เอาอะไรมาชนะดรีมทีม ? : ไนจีเรียพลัดถิ่น ขุมพลังลับดับเทพยัดห่วงสหรัฐอเมริกา

Home » เอาอะไรมาชนะดรีมทีม ? : ไนจีเรียพลัดถิ่น ขุมพลังลับดับเทพยัดห่วงสหรัฐอเมริกา
เอาอะไรมาชนะดรีมทีม ? : ไนจีเรียพลัดถิ่น ขุมพลังลับดับเทพยัดห่วงสหรัฐอเมริกา

“เราไม่ได้แพ้ให้กับนักบาสข้างถนนที่ไหน พวกเขาคือผู้เล่นที่เก่งมาก ๆ” เกร็ก โปโปวิช เฮดโค้ชทีมบาสเกตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกา ชุดลุยโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว สารภาพโดยดีหลังจากที่ทีมของเขาแพ้ให้กับ “ทีมชาติไนจีเรีย” ประเทศที่เคยไปแข่งโอลิมปิกเพียงแค่ 2 ครั้ง
 

มันต้องมีเหตุผลแน่ ๆ ว่าเพราะอะไร ไนจีเรียจึงชนะทีมอันดับ 1 ของโลกและราชาแห่งวงการบาสเกตบอลได้ หนำซ้ำอีก 3 วันต่อมา พวกเขายังเอาชนะทีมอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 1 จากโซนอเมริกาใต้อย่าง อาร์เจนตินา ได้อีกด้วย 

จากชาติที่เคยแพ้ด้วยช่องว่างเกือบ 90 แต้ม เมื่อ 5 ปีก่อน ไนจีเรีย กลับมาเป็นผู้ชนะในวันที่อเมริกานำทัพโดยซูเปอร์สตาร์แห่ง NBA เควิน ดูแรนท์ และ เดเมี่ยน ลิลลาร์ด ได้อย่างไร ? 

ติดตามได้ที่ Main Stand

เล่นได้ แต่ก็ไม่เก่งเท่าไหร่ 

ไนจีเรีย เป็นประเทศที่เริ่มเล่นบาสเกตบอลในช่วงปลายยุค 1950s ในสมัยนั้นพวกเขาถูกปกครองโดยอังกฤษ และได้เห็นอะไรหลายอย่างที่แปลกใหม่จากวิถีชาวแอฟริกันเดิม ๆ  

การถูกปกครองโดยอังกฤษ ทำให้พวกเขากลายเป็นประเทศที่คลั่งฟุตบอลเป็นอันดับแรก ขณะที่บาสเกตบอลนั้น มาพร้อมกับวัฒนธรรมอเมริกันที่เริ่มเข้ามาแผ่อำนาจในเวลานั้น วัยรุ่นหนุ่มสาวของไนจีเรีย นิยมเล่นบาสเกตบอล หรือที่พวกเขาเรียกว่า B-Ball โดยมีจำนวนราว 20% แต่ก็ไม่ได้มีการจัดแข่งขันอะไรเป็นจริงเป็นจังเลย จนกระทั่งมาถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากครูพละเชื้อสายซีเรีย-เลบานอน ชื่อว่า วาลิด ซาบาดเน่ ผู้ที่ได้ฉายาว่า “บิดาแห่งบาสไนจีเรีย” 


Photo : instantng.com

วาลิด เป็นครูสอนพละในโรงเรียนนานาชาติที่มีทีมบาสเกตบอลเป็นของตัวเอง ทว่ามันมีปัญหาคือเขาจะให้เด็กไปแข่งกับใคร ? เพราะมีโรงเรียนเดียวที่เล่นบาสกันแบบจริงจัง ดังนั้น วาลิด จึงเริ่มผลักดันให้มีการแข่งขันในประเทศเกิดขึ้น นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่เริ่มพาทีมบาสระดับประเทศไปแข่งขันยังที่ต่าง ๆ เริ่มจากทวีปแอฟริกาก่อนในช่วงแรก ๆ 

อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เก่งกาจอะไรมากมายนัก เนื่องจากการแข่งขันในระดับประเทศยังไม่เข้มข้นพอ แม้จะมีการก่อตั้งสหพันธ์บาสเกตบอลในปี 1963 โดย วาลิด ซาบาดเน่ ขึ้นเป็นประธานคนแรกเอง แต่ปัญหาคือผู้เล่นของไนจีเรีย ไม่สามารถสู้กับทีมเก่ง ๆ ในแอฟริกาอย่าง แองโกลา, อียิปต์ และเซเนกัล ได้เลย กว่าพวกเขาจะก้าวขึ้นมาติดท็อป 10 ของทวีป ก็ต้องรอจนถึงปี 1978 และกว่าจะได้เหรียญรางวัลเหรียญแรกคือเหรียญอันดับ 3 ก็ปาเข้าไปปี 1995 เลยทีเดียว 

ปี 1995 ไนจีเรียเพิ่งได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันบาสเกตบอลชายเป็นครั้งแรก แต่ที่สหรัฐอเมริกา ณ เวลานั้น เป็นช่วงเวลาสุดวิเศษที่โลกหยุดหายใจ เมื่อ ไมเคิล จอร์แดน นำพา ชิคาโก้ บูลส์ มาเขย่าปฐพี ไม่ว่าใครก็รู้จัก จอร์แดน และ บูลส์ ต่อให้เป็นคนที่ไม่ได้ติดตามบาสเกตบอลเป็นหลักก็ตาม 

เปรียบเทียบกันตรงนี้ก็ยิ่งเห็นความห่างชั้นกันอย่างชัดเจนมาก ไนจีเรียเองก็จริงจังกับฟุตบอลมากกว่า ผลักดันกีฬาลูกหนังจนกลายเป็นชาติที่คว้ารางวัลระดับเยาวชนอยู่บ่อย ๆ และความสำเร็จของฟุตบอล ก็เป็นการขโมยซีนของบาสเกตบอลไปโดยปริยาย 

เด็ก ๆ ที่นี่ชอบฟุตบอลมากกว่า และพวกเขาเชื่อว่า ฟุตบอล คือโอกาสของชีวิต เพราะหากคุณอยากจะเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลที่สามารถทำเงินได้มหาศาล หนทางเดียวที่รออยู่คือ ต้องก้าวข้ามระดับจากผู้เล่นธรรมดาให้กลายเป็นปีศาจให้ได้ เพื่อเข้าไปเป็น 1 ในผู้เล่นที่ NBA ลีกกีฬาบาสเกตบอลอันดับ 1 ที่สหรัฐอเมริกา

สำหรับนักบาส NBA ที่เป็นชาวไนจีเรียแท้ ๆ เกิดและโตในไนจีเรีย ที่เรียกว่าไปได้ถึงจุดสูงสุดก็มีภาพชัด ๆ เพียงคนเดียว นั่นคือ ฮาคีม โอลาจูวอน เซ็นเตอร์ที่เคยคว้าแชมป์ NBA และเหรียญทองโอลิมปิก (กับ สหรัฐอเมริกา ในปี 1996) และถูกบรรจุเข้า ฮอล ออฟ เฟม ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 


Photo : www.houstonchronicle.com

ขณะที่ฟุตบอลนั้นเป็นกีฬาอันดับ 1 ของโลก มีลีกฟุตบอลรองรับแทบทุกประเทศ ต่อให้นักกีฬาจาก ไนจีเรีย จะไม่ได้เก่งระดับปีศาจ แต่พวกเขาก็ยังสามารถไปหากินในลีกประเทศอื่น ๆ ได้ หากกล่าวว่าฟุตบอลคือโอกาสของชีวิตที่ให้ทางเลือกกับเยาวชนไนจีเรียได้มากกว่าบาสเกตบอล ก็คงจะไม่ผิดนัก 

เมื่อเด็ก ๆ กว่า 80% หันไปเล่นฟุตบอล นั่นเท่ากับว่าวงการบาสเกตบอลของไนจีเรียมีปัญหาแล้ว เพราะมีตัวเลือกเหลือใช้เพียงไม่ถึง 20% ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่น้อยมาก อุปกรณ์อำนวยความสะดวกหรือสนามแข่งก็แทบไม่ต้องพูดถึง ไนจีเรีย เพิ่งมาสร้างสนามบาสที่ได้มาตรฐานและจุคนดูได้ 3,000 คนครั้งแรกเอาช่วงปลายยุค 1990s

ยิ่งเทียบยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ว่าจะอีกกี่ปี ไนจีเรีย ก็ไม่น่าจะมีทางต่อกรกับอเมริกาได้เลย แต่ทำไมกันหนอ ในปี 2021 พวกเขาจึงสามารถเอาชนะทีมที่เต็มไปด้วยปีศาจจาก NBA นำโดย เควิน ดูแรนท์ และ เดเมี่ยน ลิลลาร์ด ได้ ? 

 

ไนจีเรียพลัดถิ่น

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ไนจีเรีย นั้นเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และพวกเขาเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในแอฟริกา คนชนชั้นบนของประเทศส่งลูกหลานไปยังประเทศที่ศิวิไลซ์กว่า เพื่อการต่อยอดและสร้างโอกาสในชีวิตที่มากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้ด้อยโอกาสที่ได้ย้ายเข้าสู่ประเทศอังกฤษและชาติอื่น ๆ เพื่อไปทำงานและใช้ชีวิตในช่วงยุค 50s ดังนั้นเราจึงได้เห็นหลาย ๆ ประเทศในยุโรป หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา จะมีชาวไนจีเรียพลัดถิ่นอยู่มากมาย

ดังนั้นเมื่อเหลือบมองเข้าไปในลีก NBA จึงมีนักบาสเชื้อสาย อเมริกัน-ไนจีเรียน อยู่ไม่น้อย แม้พวกเขาจะเกิดและโตในอเมริกา แต่ความเป็นชาวไนจีเรียพลัดถิ่นก็มีความเข้มข้นสูงมาก พวกเขามักจะไม่ลืมรากเหง้าในแบบแอฟริกัน ดังนั้นสหพันธ์บาสแห่งไนจีเรีย จึงเริ่มทำการเสาะแสวงหานักบาสใน NBA ที่มีเชื้อสายไนจีเรีย ที่สามารถรับใช้ทีม D’Tigers เข้ามาสู่ทีมมากขึ้น 


Photo : friendsofnigerianbasketball.org

“พลังของชาวไนจีเรียพลัดถิ่นนั้นมีอยู่ทั่วโลก และทุกคนยังคงมีจิตวิญญาณความเป็นแอฟริกันที่ยิ่งใหญ่ พวกเรากระจายกันไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ของโลก และเราอยากจะดึงพวกเขาเหล่านั้นกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชาวไนจีเรียอีกครั้ง ในลีก NBA เรามีผู้เล่นเชื้อสายไนจีเรียถึง 8 คน และเรารู้ว่า หากพวกเขากลับมารับใช้ทีมชาติที่เป็นชาติกำเนิดของพวกเขา เราจะเป็นทีมที่มีพลังมหาศาล และสามารถไปแข่งโอลิมปิกได้ในท้ายที่สุด” ไมค์ บราวน์ อดีตผู้เล่นระดับ NBA และเคยทำงานร่วมกับทีม โกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส ชุดครองแชมป์ NBA เมื่อปี 2017 กับ 2018 กล่าวถึง ไนจีเรีย ทีมที่เขาเข้ารับตำแหน่งเฮดโค้ชอยู่ในเวลานี้ 

การดึงเอาผู้เล่นไนจีเรียพลัดถิ่นที่เล่นในอเมริกาเข้ามาสู่ทีมได้ เป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของวงการบาสของพวกเขา วิธีปลุกใจคือทำให้ผู้เล่นใน NBA ที่อาจจะไม่ได้โดดเด่นมากเมื่อเล่นในลีกที่เป็นที่รวมตัวของเหล่าปีศาจ ได้รับการยอมรับ ได้รับเกียรติ และทำให้พวกเขาเชื่อว่า การเล่นให้ทีมชาติไนจีเรียจะสามารถเปลี่ยนแปลงวงการบาสของประเทศได้ในเร็ววัน และจะทำให้ชาวไนจีเรียที่เคยสนใจแต่ฟุตบอล กลับมามองบาสเกตบอลอีกครั้ง หลังจากหมดยุคของ ฮาคีม โอลาจูวอน 

