ไลท์เวต : รุ่นน้ำหนักที่กำลังเข้าสู่ยุคทองและแบกความหวังวงการมวยโลก

Home » ไลท์เวต : รุ่นน้ำหนักที่กำลังเข้าสู่ยุคทองและแบกความหวังวงการมวยโลก
ไลท์เวต : รุ่นน้ำหนักที่กำลังเข้าสู่ยุคทองและแบกความหวังวงการมวยโลก

“มวยรุ่นเฮฟวี่เวต มันน็อกกันง่าย คนที่ดูเลยติดภาพจำนั้น แต่คุณคอยดูรุ่นไลท์เวตให้ดีเถอะ ตอนนี้คือรุ่นน้ำหนักที่เต็มไปด้วยสุดยอดนักชกที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดแล้ว”

ไมค์ ไทสัน อดีตแชมป์โลกเฮฟวี่เวตผู้ยิ่งใหญ่แสดงถึงทรรศนะของมวยรุ่นน้ำหนักที่เขาเชื่อว่าจะสนุกและมีคุณภาพที่สุดในยุคนี้ นั่นคือ “ไลท์เวต” 

สำหรับนักชกที่หนักไม่เกิน 135 ปอนด์ อาจจะไม่ได้เห็นการน็อกเอาต์กันบ่อย แต่ในดิวิชั่นน้ำหนักนี้คือศูนย์รวมความมันที่รวมนักชกดีกรีแชมป์ไว้มากมาย 

และนี่คือเรื่องราวที่ทำให้คุณไม่อยากพลาดมวยรุ่นน้ำหนักนี้

ยักษ์เล็ก ไล่ยักษ์ใหญ่ 

ไลท์เวต คือชื่อของรุ่นน้ำหนัก 1 ใน 8 รุ่นหลัก โดยกำหนดน้ำหนักไว้ระหว่าง 130-135 ปอนด์ (59-61.2 กิโลกรัม) จากน้ำหนักที่กล่าวมาค่อนข้างเห็นได้ชัดว่านี่คือมวยรุ่นเล็กค่อนไปทางกลาง ที่สปอตไลท์ไม่ค่อยส่องมาทางนี้มากมายนักจนกระทั่งมาพีคสุด ๆ ในช่วงยุค 80s 

อย่างที่ ไมค์ ไทสัน ได้กล่าวไว้ “มวยรุ่นเฮฟวี่เวต มันน็อกกันง่าย คนที่ดูเลยติดภาพจำนั้น” นี่คือความจริงที่ว่าทำไมมวยรุ่นยักษ์ถึงถูกใจคนดูและถูกพูดถึงมากกว่ารุ่นอื่น ๆ โดยพื้นฐานของคนดูมวยนั้น สิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากการดูคือการได้เห็นนักมวยซัดกันหนัก ๆ ต่อยกันทีหน้าโยก ล้มลงไปกองให้โดนนับสิบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เห็นได้ง่ายที่สุดในรุ่นเฮฟวี่เวต เพราะน้ำหนักหมัดผันแปรไปตามน้ำหนักตัว โดนทีเป็นหลับได้ง่าย ๆ 

นอกจากความหนักหน่วงถูกจริตคอมวยแล้ว เฮฟวี่เวต ยังเป็นศูนย์รวมนักชกที่มีเสน่ห์และมีชื่อเสียงมาตลอด ไล่มาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มในช่วง ยุค 1920s จาก แจ็ค เดมพ์ซี่ย์ ส่งต่อมายัง โจ หลุยส์, ร็อคกี้ มาร์เซียโน่, มูฮัมหมัด อาลี, โจ เฟรเซียร์, จอร์จ โฟร์แมน, อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ และ ไมค์ ไทสัน ในช่วงยุค 1990s 

นักมวยทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่แค่ชกเก่ง แต่ยังมีวิธีชกที่ดูสนุกด้วย พวกเขาเป็นมวยบู๊ต่อยมัน แม้จะเป็นรุ่นยักษ์ แต่ก็มีความเร็วและออกหมัดบ่อย อีกทั้งเรื่องของชื่อเสียงนอกสนามในระดับซูเปอร์สตาร์ และมีอิทธิพลแง่มุมอื่น ๆ ของโลก พวกเขาทั้งหมดจึงเป็นภาพจำที่ทำให้มวยรุ่นเฮฟวี่เวตนั้นเป็นรุ่นที่ไร้เทียมทานที่สุด และทิ้งให้มวยรุ่นน้ำหนักอื่น ๆ กลายเป็นพระรองไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

จนกระทั่งเมื่อถึงยุค 1980s มวยรุ่นไลท์เวต ของคนน้ำหนักเบาก็ถูกมองในมุมใหม่ เมื่อเกิด “สตาร์” ตัวจริงของรุ่นไลท์เวตอย่าง โรแบร์โต้ ดูรัน เจ้าของฉายา “ไอ้หมัดหินแห่งปานามา” ที่ทำสถิติป้องกันแชมป์ได้ถึง 12 ครั้ง และทำให้ ดูรัน กลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก แม้กระทั่งคนไม่ดูมวยก็ยังร้องอ๋อได้ง่าย ๆ เมื่อได้ยินชื่อของเขา

วิธีชกของ ดูรัน มีชั้นเชิง หนักหน่วง ที่สำคัญคือต่อยสนุกได้ใจคนดู ซึ่งเมื่อมีความสนุกนำหน้าแล้ว คนดูอย่างเราก็จะอยากดูมันอย่างตั้งใจมากขึ้น จากนั้นโลกจึงได้เห็นเสน่ห์ของมวยรุ่นไลท์เวตหรือรุ่นกลาง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของเทคนิค ที่แสดงออกมามากกว่ารุ่นน้ำหนักอื่น ๆ ด้วยความที่รุ่นนี้ถือเป็นรุ่นน้ำหนักกลาง ๆ เทียบเท่ากับผู้ชายทั่วไปส่วนใหญ่ มันมองเห็นภาพอะไรได้หลายอย่าง ทั้งความเร็ว การชิงจังหวะ ฟุตเวิร์ก และเทคนิคการชกที่ต้องแม่นยำจริง ๆ เพราะนักมวยทั้งคู่มีเป้าให้ชกน้อยมากตามน้ำหนักตัว ดังนั้นนี่คือความสนุกอีกแบบที่ต่างจากรุ่นเฮฟวี่เวต ซึ่งไม่จำกัดน้ำหนัก ไม่มีการเพิ่มน้ำหนัก ไม่มีการลดลงมาเพื่อชกในรุ่นที่เล็กกว่า 

จาก ดูรัน มวยรุ่นเล็กค่อนไปทางกลางเริ่มฉายแววมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคต่อมา ไม่ว่าจะเป็น ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ, ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า, ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ และ แมนนี่ ปาเกียว ก็ถือว่าเป็นดาวเด่นที่ผ่านรุ่นน้ำหนักนี้กันมาแล้วทั้งสิ้น นักชกที่มีชื่อเสียงเหล่านี้นำมาซึ่งความสนุกในเชิงกลยุทธ์ บางคนเป็นมวยบ็อกเซอร์ บางคนเป็นไฟเตอร์ ยิ่งในยุคที่มีนักชกเก่ง ๆ มากระจุกกันอยู่ในรุ่นนี้ แถมนักชกแต่ละคนก็ดังในวงกว้าง จึงทำให้ไลท์เวตเป็นรุ่นน้ำหนักที่น่าสนใจ และกลายเป็นที่นิยมไม่แพ้รุ่นเฮฟวี่เวตเลยด้วยซ้ำ 

