แอปฯ ของภาครัฐในช่วงโควิด-19 ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

Home » แอปฯ ของภาครัฐในช่วงโควิด-19 ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
แอปฯ ของภาครัฐในช่วงโควิด-19 ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

อย่างที่ทราบกันดีว่าการระบาดของโควิด-19 นั้นยาวนานกินเวลาเกินกว่า 1 ปีมาแล้ว และปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในไทยก็ยังสูงในระดับคงที่ ทำให้นอกจากจะต้องปรับตัวให้สามารถอยู่กับสถานการณ์นี้ได้แล้ว ก็มีมาตรการอื่น ๆ ที่เราควรให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน คือ พยายามอยู่กับบ้าน หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านและสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ถ้าออกไปก็ต้องป้องกันตัวเองและจำให้ได้ว่าไปที่ไหนมาบ้าง รวมถึงผู้ที่ได้ผลกระทบจนไม่สามารถทำงานได้ก็จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ จากทางภาครัฐ

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นตัวกลางที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ ก็คงหนีไม่พ้นโทรศัพท์มือถือที่ผู้คนส่วนใหญ่มีใช้กัน มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นแบบสมาร์ทโฟน สามารถติดตามข่าวสารและดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 มาใช้ Tonkit360 จึงได้รวบแอปพลิเคชันของทางภาครัฐที่เราใช้กันในช่วงโควิด-19 ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมาฝาก เชื่อได้เลยว่าในสมาร์ทโฟนของแต่ละคนจะต้องมีอย่างน้อย 1 แอปฯ แน่ ๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนจะโหลดแอปพลิเคชันใด ๆ มาใช้ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นแอปพลิเคชันของแท้หรือไม่ เพราะก่อนเข้าใช้งานแอปฯ ใด ๆ เราจำเป็นต้องลงทะเบียนด้วยข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากเป็นแอปพลิเคชันปลอมหรือลอกเลียนแบบ ข้อมูลที่เรากรอกตอนต้องลงทะเบียนอาจถูกนำไปใช้ในทางมิชอบได้

นี่คือ 4 แอปพลิเคชันของภาครัฐที่ภาครัฐขอความร่วมมือ (หรือจำเป็นต้อง) ดาวน์โหลดมาใช้งานในช่วงโควิด-19 ระบาด มาดูกันว่า 4 แอปฯ นี้ แอปฯ ไหนมาแรงสุด

เป๋าตัง

ในยุคโควิดระบาด เป๋าตัง คือแอปฯ ที่ต่อให้ไม่อยากโหลดก็ต้องโหลด มิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถรับความช่วยเหลือใด ๆ จากรัฐบาลได้เลย เป๋าตัง เป็นแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (G-Wallet) ที่มีมาก่อนจะมีโควิด ออกแบบมาเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับบริการของรัฐสารพัด ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 นี่จึงเป็นแอปฯ ที่คนไทยเกือบทั้งประเทศรู้จักและ (ต้อง) ใช้บริการ จึงได้มีการพัฒนาฟังก์ชันต่าง ๆ ขึ้นมามากมายในแอปฯ เดียว เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย

เช่น ปัจจุบัน เป๋าตัง รองรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลสารพัดมาตรการ ทั้งคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน, ยิ่งใช้ยิ่งได้, เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ล้วนดำเนินการในแอปพลิเคชันเป๋าตังและหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเท่านั้น ไม่มีการใช้งานในแอปพลิเคชันอื่น (โปรดระวังแอปฯ ปลอม ที่หวังนำข้อมูลส่วนตัวเราไปใช้ในทางมิชอบ)

นอกจากนี้ เป๋าตัง ยังมีฟังก์ชัน “กระเป๋าสุขภาพ Health Wallet” ที่รองรับบริการด้านสุขภาพ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล และเงื่อนไขบริการด้านสุขภาพของตนเอง การนัดหมายแพทย์ล่วงหน้า ค้นหน้าหน่วยบริการที่อยู่ใกล้ บริการแจ้งเตือนนัดหมายบริการ จองวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และปัจจุบัน ยังมีให้บริการ ลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของโครงการ ไทยร่วมใจ ด้วย

