โรฮิงยาฟ้องเฟซบุ๊ก – วันที่ 7 ธ.ค. บีบีซี รายงานว่า ผู้ลี้ภัยโรฮิงยาในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาหลายสิบคนยื่นฟ้องเฟซบุ๊ก สื่อสังคมออนไลน์สัญชาติอเมริกัน โดยกล่าวหาว่าปล่อยให้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (เฮตสปีช) ต่อโรฮิงยา
พวกเขาเรียกร้องค่าเสียหายมากกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5 ล้านล้านบาท) โดยอ้างว่าแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กส่งเสริมความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่ข่มเหง
มุสลิมโรฮิงญาราว 10,000 รายถูกสังหารระหว่างการปราบปรามของทหารในเมียนมาที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธในปี 2560
เฟซบุ๊ก ซึ่งตอนนี้มีชื่อเรียกว่า เมตา ถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้ข้อมูลเท็จที่แสดงความเกลียดชังและเป็นอันตรายเผยแพร่ต่อไปหลายปี
ในสหราชอาณาจักร สำนักกฎหมายอังกฤษแห่งหนึ่งที่เป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เขียนจดหมายถึงเฟซบุ๊ก ซึ่งบีบีซีนำมาเผยแพร่ จดหมายฉบับดังกล่าวกล่าวหาว่า
อัลกอริธึมของเฟซบุ๊กขยายคำพูดแสดงความเกลียดชังต่อโรฮิงญา เฟซบุ๊กล้มเหลวในการลงทุนในผู้ดูแลและผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รู้เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมา
เฟซบุ๊กยังล้มเหลวในการลบโพสต์หรือลบคอมเมนต์ที่ยั่วยุความรุนแรงต่อโรฮิงญา และล้มเหลวในการดำเนินการอย่างเหมาะสมและทันเวลา แม้จะมีคำเตือนจากองค์กรการกุศลและสื่อ
ส่วนในสหรัฐอเมริกา ทนายความยื่นคำร้องทางกฎหมายกับเฟซบุ๊กในนครซานฟรานซิสโก กล่าวหาว่าจงใจค้าชีวิตชาวโรฮิงยา เพื่อการเจาะตลาดที่ดีขึ้นในประเทศเล็กประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทนายความอ้างโพสต์ต่างๆ บนเฟซบุ๊ก ที่ปรากฏในการสอบสวนโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ รวมถึงโพสต์ชิ้นหนึ่งในปี 2556 ที่ระบุว่า “เราต้องต่อสู้กับพวกเขาด้วยแบบที่ฮิตเลอร์ทำกับชาวยิว” (“We must fight them the way Hitler did the Jews.”)
และอีกโพสต์ระบุว่า “ราดเชื้อเพลิงและจุดไฟเพื่อให้พวกเขาสามารถไปพบพระอัลเลาะห์เร็วขึ้น” (“Pour fuel and set fire so that they can meet Allah faster.”)
เฟซบุ๊กมีผู้ใช้มากกว่า 20 ล้าน ในเมียนมา และสำหรับหลายๆ คน สื่อสังคมออนไลน์เจ้านี้เป็นช่องทางหลักและช่องทางเดียวของการได้รับและแชร์ข่าวสาร
เมื่อปี 2561 เฟซบุ๊กยอมรับว่า ไม่ได้ดำเนินการมากพอที่จะป้องกันการยุยงให้เกิดความรุนแรงและเฮตสปีชต่อโรฮิงญา
ข้อความข้างต้นมาจากรายงานอิสระที่ได้รับมอบหมายจากเฟซบุ๊ก รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กสร้าง “สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย” ต่อการขยายการละเมิดสิทธิมนุษยชน
โรฮิงญาถูกมองว่าผู้อพยพผิดกฎหมายในเมียนมา และถูกเลือกปฏิบัติโดยรัฐบาลเมียนมาและประชาชนมาหลายทศวรรษ
ในปี 2560 ทหารเมียนมาสั่งการปราบปรามด้วยความรุนแรงในรัฐยะไข่ หลังกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาดำเนินการโจมตีรุนแรงสถานีตำรวจต่างหลายจุด คร่าชีวิตหลายพันราย และทำให้โรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ต้องหนีไปบังกลาเทศ ชาติเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ มีข้อครหาเป็นวงกว้างถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง รวมถึงการฆ่าโดยพลการ การข่มขืน และการเผาที่ดิน
ในปี 2561 สหประชาชาติกล่าวหาเฟซบุ๊กว่า “ชักช้าและไม่ประสิทธิภาพ” ในการตอบสนองต่อความเกลียดชังดังกล่าวที่แพร่สะพัดทางออนไลน์
ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายสหรัฐ เฟซบุ๊กได้รับการคุ้มครองส่วนใหญ่จากความรับผิดชอบเกี่ยวกับเนื้อหาที่มีการโพสต์โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่การฟ้องร้องคดีครั้งนี้โต้แย้งว่า กฎหมายของเมียนมา ซึ่งไม่มีการคุ้มครองดังกล่าว ควรมีผลในคดีของเฟซบุ๊ก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทหารเมียนมาปราบชาวพม่าแบบโรฮิงยา ยูเอ็นวิตกรายงานในที่ประชุมลับ