ยุคนี้ยิ่งเห็นภาพชัด เพราะมวยรุ่นเฮฟวี่เวต กระแสตกลงไปมาก เพราะสตาร์ระดับเขย่าโลกนั้นปรากฏตัวให้เห็นน้อยเหลือเกิน ไล่มาตั้งแต่ช่วงยุค 2000s ก็เป็น 2 พี่น้อง วลาดิเมียร์ และ วิตาลี่ คลิตช์โก้ จาก ยูเครน ที่ถึงแม้จะคว้าเข็มขัดมาครองได้แต่ก็ไม่สามารถตีตลาดมวยอเมริกันแตก จนทำให้กระแสดรอปลงไปมาก ขณะที่ยุคต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่แตกต่างกันนัก การชิงแชมป์วนไปวนมาอยู่ 3 คนหลัก ๆ ได้แก่ แอนโธนี่ โจชัว, ดีออนเต้ ไวล์เดอร์ และ ไทสัน ฟิวรี่ เท่านั้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทั้งหมดยังไม่สามารถสร้างชื่อเสียงเทียบชั้นตำนานรุ่นยักษ์ยุคเก่า ๆ ได้เลย 

ช่วงขาลงของรุ่นใหญ่ ก็กลายเป็นยุคทองของรุ่นเล็กค่อนไปทางกลางในทันที ปาเกียว กับ ฟลอยด์ ต่อยกันหนึ่งครั้งกวาดค่าถ่ายทอดสดและค่าเพย์เพอร์วิวไประดับสถิติโลก (ถึงคู่นี้จะเจอในพิกัดที่ใหญ่กว่าอย่าง เวลเตอร์เวต 140-147 ปอนด์ หรือ 63.5-66.6 กิโลกรัมก็ตาม) นักชกทั้ง 2 คนได้เงินเข้ากระเป๋ากันคนละมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งคู่ทำในสิ่งที่นักชกอย่าง ไมค์ ไทสัน หรือตำนานมวยเฮฟวี่เวตในยุคก่อน ๆ ทำได้ นั่นคือการสร้างชื่อจนคนที่ไม่ดูมวยยังรู้จัก จุดนี้เองที่ทำให้กระแสนิยมของโลกเปลี่ยนไป มวยรุ่นเล็กถึงกลาง ที่มียอดฝีมือเต็มไปหมด กลายเป็นที่ต้องตาถูกใจของคอมวยทั่วโลก

ช่วงเวลาทั้งหมดถูกต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่นักชกรุ่นเฮฟวี่เวตท้ากันเป็นปี ๆ กว่าจะได้ต่อยกันจริง ๆ (แถมบางทีท้าแล้วไม่ต่อยกันเสียทีก็มี) แต่กลับมีมวยรุ่นที่มีนักชกเก่ง ๆ เกิดขึ้นมามากมาย และเมื่ออัตราการแข่งขันสูง มวยรุ่นเล็กจึงไม่เน้นคุยโวโอ้อวดกันมากนัก มีโอกาสชกต้องชก มีผู้ท้าชิงเข้ามาต้องรับ … รุ่นน้ำหนักที่กล่าวถึงคือ “ไลท์เวต” รุ่นน้ำหนักที่เต็มไปด้วยของจริง ที่สื่อต่าง ๆ ยกให้เป็นรุ่นนำหนักที่มีความมันและเอนเตอร์เทนคนดูได้มากที่สุดในเวลานี้ 

 

รวมเทพที่เข้มข้นที่สุด

“ไลท์เวตคือรุ่นน้ำหนักที่แม่งโคตรจะมันยกร่องจริง ๆ ในตอนนี้ ผมบอกเลยว่ารุ่นน้ำหนักนี้คือเบอร์ 1 ของวงการมวย แซงหน้า มิดเดิ้ลเวต และ เฮฟวี่เวต ไปเรียบร้อย” ไมค์ ไทสัน เพิ่งกล่าวประโยคนี้ไปเมื่อเดือน มีนาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา 