“ผมเคยฝันว่าผมจะได้เล่นให้ทีมชาติไนจีเรีย ดังนั้นเมื่อได้รับการติดต่อมาจึงถือว่าเป็นโอกาสดีมาก ๆ ที่ผมจะตอบตกลงในทันที” เอ็กเป้ อูโดห์ ผู้เล่นไนจีเรียพลัดถิ่นที่ผ่านประสบการณ์ใน NBA มาแล้ว บอกเล่าเรื่องราวของเขาแทนผู้เล่นอีกหลายคนที่เลือกเล่นให้ทีมชาติไนจีเรีย ในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีหลัง


Photo : thejnotes.com

อูโดห์ นั้นเป็นลูกชายของ แซม และ อลิซ ที่อพยพจากไนจีเรียมาหาชีวิตใหม่ที่รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา เขาเกิดและโตที่นั่น และยังได้เล่นให้ทีมมหาวิทยาลัยของมิชิแกน จนถือว่าเป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองในช่วงก่อนยุค 2010 

อย่างไรก็ตามเมื่อถูกดราฟต์เข้าสู่ทีมระดับ NBA อย่าง โกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส อูโดห์ ไม่ได้รับโอกาสมากนัก จนต้องย้ายทีมไปเรื่อย ๆ ทั้ง ยูท่าห์ แจ๊ซ, แอลเอ คลิปเปอร์ส และ มิลวอกี้ บัคส์ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเลยสักทีม ก่อนที่ในปี 2017 เขาจะไปเล่นให้กับทีม เฟเนร์บาห์เช่ ในตุรกี และเล่นให้ ปักกิ่ง ดักส์ ที่ประเทศจีนเมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาถูกติดต่อโดยสหพันธ์บาสไนจีเรียให้เข้ามาติดทีมชาติ และนั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เขารู้สึกได้ 

จากผู้เล่นที่ถือเป็นตัวท้ายของ NBA แต่เมื่อพวกเขาสวมยูนิฟอร์มของทีมชาติไนจีเรีย เขากลายเป็นความภูมิใจของประเทศ และเป็นเหมือนซูเปอร์สตาร์ของวงการบาสไนจีเรียเลยก็ว่าได้ 

“การตัดสินใจเล่นให้ไนจีเรีย ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดของผม ไม่ว่าจะด้วยเรื่องในหรือนอกสนามก็ตาม” อูโดห์ กล่าว 


Photo : news.cgtn.com

ตอนนี้ในทีมชาติไนจีเรียมีผู้เล่นที่เล่นอยู่ใน NBA ถึง 6 คน … พวกเขาไม่ได้เป็นผู้เล่นชื่อดังอะไรมากมายนัก แต่การมารวมตัวกันของนักบาสเหล่านี้ ทำให้ไนจีเรียเป็นประเทศที่ก้าวกระโดดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ปี 2015 ไนจีเรียสามารถคว้าแชมป์ทวีปได้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้พวกเขายังผ่านโอลิมปิกมาแล้ว 2 ครั้งติดต่อกันใน 2 สมัยล่าสุด (ลอนดอน, ริโอ เดอ จาเนโร) 

ขณะที่ผู้เล่นยุคใหม่ก็ยิ่งทำให้พวกเขาแกร่งขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด โดยในการดราฟต์ NBA เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา มีผู้เล่นไนจีเรียพลัดถิ่นถึง 8 คน ที่มีส่วนร่วมในการดราฟต์ครั้งนี้ และเป็นตัวเลือกระดับต้น ๆ อีกด้วย 

“พวกเรามาเพื่อทำให้บาสเกตบอลของ ไนจีเรีย ได้ร้องคำรามอีกครั้ง เมื่อก่อนเราไม่เคยได้รับความสนใจนัก เมื่อพูดถึงกีฬาผู้คนจะพูดถึงแต่ฟุตบอลที่เป็นที่ 1 มาเสมอ แต่พวกเรากำลังส่งเสียงให้ทุกคนได้ยิน และมันจะดังขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน” ไมค์ บราวน์ เฮดโค้ชของทีม ไนจีเรีย กล่าว 

