มาหลายรอบแล้ว และเขาตอบกลับด้วยคำพูดที่พระเอกสุดๆเสมอมาว่า 

“เวลามีใครมาถามผมว่า ‘คุณจะไปเฝ้าสระว่ายน้ำที่เต็มไปด้วยนักว่ายน้ำระดับโลกไปทำไม? เฝ้าไปคุณก็ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้เจอหน้าพวกเขาหรอก’.. ผมเลยตอบพวกเขาไปว่า ‘ไม่ต้องเจอผมนี่แหละดีแล้ว'” เจมส์ ว่าต่อ 

“ไลฟ์การ์ด ก็เหมือนพนักงานดับเพลิง หน้าที่และเป้าหมายของพวกเราคือการทำงานของตัวเองอยู่เบื้องหลัง อย่าเจอผมเลยดีแล้ว เพราะถ้าพวกคุณเห็นหน้าพวกเราออกโทรทัศน์ นั่นหมายความว่ามันมีเรื่องแย่ๆเกิดขึ้น” 

“เราต้องทำหน้าที่นั้นบนความเสี่ยงที่เยอะมาก หากวันใดที่มันเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจริงๆ และพวกเราชาวไลฟ์การ์ดเกิดทำอะไรที่ผิดพลาดขึ้นมา เรื่องทั้งหมดจะจบลงบนยูทูบและทัวร์ลงอย่างไม่ต้องสงสัย”

6ในปี 2012 ชายผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลสระว่ายน้ำในโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน เกิดอาการหัวใจวายและล้มลงกับพื้น.. เขาไม่เสียชีวิตและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันเวลา ต่อมาก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยคุณหมอให้คำชมว่าทีมปฐมพยาบาลทำหน้าที่ได้ดีมาก คุณลองเดาดูสิว่า ใครเป็นคนปฐมพยาบาลชายคนนั้น? 

“พวกเราชาวไลฟ์การ์ดก็หวังว่าเราจะไม่ต้องทำอะไรที่มันโดดเด่นในการแข่งขันหรอก แต่เชื่อเถอะว่าเราสามารถทำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเวลานั้นมาถึงจริงๆ.. เราเตรียมตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ ถ้าคุณคาดหวังว่าพวกเราจะไปนั่งเฉยๆแบบในมีมก็เสียใจด้วย ด้วยหน้าที่ เราทำแบบนั้นไม่ได้หรอก” ไลฟ์การ์ดที่ทำอาชีพนี้มา 26 ปี ในรูปแบบของอาสาสมัคร กล่าวทิ้งท้ายได้อย่างครบประเด็น 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