Photo : instagram.com/boxingscience/

สิ่งที่ทำให้ ไอออน ไมค์ ยอมรับมวยรุ่นกลางค่อนไปทางเล็กนี้มีหลายประการ เหตุผลของแรกที่มันเป็นเช่นนั้น เพราะนี่คือ “ยุคทอง” ของไลท์เวตอย่างแท้จริง พวกเขามีนักชกระดับแชมป์โลกที่ติดอันดับนักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ในระดับท็อป 10 ถึง 5 คน โดยนักชกทั้ง 5 นี้ได้รับการบรรยายสรรพคุณจากเว็บไซต์ Boxing Science ไว้อย่างน่าสนใจว่า 

เตโมฟิโอ โลเปซ – นักชกชาวอเมริกันที่มีรูปร่างแข็งแกร่ง มีพละกำลังทำลายล้างสูง สามารถใช้หมัดน็อกคู่แข่งได้จากฮุคซ้ายที่เป็นอาวุธประจำตัว จนถึงตอนนี้เขามีสถิติชนะน็อกถึง 75% และยังคงไร้พ่าย แถมยังเป็นแชมป์โลก 3 สถาบัน WBA, WBO, IBF

วาซิลี่ โลมาเชนโก้ – อดีตนักชกเหรียญทองโอลิมปิก และอดีตนักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ จากประเทศยูเครน ตัวของ โลมาเชนโก้ นั้นแตกต่างจาก 2 พี่น้อง คลิตช์โก้ ที่เคยเป็นแชมป์เฮฟวี่เวต คือเขามีคาแร็กเตอร์ที่ขายได้ และมีคนรอดูมากกว่า แม้กระทั่งแฟนมวยอเมริกันก็ตาม เหตุผลเพราะเทคนิคที่เขามี การเป็นมวยเชิงที่ร้ายกาจ มีเล่ห์เหลี่ยม มีการวางกับดักคู่ชก และอ่านจังหวะเร่งเครื่อง ผ่อนเครื่องได้อย่างเชี่ยวชาญ จนทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในคนที่ยากจะเอาชนะที่สุด แม้เพิ่งเสียท่าให้ เตโอฟิโม โลเปซ มาก็ตาม

ไรอัน การ์เซีย – นักชกอายุน้อยผู้มีสถิติไร้พ่ายชาวอเมริกัน จุดเด่นคือความเร็วและความหนักที่มาเท่า ๆ กัน ทำได้ดีทั้งสองแบบ แม้เทคนิคจะไม่เทียบเท่าคนอื่น ๆ แต่ก็แลกมาซึ่งความห้าวดูสนุกถึงใจคนดู เหนือสิ่งอื่นใด ไรอัน การ์เซีย เป็นมวยหิวแสงเสียด้วย เขาเรียกกระแสด้วยการให้สัมภาษณ์ ท้าทาย และมีคาแร็กเตอร์แบบสตาร์ ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกคนที่กำลังได้รับการยกย่องว่าจะกลายเป็นยอดมวยของโลกในเร็ววัน 

เดวิน ฮานี่ย์ – แชมป์โลกไร้พ่ายของ WBC เจ้าของฉายา “เดอะ ดรีม” นักชกอายุน้อยแต่แท็คติกร้อยเล่มเกวียน สามารถเลือกต่อยได้ทั้งแบบใช้ทักษะและเทคนิค หรือจะให้ต่อยเอามันก็ยังได้ ผลงานที่ทำให้เขามีชื่อเสียงคือการเอาชนะ ยูริออร์คิส แกมบัว นักชกเหรียญทองโอลิมปิก แบบที่ตัวของเขาไร้รอยขีดข่วน สิ่งที่ทำให้เขาอันตรายสำหรับนักชกคนอื่น ๆ ในรุ่นคือความเร็วของหมัด ที่เลือกปล่อยหมัดได้ภายในพริบตาเดียว 

