เรียกว่าเป็นคดีที่ทั้งโซเชียลนั้นจับตามองอย่างมาก กับการพบศพสาวตายปริศนา “น้องก้อย” นางสาวศิริพร ขันวงษ์ หญิงสาววัย 32 ปี ชาวจังหวัดราชบุรี โดยก่อนเสียชีวิตด้วยอาการหมดสติ สถานที่สุดท้ายที่ไป คือการไปปล่อยปลากับเพื่อนที่วัด นามว่า นางสรารัตน์ หรือ แอม ซึ่งเป็นอดีตภรรยาตำรวจใน จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 66 ที่ผ่านมา ครอบครัว น้องก้อย เล่าว่า น้องก้อย ออกจากบ้านและหายตัวไป ก่อนพบศพเนื่องจากมีพลเมืองดีโพสต์ตามหาญาติ ที่ริมท่าน้ำ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
และหลังจากมีข่าวการเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรมของ น้องก้อย ทำให้เรื่องราวของ แอม นั้นถูกขุดขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจาก อาการก่อนเสียชีวิต น้องก้อย จากคนที่สุขภาพแข็งแรง กลับล้มฟุบและหัวใจวาย อย่างไม่มีสาเหตุ จึงทำให้มีญาติผู้เสียชีวิตอีก 6 ราย ในพื้นที่ ราชบุรี กาญจนบุรี และนครปฐม ด้วยอาการหมดสติ เล็บดำ หัวใจวาย ตายปริศนาหลังพบ แอม เป็นคนสุดท้าย คล้ายกับกรณีของ น้องก้อย ได้ออกมาร้องเรียนถึงเรื่องดังกล่าว
จนทำให้เรื่องกลายเป็นกระแส และจับคนร้ายได้ในที่สุด ในวันนี้ 25 เม.ย. 66 เมื่อเวลา 11.00 CIB นำกำลังจับกุม นางสรารัตน์ หรือ แอม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1285/2566 ลงวันที่ 25 เมษายน 2566 ข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” พร้อมของกลาง ขวดไซยาไนด์ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่เชื่อได้ว่า น.ส.สรารัตน์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ น.ส.ศิริพร (น้องก้อย) จริง
ซึ่งหากพูดถึงพิษร้ายของ ไซยาไนด์ หลายๆคนคงเคยได้ยินในภาพยนต์สายลับ ที่เวลาผู้ร้ายโดนจับได้ มักจะกัด ไซยาไนด์ ฆ่าตัวตาย แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วนั้น คงไม่มีใครคิดว่ายาพิษชนิดนี้ จะถูกนำมาเป็นอาวุธทางเคมีเพื่อฆ่ากันจริงๆ
- CIB รวบ! นางสาว อ. มือวางยาไซยาไนด์ น้องก้อย
- พบอีกศพ! ก่อนตายอยู่กับ นางสาว อ. เช่นเดียวกับ น้องก้อย รวมแล้ว 7 ศพ
- ตามต่อ! คดี น้องก้อย ตายปริศนา ตร. คาดนี้คือ ฆาตกรต่อเนื่อง
ไซยาไนด์ ในรูปแบบไหนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
สารเคมีอันตรายชนิดนี้มีรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปแบบของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยแต่ละชนิดมีแหล่งที่มาและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- Sodium cyanide (NaCN) เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานอาจเป็นพิษถึงตายได้
- Potassium cyanide (KCN) มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายแอลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อ Potassium cyanide เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
- Hydrogen cyanide (HCN) อาจมาในรูปของของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา
- Cyanogen chloride (CNCl) มีลักษณะเป็นของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสูดดม
อันตรายจาก ไซยาไนด์
ไซยาไนด์ สามารเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ระคายเคืองบริเวณที่สัมผัสอย่างผิวหนังหรือดวงตา ร่างกายอ่อนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจติดขัด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เป็นต้น โดยผลกระทบจากการได้รับ ไซยาไนด์ อาจแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
- ภาวะเป็นพิษจาก Cyanide แบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่พบได้ยาก เกิดขึ้นในทันที อาจทำให้เกิดอาการ เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น
- ภาวะเป็นพิษจาก Cyanide แบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับ Cyanide ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
หากสัมผัสกับ Cyanide ควรรับมืออย่างไร ?
- การสัมผัสทางผิวหนัง ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรง เพราะอาจได้รับพิษจากไปด้วย จากนั้นจึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
- การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอากาศที่มี ไซยาไนด์ ปนเปื้อนควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ
- การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ
ขอบคุณข้อมูล : pobpad.com
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY