ใบตองแห้ง : (ไม่)ตายฟรี?

Home » ใบตองแห้ง : (ไม่)ตายฟรี?


ใบตองแห้ง : (ไม่)ตายฟรี?

คอลัมน์ ใบตองแห้ง
(ไม่)ตายฟรี?

หมอกระต่ายต้องไม่ตายฟรี หน่วยงานรัฐขึงขัง ต้องปลูกฝังจิตสำนึกคนไทย ต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ต้องเพิ่มโทษเฉียบขาดให้หลาบจำ ต้องติดตั้งสัญญาณไฟป้ายจราจรให้ครบครัน ฯลฯ

แน่ใจแค่ไหนว่าจะไม่เป็นไฟไหม้ฟาง เหมือนทุกครั้ง เหมือนทุกเรื่อง เห็นรอง ผบ.ตร.ทดลองข้ามทางม้าลาย โลกออนไลน์ก็ขำขื่น ตำรวจเป็นโขยงรถเบรกตัวโก่ง แน่จริง พล.ต.อ.วัยใกล้เกษียณน่าจะแต่งนอกเครื่องแบบ ไปข้ามทางม้าลายถนนสายเปลี่ยวคนเดียวยามโพล้เพล้ ดูซิจะรอดไหม

คนไทยมักง่าย คนไทยไร้วินัย คนไทยไม่เคารพกฎหมาย ต้องปลูกฝังนิสัย ต้องโทษพ่อ-โทษแม่-สอนลูกไม่ดี ต้องให้ครูสอนเด็กแล้วไปบอกพ่อแม่ เห็นแก่ลูกต้องเลิกกินเหล้าสูบบุหรี่ ฯลฯ

ช่างน่าน้อยใจ เป็นคนไทยผิดตั้งแต่เกิด แล้วคนชี้หน้าด่าก็ไม่ใช่ใคร คือรัฐไทยที่ชอบปลูกฝังความเป็นไทย กลับโทษคนไทยไร้ระเบียบวินัย ต้องดัดสันดาน ปล่อยให้ใช้สิทธิเสรีภาพไม่ได้ ต้องบังคับควบคุมให้อยู่ในโอวาท ต้องทำรัฐประหารทุก 6 ปีเพื่อฝึกคนไทยเป็นพลทหาร ขนาดนั้นมันก็ยังไม่เชื่อฟัง ไม่รู้จักดูแลตัวเอง ไม่รับผิดชอบสังคม ทำโควิดระบาดคนตายสองหมื่น

ปฏิกิริยาสังคมที่โกรธจัดกรณีหมอกระต่าย ด้านหนึ่งมาจากความไม่พอใจเพราะเห็นคนต้องเจ็บตายเป็นเหยื่อคนขับรถโดยประมาทซ้ำซาก เป็นโศกนาฏกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เคยแก้ได้ ตอกย้ำด้วยความเป็นบุคลากรทรงคุณค่า ต้องมาตายเพราะข้ามถนนทางม้าลาย ซึ่งควรจะปลอดภัย ทำให้ตระหนักว่าอาจเป็นตัวเรา ลูกเรา ครอบครัวเรา เพื่อนเรา ก็ได้ ต้องตายทั้งที่ปฏิบัติถูกต้อง ไว้วางใจกฎจราจร

อีกด้านหนึ่งซ้ำร้ายคนชนเป็นตำรวจ ซึ่งสั่งสมความไม่พอใจความไม่ไว้วางใจเชิงสถาบัน ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายที่ประชาชนไม่เชื่อถือ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ หย่อนยานก็ได้ยัดข้อหาก็ได้คลุมถุงดำก็ได้ และมักทำผิดกฎจราจรเสียเอง เช่นขับเร็วขี่มอเตอร์ไซค์สวนเลน ขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นทางด่วน พวกเดียวกันไม่จับกัน

อารมณ์สังคมจึงระเบิด เมื่อ ส.ต.ต.ได้ปล่อยตัว เลยเถิดไปจน “ห้ามบวช” ซึ่งว่าตามหลักสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา กฎมหาเถรสมาคมข้อนี้ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ศาลยังไม่ตัดสิน ได้ประกัน ไม่หลบหนี ยังมีสิทธิเหมือนบุคคลทั่วไปเว้นแต่ศาลมีคำสั่งห้าม