เจอร์วอนเท เดวิส – “ไอ้รถถัง” เด็กปั้นของ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ คนที่ ฟลอยด์ ชมมาแต่ไหนแต่ไรว่านี่คือเด็กอัจฉริยะ ที่มีจุดเด่นคือน้ำหนักหมัดทั้ง 2 ข้าง ในแบบที่ “เอาน็อก” ได้ง่าย ๆ หมัดสร้างชื่อของเขาคือการใช้อัปเปอร์คัตซ้ายในการคว่ำ ลีโอ ซานตา ครูซ เมื่อปี 2020 จนทำให้เจ้าตัวสะสมสถิติไร้พ่าย แถมชนะ KO ได้ถึง 96% เรียกได้ว่าขึ้นเวทีเมื่อไหร่น็อกคู่แข่งเมื่อนั้นก็คงไม่ผิดนัก 

นอกจาก 5 ดาวเด่นที่กล่าวมา ยังมีนักชกที่พร้อมขึ้นเบียดพวกเขาเหล่านี้ และมีฝีมือระดับสูสีกันอีกไม่ต่ำกว่า 5 คน ทั้ง ชาเคอร์ สตีเวนสัน แชมป์โลกจากรุ่นเฟเธอร์เวตที่น่าจะข้ามรุ่นน้ำหนักเพื่อเก็บชื่อเสียงและเงินทองในรุ่นไลท์เวตเร็ว ๆ นี้, จอร์จ คัมโบโซส จูเนียร์ จากออสเตรเลีย, ลุค แคมป์เบลล์ ที่ “เกือบ” เป็นแชมป์โลกแบบหวิดไปหวิดมาใน 3 ไฟต์หลังสุด รวมถึง ฮอร์เก้ ลินาเรส นักมวยวัยเก๋าจากเม็กซิโก 

ความเก่งคือเรื่องที่คอมวยยุคนี้ยอมยกนิ้วให้ว่า ไลท์เวต คือการรวมพลของสตาร์ที่มากกว่ารุ่นน้ำหนักอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในวงการมวยนั้น “เก่งอย่างเดียวไม่พอ” ต้องเข้าไปอยู่ในใจคนดูให้ได้ ไม่ว่าจะในแง่ลบหรือแง่บวกก็ตาม พวกเขาต้องทำให้คนดูรู้สึกไม่อยากพลาดในเวลาที่พวกเขาขึ้นชก เปรียบเทียบง่ายที่สุด คือ 2 พี่น้องยูทูบเบอร์อย่าง โลแกน และ เจค พอล ที่ทำเงินมหาศาลหลังเริ่มมาทำคอนเทนต์เกี่ยวกับมวย และขึ้นชกกับนักชกอาชีพ โดยเฉพาะในรายของ โลแกน นั้น เพิ่งทำเงินมหาศาลจากการชกกับ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ (แม้จะเป็นการชกโชว์ไม่มีผลตัดสิน) มา

และมวยรุ่นน้ำหนักไลท์เวตนี้ต้องเอาโมเดลของ 2 พี่น้องยูทูบเบอร์มาปรับใช้ให้ได้ แม้ว่าพวกเขาจะต้องลบล้างความเชื่อเก่า ๆ ของวงการมวยที่พวกเขาถูกสอนมาเสมอก็ตาม

 

RUN วงการ 

5-6 ปีหลังมานี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวงการมวยซบเซาลงไปมาก สาเหตุหลัก ๆ คือไม่มีมวยแม่เหล็กที่เรียกคนดูได้เหมือนก่อน ซึ่งจุดนี้เหล่านักมวยก็คงต้องโทษตัวเองและโปรโมเตอร์ของพวกเขาด้วย นั่นคือการห่วงเรื่องสถิติมากเกินไป พวกเขาไม่อยากแพ้ จนไม่ยอมขึ้นชกกับคนเก่ง ๆ และนั่นคือการเสียโอกาส เพราะสำหรับนักมวยนั้น ร่างกายของพวกเขามีอายุการใช้งานจำกัด หากปล่อยให้เวลาผ่านไป มัวแต่ท้ากัน แต่ไม่ยอมชกกันเสียที เมื่อถึงเวลาขึ้นชกกันจริง ๆ ก็กลายเป็นมวยที่ไร้ความสดและทำให้ความอยากดูของแฟน ๆ ลดลง 

