ไดโนเสาร์ : หลักฐานใหม่บ่งชี้ว่า เหตุอุกกาบาตล้างเผ่าพันธุ์สัตว์โลกล้านปีเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ

Home » ไดโนเสาร์ : หลักฐานใหม่บ่งชี้ว่า เหตุอุกกาบาตล้างเผ่าพันธุ์สัตว์โลกล้านปีเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ


ไดโนเสาร์ : หลักฐานใหม่บ่งชี้ว่า เหตุอุกกาบาตล้างเผ่าพันธุ์สัตว์โลกล้านปีเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ

ผลการศึกษาที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า อุกกาบาตยักษ์ที่พุ่งชนโลกจนเกิดหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่ชื่อ ชิกซูลุบ (Chicxulub) ซึ่งปัจจุบันอยู่ใต้คาบสมุทรยูกาตันในประเทศเม็กซิโกนั้น ได้นำไปสู่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อราว 66 ล้านปีก่อน

แต่ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ในอังกฤษเปิดเผยว่า ได้ค้นพบข้อมูลใหม่ที่สามารถระบุช่วงเวลาที่แน่ชัดของการเกิดมหาภัยพิบัติครั้งนี้ ว่าเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ (ราวเดือน มี.ค.-มิ.ย.) ซึ่งนี่อาจช่วยอธิบายว่าทำไมเหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้สัตว์ชนิดต่าง ๆ สูญพันธุ์ไปจากโลกเป็นจำนวนมาก

ไดโนเสาร์ : หลักฐานใหม่บ่งชี้ว่า เหตุอุกกาบาตล้างเผ่าพันธุ์สัตว์โลกล้านปีเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ

Getty Images
เหตุอุกกาบาตพุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลก 75% ต้องล้มตาย และทำให้ไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์
  • เผยไดโนเสาร์โชคร้าย อุกกาบาตชนโลกตรงจุดอันตรายที่สุด
  • ไข 6 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไดโนเสาร์
  • หลุมอุกกาบาตล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์ ช่วยไขปริศนากำเนิดชีวิต
  • โลกวันนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าไดโนเสาร์ไม่สูญพันธุ์ไปก่อน

ฤดูใบไม้ผลิ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญต่อการหาอาหาร และการขยายพันธุ์ของทั้งพืชและสัตว์หลายชนิด ขณะที่สัตว์บางชนิดจะออกลูกในช่วงนี้

ทีมนักวิจัยระบุว่า นี่จึงไม่น่าประหลาดใจว่าการที่อุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลกในช่วงนี้จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก และหากอุกกาบาตพุ่งชนโลกในฤดูกาลอื่น ก็อาจไม่ทำให้มีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่พลิกโฉมหน้าของโลกที่เรียกว่า เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส-พาลีโอจีน (Cretaceous-Paleogene extinction event) จนทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลก 75% ต้องล้มตาย และทำให้ไดโนเสาร์ต้องสูญพันธุ์

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบได้อย่างไร

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้ศึกษาเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน และการค้นพบครั้งใหม่มีขึ้นหลังจากศึกษาฟอสซิลปลาจากแหล่งฟอสซิลแทนิส (Tanis) ในรัฐนอร์ทดาโกตาของสหรัฐฯ

UNIVERSITY OF MANCHESTER
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ศึกษาเรื่องนี้จากแหล่งฟอสซิลแทนิส (Tanis) ในรัฐนอร์ทดาโกตา

เชื่อกันว่า ปลาเหล่านี้ตายลงในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลก เนื่องจากแรงปะทะมหาศาลทำให้เกิดแผ่นดินไหว ส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ขึ้น

ทีมนักวิจัยได้ศึกษาเส้นเจริญเติบโตที่อยู่ในฟอสซิลกระดูกปลาดังกล่าว เพื่อบ่งชี้ฤดูกาลที่พวกมันตายลง

พวกเขาพบว่า กระดูกปลาจะมีชั้นสีที่เข้มขึ้นในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่จะมีสีอ่อนลงในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ซึ่งเส้นเจริญเติบโตสุดท้ายที่พวกเขาพบในฟอสซิลกระดูกปลาที่นี่มีสีอ่อน บ่งชี้ว่าปลาทั้งหมดในแถบนี้ตายลงในช่วงการเจริญเติบโตในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน

UNIVERSITY OF MANCHESTER
ทีมนักวิจัยได้ศึกษาช่วงเวลาที่อุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลกจากฟอสซิลกระดูกปลา

โรเบิร์ต เดอพาลมา นักศึกษาปริญญาเอกที่นำทีมวิจัยครั้งนี้บอกว่า การค้นพบครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดที่เรามีต่อเหตุการณ์อุกกาบาตล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์

เขากล่าวว่า การสูญพันธุ์นับเป็นจุดสิ้นสุดของยุคไดโนเสาร์ แต่เราต้องไม่ลืมว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ของเราจะไม่มีวิวัฒนาการขึ้นมาได้ หากไม่เกิดอุกกาบาตชนโลกในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ จนทำไปสู่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์

เขายังเชื่อว่า การค้นพบครั้งนี้อาจช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวได้ดีขึ้นเพื่อรับมือกับมหันตภัยทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในอนาคต เช่น เหตุอุกกาบาตชนโลก หรือภัยธรรมชาติครั้งใหญ่

……………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