แนวโน้มปี 66 ฝุ่นพุ่งสูงขึ้น ‘วราวุธ’ เผยรถดีเซลขนาดเล็กต้นตอใหญ่เกิด PM2.5 วอนบำรุงรักษารถให้ดี ย้ำตรวจPM2.5 จาก แอปฯ air4thai
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 ที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เป็นประธานมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 76 จังหวัด เข้าร่วมรับฟังนโยบาย ผ่านระบบ Zoom meeting
นายปิ่นสักก์ กล่าวรายงานว่า ภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละอองที่ดีขึ้นเมื่อเทียบปีที่ผ่านมาทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและ 17 จังหวัด ภาคเหนือ รวมถึงจำนวนจุดความร้อนของประเทศไทยที่มีจำนวนลดลง แต่การคาดการณ์แนวโน้มฝุ่นละอองปี 2566 สถานการณ์จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้ จนถึงปลายเดือน ก.พ. 66 จะมีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง ลมสงบ
นายปิ่นสักก์ กล่าวต่อว่า สอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าจะมีอากาศหนาวเย็น ปริมาณฝนน้อย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าปรากฏการณ์ “ลานีญา” จะเริ่มน้อยลง หรืออนุมานได้ว่ามีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น
นายปิ่นสักก์ กล่าวรายงานอีกว่า สำหรับการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 โดยในปีนี้มุ่งเน้นยกระดับความเข้มงวดการดำเนินงานภายใต้หลักการ 3 พื้นที่ 7 มาตรการ โดย 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่เมือง 2.พื้นที่ป่า และ 3.พื้นที่เกษตรกรรม ส่วน 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ดังนี้
1.เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่
2.ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง
3.ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check)
4.กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
5.ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS)
6.ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด
7.ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง
ด้านนายวราวุธ กล่าวว่า แหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ยังคงมีปริมาณเท่าเดิมต่อเนื่องทุกปี แต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้จะมีความกดอากาศแผ่ลงมายังไทย ทำให้ฝุ่นPM2.5 ถูกกดทับและเกิดการสะสมของฝุ่น ซึ่งถือว่าสภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญของการสะสมฝุ่น PM2.5 อีกทั้งแหล่งกำเนิดของ PM2.5 ส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก อย่างเช่น รถกระบะ รวมไปถึงรถบรรทุก
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันบำรุงรักษารถยนต์ของท่านให้ดี โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมกับค่ายรถยนต์ มีโปรโมชั่นในการตรวจสภาพรถยนต์ในราคาพิเศษ ประกอบกับกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมให้โรงกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเบนซินที่มีกำมะถันต่ำได้ และขอให้ผู้ค้าน้ำมันนำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงเชื่อว่าหากประชาชนร่วมมือกันตรวจสภาพรถยนต์และใช้น้ำมันกำมะถันต่ำก็จะช่วยให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 ลดลง
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ในส่วนของไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ จากสถิติปริมาณจุดความร้อนย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563 จุดความร้อนมีปริมาณลดลงต่อเนื่องทุกปี ในปี 2566 จึงมีความน่าเป็นห่วงเพราะเชื้อเพลิงสะสมในปริมาณมากขึ้น ตนได้กำชับให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ดำเนินการชิงเก็บ ลดเผา และBurn Check รวมทั้งประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมด้วย
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามแดน ได้มอบหมายให้คพ.ประสานกับเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอความร่วมมือจากประเทศที่มีไฟป่าหรือจุดความร้อน ลดปริมาณหมอกควันหรือป้องกันไม่ให้มีหมอกควันข้ามแดนมายังไทยได้
“ขอให้ประชาชนตรวจสอบปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ทั่วประเทศ ได้ที่แอปพลิเคชั่น air4thai เพราะเป็นแอปพลิเคชั่นที่น่าเชื่อถือที่สุด ไม่อยากให้ดูข้อมูลจากแอปพลิเคชั่นอื่นเพราะอาจทำให้ได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนได้” นายวราวุธ กล่าว