ความเชื่อนี้น่าจะเกิดจาก ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ที่ใช้คำว่า “นักชกไร้พ่าย” เรียกคนดูจนทำเงินมากมาย แม้จะชกเพียงปีละไฟต์ หรือ 2 ปีไฟต์ก็ตาม ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้อย่าง ฟลอยด์ เพราะตัวของ ฟลอยด์ เองก็ผ่านช่วงเวลาสร้างชื่อเสียงทั้งในและนอกสังเวียน จนทำให้กาลเวลาไม่มีผลกับความอยากชมของคนดู คนที่ชอบเขาก็อยากเห็นเขาชกชนะ และคนที่เกลียดเขาก็อยากเห็นเขาที่มั่นหน้าเป็นฝ่ายแพ้ นั่นเองที่ทำให้ ฟลอยด์ ขึ้นเวทีทีไรก็โกยเงินกลับบ้านเต็มกระเป๋าทุกครั้ง แม้หลายครั้งจะถูกหาว่าเป็นมวยปาหี่ก็ตาม 

ดังนั้นในช่วงเวลาที่นักมวยรุ่นไลท์เวตกำลังขายได้ และได้รับการยกย่องผ่านสื่อว่าคือความหวังใหม่ของวงการมวยโลก สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือ “เลิกใส่ใจสถิติไร้พ่ายได้แล้ว” เวลานี้เป็นช่วงเวลาทอง ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน ๆ นักชกที่ดีที่สุดแต่และฝ่าย จะต้องไม่กลัวแพ้ … มีโอกาสชกกับคนเก่ง ๆ ต้องไม่หนี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองจะทำให้ “เข็มขัดแชมป์” มีค่ามากกว่าการตีตรา แต่มันจะมีความหมายถึงความยิ่งใหญ่ของนักชกคนนั้น ๆ จากมุมมองของแฟน ๆ 

นักชกหนุ่มจากรุ่นไลท์เวตจะต้องแสดงความกระหายออกมาให้โลกได้เห็น พวกเขาต้องกล้าพอที่จะขึ้นเวที และกล้าพอที่จะสู้ในรูปแบบของมวยที่เป็นมวยจริง ๆ กล่าวคือ ชกให้สนุกถูกใจคนดู ไม่ว่าจะขึ้นเวทีกี่ครั้งแฟน ๆ ก็จะยังตื่นเต้นเสมอ 

พวกเขาห้ามเลียนแบบ ฟลอยด์ เด็ดขาด เพราะบารมีความดังนั้นยังไม่มากพอ สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือการเอาตัวอย่างจาก “4 จตุรเทพ” จากยุค 1980s อย่าง โรแบร์โต้ ดูรัน, โทมัส เฮิร์น, ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด และ มาร์วิน แฮกเลอร์ ที่เคยเขย่าโลกด้วยความมัน ชกกันแบบเลือดเดือด เวียนมาเจอกันไปเจอกันมาแบบไม่มีกั๊ก จนมวยรุ่นเฮฟวี่เวตต้องชิดซ้ายมาแล้ว

เมื่อโอกาสมาถึงพวกเขาต้องรีบคว้าไว้ ในยุคที่ศรัทธาของวงการมวยในสายตาแฟนมวยทั่วโลกกำลังตกต่ำ “ไลท์เวต” คือประกายแสงแห่งความหวังของวงการนี้อย่างแท้จริง 



แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