ในแง่หนึ่งจึงกล่าวได้ว่า กระแสสังคมก็ไร้สติ เน้นไปที่ตัวบุคคล “เอามันให้ตาย” ทั้งที่เป็นปัญหาเชิงระบบ หากจะตรวจสอบต้องขีดเส้นว่าตำรวจช่วยเหลือกันหรือไม่ การให้ประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐาน (แต่ถ้าเป็นชาวบ้านต้องวางหลักทรัพย์?) ทำไมจึงขับรถไม่ติดป้ายทะเบียนไม่เสียภาษี ว่อนไปมาได้ เพราะเป็นตำรวจใช่หรือไม่

ในความเป็นจริง ในปัญหาเชิงระบบ อาจไม่ใช่บิ๊กไบก์ตำรวจ แต่เป็นมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารบิดขวาชนคนข้ามทางม้าลายตายก็ได้ ปัญหาที่เราไม่ไว้วางใจตำรวจจึงเป็นเรื่องความหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่ ความมีนอกมีในมีเส้นสายเครือข่ายอุปถัมภ์ในกระบวนการยุติธรรมต่างหาก

จึงเป็นประเด็นที่ต้องถามกลับว่า ถ้ามีการเพิ่มโทษ เพิ่มค่าปรับผิดวินัยจราจร เพิ่มอำนาจตำรวจ สังคมที่ไม่ไว้วางใจ ไม่พอใจการใช้อำนาจตำรวจ จะยอมรับหรือไม่ หรือจะยิ่งต่อต้าน และไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง

ปัญหาสังคมไทยที่คนไทยไร้วินัย ไม่เคารพกฎ ไม่ได้มาจาก DNA คนไทย แต่เพราะหนึ่ง ตัวบทกฎหมายไม่สอดคล้องความจริงไม่สมเหตุสมผล ปฏิบัติได้ยาก สอง หนักกว่านั้นคือประชาชนไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม ที่ตำรวจเป็นต้นน้ำ เป็นสังคมอภิสิทธิ์สังคมอุปถัมภ์ ที่เชื่อว่ามีเส้นมีเงินก็เป่าคดีได้ งั้นจะเคารพกฎไปทำไม มึงทำได้กูก็ทำมั่ง

เราจึงเห็นว่าไม่ใช่แค่รถหรูซูเปอร์คาร์ หรือรถปิกอัพเถ้าแก่สั่งตะบึง รถมอเตอร์ไซค์ไม่มีเส้นก็ขับสวนเลนขี่บนฟุตปาธถมไป การบังคับใช้กฎหมายเละไปหมดแล้ว

“หมอกระต่ายต้องไม่ตายฟรี” จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องตระหนัก ไม่ใช่แค่กระแสอารมณ์ไฟไหม้ฟาง“เอา ส.ต.ต.ให้ตาย” แต่ต้องมองถึงโครงสร้าง ความไม่เชื่อมั่นไม่ไว้วางใจกระบวนการยุติธรรม คนไม่เคารพกฎหมายเพราะเชื่อว่าบังคับใช้กับประชาชนตาดำๆ แต่ยกเว้นอภิสิทธิ์ชน คนกันเอง คนมีอำนาจ

จะให้ประชาชนเคารพกฎหมายได้อย่างไร เมื่อประเทศอยู่ใต้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด คนใช้ปืนใช้รถถังฉีกรัฐธรรมนูญนิรโทษตัวเอง เขียนรัฐธรรมนูญเอง ตั้ง 250 ส.ว.โหวตตัวเอง แล้วบอกให้ประชาชนเคารพกฎหมาย เคารพกติกา

ประเทศที่ปกครองโดยอภิสิทธิ์ชน “พ่อปูสอนลูกปู” ไม่สามารถปลูกฝังจิตสำนึกให้คนมีวินัย ให้มีความรับผิดชอบในตัวเอง ความรับผิดชอบต้องเกิดจากความตระหนักในสิทธิเสรีภาพของตน ปกป้องสิทธิของตนและเคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ใช่ใช้อำนาจบังคับ ให้เชื่อฟัง ทำตามคำสั่ง ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจ สอนให้นบนอบสอพลอเป็นชั้นๆ

การปลูกฝังอย่างนั้นแหละ ที่ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์เส้นสายกัดกร่อนสังคมไทยทุกด้าน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