 

คว่ำอเมริกาประกาศยุคทอง 

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดคงไม่มีความหมายอะไรหากพวกเขาไม่สามารถแสดงผลงานในเวทีระดับสูงได้ และในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทีมบาสของไนจีเรียก็ส่งเสียงได้ดังอย่างคำที่พวกเขาว่าจริง ๆ พวกเขาเอาชนะสหรัฐอเมริกาได้ด้วยคะแนน 90-87 … เมื่อเสียงนกหวีดยาวดังขึ้น พาดหัวข่าวทุกสำนักก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือเรื่องที่ “ช็อกโลก” 


Photo : guardian.ng

จริงอยู่ที่เกม ๆ นี้อาจจะเป็นแค่การอุ่นเครื่องก่อนโอลิมปิกที่โตเกียวจะเริ่มขึ้น แต่ขึ้นชื่อว่าอเมริกา ตัวพ่อของวงการบาส ทีมที่จองแชมป์ทุกการแข่งขัน และเป็นทีมที่ไม่เคยแพ้ใครมานานกว่า 40 เกม การที่ ไนจีเรีย เอาชนะพวกเขาได้ ยังไงเสียก็สามารถใช้คำว่าช็อกโลกได้อย่างไม่กระดากปาก เพราะเมื่อ 9 ปีที่แล้ว พวกเขายังเคยแพ้อเมริกาด้วยคะแนนห่างถึง 83 แต้มอยู่เลยด้วยซ้ำ ในโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน 

หากถามว่าอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง เว็บไซต์ The Atheletic เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้และอธิบายชัดว่า ไม่ใช่แค่นักกีฬาเท่าน้นที่เปลี่ยนไป วงการบาสของไนจีเรีย เปลี่ยนแม้กระทั่งผู้บริหาร ทีมโค้ช รวมถึงวิสัยทัศน์ในการสร้างยุคสมัยใหม่ของพวกเขาด้วย โดยเฉพาะการแต่งตั้งโค้ชที่มีประสบการณ์คุมทีมคว้าแชมป์ NBA มาได้ อย่าง บราวน์ นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ดึงเอาศรัทธาและความเชื่อมั่นของคนระดับผู้บริหาร และสามารถดึงตัวผู้เล่นชาวไนจีเรียพลัดถิ่นกลับมาด้วย 

“ตั้งแต่ ไมค์ บราวน์ เข้ามา เขาเปลี่ยนแปลงพวกเราและเปลี่ยนแปลงทีมได้อย่างยอดเยี่ยม เรามีค่ายเก็บตัวที่ได้คุณภาพ สร้างวัฒนธรรมของทีมแบบใหม่ เริ่มต้นกันตั้งแต่พื้นฐาน ดึงผู้เล่นใน NBA เข้ามา ทุกอย่างใหม่หมด แม้แต่คนทำงานก็ยังเอาคนรุ่นใหม่ไฟแรงมาช่วยกันขับเคลื่อนไปทั้งองค์กร” เกบ วินเซนต์ ผู้เล่นตำแหน่งการ์ดทีมชาติไนจีเรียจากสโมสร ไมอามี่ ฮีต ที่เกิดและโตในรัฐ แคลิฟอร์เนีย กล่าว 

“การได้มาเล่นให้ไนจีเนีย ทำให้พวกเราหลายคนรู้สึกแตกต่างออกไปจากที่เคย เมื่อเล่นให้ทีมชาติ เราได้แรงบันดาลใจ เราระลึกเสมอว่ากำลังเป็นตัวแทนของประเทศ และมันคือโลกใบใหม่สำหรับวงการบาสของไนจีเรีย และการเอาชนะอเมริกา ทำให้ทุกคนเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงนี้ชัดขึ้นมาก ๆ” 


