เส้นทางล่มสลาย : แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส กับสโลแกนที่ว่า "นักเตะที่ดีที่สุดคือนักเตะที่เรามี"

Home » เส้นทางล่มสลาย : แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส กับสโลแกนที่ว่า "นักเตะที่ดีที่สุดคือนักเตะที่เรามี"
เส้นทางล่มสลาย : แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส กับสโลแกนที่ว่า "นักเตะที่ดีที่สุดคือนักเตะที่เรามี"

ความมั่นใจเป็นสิ่งที่ดี.. แต่ถ้ามั่นใจโดยไม่มองความเป็นจริง ความมั่นใจนั้นอาจจะกลายเป็นเรื่องตลกของคนอื่นๆ และสุดท้ายจะมีใครเสียอีกที่เจ็บช้ำนอกจากคนที่มั่นใจสุดขีดคนนั้น..

นี่คือเรื่องราวการล่มสลายของ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ทีมที่คิดเอาไว้จะครองพรีเมียร์ลีกในระยะยาว หลังจากที่พวกเขาได้แชมป์ด้วยสไตล์การเล่นที่สุดโหดดุดันในฤดูกาล 1994-95 

แต่เพราะความมั่นใจเกินศักยภาพของตัวเองนั่นแหละ ที่ทำให้เรื่องราววุ่นวายเกิดขึ้นหลังจากนั้น … นับ 1 ถึงปัจจุบัน เกิดอะไรกับอดีตแชมป์อย่าง แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส

ชยันธร ใจมูล นักเขียนจาก Main Stand จะมาเล่าให้ฟังที่นี่

เจ้าสัวแจ็คกี้.. กับภารกิจเพื่อบ้านเกิด

แจ็ค วอล์คเกอร์ คือชื่อของประธานสโมสรแบล็คเบิร์น ในช่วงยุค 90s เขาเป็นเศรษฐีจากธุรกิจค้าเหล็กภายใต้ชื่อบริษัท “วอล์คเกอร์ สตีล” มีเงินเต็มกระเป๋า และสิ่งที่เพอร์เฟกต์ที่สุดก็คือ เขายอมควักรายได้ของตัวเองออกมาเพื่อให้ทีมได้ใช้ซื้อนักเตะดี ๆ เสริมทัพ และเหตุผลเดียวที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะเขาเป็นแฟนบอลของ แบล็คเบิร์น ตั้งแต่จำความได้ 

1

ชีวิตคนเราเมื่อรวยมากก็จะรู้สึกว่างเปล่า … คำนี้เราได้ยินกันบ่อย ๆ ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่เพราะผู้เขียนไม่เคยรวยแบบนั้นเสียที แต่ตัวอย่างของคำกล่าวนี้เราพอจะดูจากสิ่งที่ วอล์คเกอร์ ทำก็ย่อมได้ กว่าจะได้เป็นเจ้าของทีม แบล็คเบิร์น นั้นไม่ใช่เรื่องฟลุก เขาตั้งใจทำงานหนัก ขยายธุรกิจจนร่ำรวย และเมื่อมีเงินมากจนใช้ไม่หมด เขาเลยตั้งใจทำบางสิ่งเพื่อสนองแพชชั่นตัวเอง ไม่ใช่ในฐานะนักธุรกิจ แต่ในฐานะแฟนบอลแบล็คเบิร์นคนหนึ่ง 

กล่าวคือเขาจะพาทีม ๆ นี้เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกให้ได้…

2

หลังจากกว้านซื้อหุ้นได้จนครบกำหนด แจ็ค วอล์คเกอร์ ขึ้นเป็นเจ้าของสโมสรแบล็คเบิร์นเต็มตัวในปี 1991 พร้อมประกาศเป้าหมายว่าเขาจะพา แบล็คเบิร์น คว่ำ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เป็นมหาอำนาจยุคนั้นให้ได้ และยืนยันว่าจากนี้แฟนบอลในพรีเมียร์ลีกจะต้องพบเจอกับ แบล็คเบิร์น โฉมใหม่ ตัวแทนจากย่านแลงคาเชียร์ ที่ไม่มีจุดเด่นอะไร กำลังจะกลายเป็นเมืองแห่งฟุตบอลที่คนอังกฤษต้องเกรงขาม