ส่วนในอนาคตอันใกล้ เป๋าตัง กำลังจะเริ่มดำเนินการใช้ชำระเงินซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคา 80 บาท ทำให้ เป๋าตัง เป็นแอปพลิเคชันอเนกประสงค์ที่รัฐบาลใช้เป็นสื่อกลางในการให้บริการประชาชนในยุคที่ต้องลดการใช้จ่ายด้วยเงินสด เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค ที่สำคัญ คือนำร่องให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

ทำให้ปัจจุบัน แอปพลิเคชันเป๋าตังมียอดดาวน์โหลดใน Play Store มากกว่า 10,000,000+ ครั้ง เลยทีเดียว

หมอชนะ

มีอยู่ช่วงหนึ่งช่วงสั้น ๆ ที่แอปพลิเคชันหมอชนะ เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เพราะมีประเด็นดราม่าเกิดขึ้น โดยแอปฯ หมอชนะ เป็นแอปพลิเคชันที่เก็บข้อมูลของการระบาดของโควิด-19 เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงของผู้ที่ดาวน์โหลดมาใช้งาน และช่วยลดความเสี่ยงของแพทย์ที่จะพบเจอกับผู้ที่ติดเชื้อ

เรื่องดราม่าเกิดขึ้น เพราะ หมอชนะ เป็นแอปฯ ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนติดตั้งไว้ จากการประชาสัมพันธ์ที่คาดเคลื่อนและเข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการติดตั้งแอปฯ หมอชนะ นั้นเป็นการบังคับมากกว่าขอความร่วมมือ ซึ่งจริง ๆ แล้วเพื่อประเมินความเสี่ยงของตนเองที่ไม่รู้ว่าไปพบเจอกับผู้ติดเชื้อเข้าหรือไม่ ก็ควรมีติดสมาร์ทโฟนไว้ เพราะแอปฯ จะคอยเตือนเมื่อเราเดินทางเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือเข้าใกล้คนที่มีความเสี่ยง พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลการเดินทางให้อัตโนมัติว่าไปไหนมาบ้าง พบเจอคนที่มีความเสี่ยงไหม ไม่ต้องนึกย้อนไทม์ไลน์เองให้ยุ่งยาก

ในกรณีที่เราจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 แอปฯ หมอชนะ จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการสอบสวนโรค ทั้งยังสามารถตอบคำถามประเมินอาการของตัวเองได้ด้วย โดยแอปฯ จะแบ่งระดับความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ

  • สีเขียว สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
  • สีเหลือง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
  • สีส้ม สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เป็นผู้ที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
  • สีแดง สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก มีทั้งอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

ส่วนการประเมินความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ผ่าน หมอชนะ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเช็กข้อมูลของผู้ที่มาขอรับบริการทางการแพทย์ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน สำคัญต่อการจัดลำดับความเร่งด่วนของการรักษา-ส่งตรวจ ที่สำคัญ คือ แก้ปัญหาการปกปิดไทม์ไลน์และอาการของโรคลงไปได้มาก

ปัจจุบัน แอปพลิเคชันหมอชนะ มียอดดาวน์โหลดใน Play Store มากกว่า 5,000,000+ ครั้ง

ไทยชนะ

ไทยชนะ เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้สแกนเช็กอิน เช็กเอาท์ประเมินกิจกรรม และสถานที่ที่บุคคลทั่วไปจะเข้าไปใช้บริการ ลดโอกาสการเดินทางเข้าไปในสถานที่ที่อาจจะแออัด มีคนมาก จึงช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค

การใช้งาน ไทยชนะ ที่เราคุ้นเคย คือการสแกนเพื่อเช็กอิน แอปฯ จะระบุว่าขณะนั้นเราอยู่ที่ไหน เข้าใช้บริการช่วงเวลาใด และเช็กเอาท์ว่าเราออกจากสถานที่นั้นเวลาใด เนื่องจากแต่ละสถานที่จะจำกัดจำนวนคนในการเข้าใช้บริการ  หากที่ที่เราไปมีจำนวนผู้ใช้บริการเกินกว่าที่กำหนด แอปฯ จะเตือนว่ายังไม่สามารถเข้าใช้บริการได้ แต่เมื่อมีคนเช็กเอาท์ออกแล้ว จำนวนคนในสถานที่นั้นน้อยลงแล้ว คนอื่นถึงจะเข้าไปใช้บริการในสถานที่นั้นต่อได้นั่นเอง เพื่อที่เวลาเรามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ การสอบสวนโรคจะง่ายขึ้น เพราะรู้ตำแหน่งของเราโดยไม่ต้องนึกย้อนไทม์ไลน์ให้วุ่นวาย

นอกจากนี้ ไทยชนะ จะให้ผู้ใช้บริการประเมินสถานที่นั้น ๆ เพื่อเก็บข้อมูลด้วยว่าสถานที่นั้นมีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคมากแค่ไหน ซึ่งผู้ใช้บริการจะทำหรือไม่ทำก็ได้ โดยแอปฯ ไทยชนะ จะสามารถเช็กอิน-เช็กเอาท์ให้เราได้อัตโนมัติ ต่างจากการสแกน QR Code จากป้ายด้านหน้าสถานที่ต่าง ๆ ด้วยแอปฯ อื่น ที่ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาสแกนเอง

ไทยชนะ จึงเป็นอีกหนึ่งแอปฯ ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ติดตั้งไว้เพื่อความสะดวกในการเดินทาง การเข้าใช้บริการ การประเมินความเสี่ยง และการสอบสวนโรค ทำให้ยอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไทยชนะ ใน Play Store มีมากกว่า 1,000,000+ ครั้ง

หมอพร้อม

หมอพร้อม เป็นอีกหนึ่งแอปพลิชันตระกูลหมอ ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนจองและรับคิวการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทั้งประเทศ เราสามารถเลือกวัน เวลา และโรงพยาบาลที่ต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ด้วยตนเอง หมอพร้อมจึงมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องของการบริหารจัดการวัคซีน เพื่อความสะดวกและอาจจะรวดเร็ว โดยในช่วงก่อนหน้านี้ แอปฯ หมอพร้อม เป็นช่องทางลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบุคคลกลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคเรื้อรัง 7 โรค

ฟังก์ชันของแอปฯ นอกจากจุดประสงค์หลักในเรื่องการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนแล้ว ยังสามารถให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างถูกต้อง โดยมีข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อวันนี้ รายงานผลการฉีดวัคซีน ตรวจสอบข้อมูลการจองฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 เข็มที่ 2 ค้นหาหน่วยบริการ ตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล บริการฉุกเฉิน 1669 และการให้ความรู้ต่าง ๆ

ดังนั้น หมอพร้อม จึงเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่จัดการเรื่องการฉีดวัคซีนกับผู้ที่ลงทะเบียนเข้ารับวัคซีน มีการแจ้งเตือนการรับวัคซีนเข็มที่ 1 และยืนยันเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว มีแบบประเมินอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ภายใน 1, 7 และ 30 วัน นัดหมายในการรับวัคซีนเข็มที่ 2 และยืนยันเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 รายงานติดตามอาการที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดกับผู้ที่รับวัคซีน และจัดเก็บใบรับรองการฉีดวัคซีนเมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม

ด้วยปัญหาในเรื่องการบริหารจัดสรรวัคซีน เพราะผู้ที่ได้คิวฉีดแล้ว บางรายได้รับการแจ้งเตือนว่าเลื่อนฉีด บางรายไม่ได้รับ แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลโรงพยาบาลก็แจ้งว่าเลื่อนฉีด อีกทั้งยังมีความสับสนอื่น ๆ ทำให้ต้องปลดล็อกระบบให้โรงพยาบาลกลับมาจัดคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนได้เอง โรงพยาบาลสามารถจัดการได้เอง โดยไม่ต้องผ่านแอปฯ หมอพร้อม

ขณะนี้ ยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอพร้อม ผ่าน Play Store มีมากกว่า 1,000,000+ ครั้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