Photo : theathletic.com

ขณะที่ โจ วาร์ดอน นักเขียนอาวุโสของ NBA ก็เผยมุมมองของเขาหลังความพ่ายแพ้ของ “ดรีมทีม” อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีต่อไนจีเรียว่า เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ … การแพ้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การที่คุณมีผู้เล่นอย่าง ดูแรนท์ และ ลิลลาร์ด ทั้ง ๆ ที่คู่แข่งเคยไปโอลิมปิกแค่ 2 ครั้ง มันไม่ใช่แค่เรื่องของโชคแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของระบบการสร้างทีม และเหนือสิ่งอื่นใดคือแท็คติกของโค้ชบราวน์ ที่ใช้การยิง 3 แต้มเล่นงานอเมริกาซึ่งระยะหลังเก่งเรื่องการยิงระยะไกลได้อยู่หมัด

“ไนจีเรีย ยิง 3 แต้มเหมือนกับติดเรดาห์ ผมนับนิ้วดูหยาบ ๆ ก็น่าจะมากกว่า 20 ครั้ง (ความจริงคือ 20 ครั้ง = 60 แต้ม)  เล่นแบบนี้ อเมริกา ที่เก่งเรื่องการบุกถล่มก็เหมือนกับโดนล็อกออกจากเกมเลย มันกลายเป็นการแข่งขันที่ยากมาก ในเมื่อคู่แข่งมาในฐานะตัวแทนของประเทศ และร่างกายของพวกเขาไม่ได้เป็นรองเลย เหนือสิ่งอื่นใดที่ปฏิเสธไม่ลงคือ 3 แต้มของพวกเขานี่แหละ วินเซนต์ กด 3 แต้มไป 6 ลูก ขณะที่ คาเลบ อากาด้า จัดไปอีก 17 แต้ม … อเมริกาโดนน็อกก็ตรงนี้แหละ” 

ไม่กี่วันหลังจากคว่ำอเมริกาได้ ไนจีเรียเดินหน้าแสดงความกล้าหาญของพวกเขาอีกครั้ง ด้วยการอุ่นเครื่องและเอาชนะทีมอันดับ 1 จากอเมริกาใต้อย่าง อาร์เจนตินา 94-71 นับเป็นชัยชนะเหนือชาติที่เคยไล่ถล่มพวกเขาในอดีตภายในเวลาไม่กี่วัน และนี่คือการยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกได้เป็นอย่างดี 


Photo : olympics.com

“การชนะอเมริกาอาจจะไม่มีค่าอะไรเลย เพราะมันเป็นแค่แมตช์อุ่นเครื่อง แต่มันช่วยยกระดับสปิริตของทีม ๆ นี้มากมหาศาล รวมถึงผู้คนอีกมากมายด้วย ชาวไนจีเรียและชาวแอฟริกันทุกชาติต่างก็รู้สึกแบบนั้น … กลุ่มคนผิวดำพลัดถิ่นซ่อนตัวอยู่บนที่ต่าง ๆ ของโลกมากมาย พวกเขาคือชาวแอฟริกันที่ภูมิใจในชาติกำเนิด และเราได้แสดงให้พวกเขาเห็นแล้วว่า ชาวแอฟริกันทำอะไรได้บ้าง หากพวกเรารวมตัวกัน และเชื่อมโยงกันเข้าทุกส่วน เราจะสามารถยกระดับตัวเองได้ในแบบที่ไม่น่าเชื่อ” โค้ชบราวน์กล่าว 

ตอนนี้เกมอุ่นเครื่องได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อจากนี้ ไนจีเรียจะต้องแสดงฟอร์มการเล่นที่ร้อนแรงแบบนี้ในโอลิมปิกที่โตเกียวอีกครั้ง พวกเขาอยู่ในสาย B ที่ถือว่าแข็งพอสมควร เพราะต้องเจอกับ ออสเตรเลีย, เยอรมนี และ อิตาลี ซึ่งทุกทีมมีผู้เล่นที่เล่นอยู่ใน NBA ทั้งสิ้น

อย่างไรเสีย พวกเขาคงเตรียมตัวมาเจอกับเรื่องยาก ๆ ตั้งแต่วันที่เริ่มร่างนโยบายพัฒนาบาสเกตบอลใหม่แล้ว … ไม่เคยมีชาติใดในแอฟริกาที่เคยคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกได้ นี่คือจุดมุ่งหมายที่ท้าทายพวกเขาอย่างแท้จริง 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