เขาเริ่มค่อย ๆ ทยอยซื้อนักเตะฝีเท้าดีสะสมเรื่อยมา 3 ปีแรก วอล์คเกอร์ ใช้เงินเสริมทัพแบล็คเบิร์นไป 25 ล้านปอนด์ ซึ่งย้อนกลับไปตอนนั้น ยุคที่นักเตะระดับ ฮอลล์ ออฟ เฟม ของพรีเมียร์ลีก อย่าง รอย คีน ยังมีราคาแค่ 3.7 ล้านปอนด์ การลงทุน 25 ล้านปอนด์ ไม่ต้องสืบเลยว่ามันมากขนาดไหน 

ทิม เชอร์วูด จอมทัพในแดนกลางจาก นอริช, 2 คู่หูระเบิดโลกอย่าง อลัน เชียเรอร์ และ คริส ซัตตัน รวมถึงนักเตะอย่าง แกรม เลอ โซ, เจสัน วิลค็อกซ์, โคลิน เฮนดรี, ทิม ฟลาวเวอร์ และคนอื่น ๆ อีกมากมาย เท่านี้ในฤดูกาล 1994-95 แบล็คเบิร์น ก็พร้อมแล้วที่จะแสดงความดุเดือดเลือดพล่านให้ฟุตบอลอังกฤษได้รู้ 

มันช่วงเวลาที่นักเตะทั้งทีมท็อปฟอร์มขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เด่นที่สุดคือ อลัน เชียเรอร์ ที่ยิงให้ แบล็คเบิร์น ได้ถึง 34 ประตูจาก 42 นัด (ฤดูกาลนั้นคือซีซั่นสุดท้ายที่ลีกสูงสุดอังกฤษมี 22 ทีม) แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครทำลายสถิติยิงในฤดูกาลเดียวของเขาได้ … นั่นแหละคือสิ่งที่บอกถึงความสุดยอดนั้นได้ดีที่สุด

แบล็คเบิร์น ผงาดคว้าแชมป์ลีกในฤดูกาล 1994-95 อย่างยิ่งใหญ่ เคนนี่ ดัลกลิช และลูกทีมได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมาก และที่สำคัญที่สุดคือหัวเรือใหญ่อย่าง แจ็ค วอล์คเกอร์ จากเศรษฐีกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการฟุตบอลไปแล้ว ไม่ว่าเขาจะพูดอะไรหลังจากนี้ ใคร ๆ ก็ต้องสนใจ ทุกอย่างที่เขาพูด มันจะกลายเป็นแนวคิดของคนที่ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่หลายคนอยากเอาเป็นแบบอย่าง … นั่นคือหนึ่งในสิ่งที่ วอล์คเกอร์ ยอมรับและชื่นชอบหลังจากได้มันมาครอบครอง 

3

“สำหรับอดีตเมืองผลิตฝ้ายที่ตกต่ำและเงียบเหงามายาวนานเกือบศตวรรษ ความสำเร็จของ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส เป็นเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างของผู้คนในเมืองนี้ ตอนนี้โลกได้รับรู้แล้วว่าเมืองนี้ยอดเยี่ยมแค่ไหน” แจ็ค วอล์คเกอร์ กล่าวในวันฉลองแชมป์ 

แฟนแบล็คเบิร์น รวมถึงนักเตะแทบปิดเมืองฉลองตลอด 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ถนนต่าง ๆ ถูกตั้งชื่อตามนักเตะชุดประวัติศาสตร์ พวกเขากำลังตัวลอยสุด ๆ กับเหตุการณ์นี้ จนอาจจะลืมสัจธรรมที่ว่า “เป็นแชมป์ว่ายากแล้ว แต่การป้องกันแชมป์นั้นยากยิ่งกว่า”.. กระทั่งวันนั้นมาถึง พวกเขาก็เริ่มรู้สึกตัว ซึ่งมันช้าไปเสียแล้ว

แล้วไงต่อ? 

ผู้เล่น แบล็คเบิร์น รวมถึง แจ็ค วอล์คเกอร์ ทำเหมือนกับว่าแชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งนั้นเป็นเหมือนกับการวิ่งระยะสั้น พอเข้าเส้นชัยทุกอย่างก็จบ พวกเขาลืมที่จะสานต่อความสำเร็จนั้น และลืมที่จะคิดไปว่า “เราได้แชมป์ แล้วยังไงต่อดี ?” 

4

“หลังจากได้แชมป์ ผมอยู่ในผับทุกวัน ผมเคยไปออกรายการทีวีคุยเรื่องความสำเร็จครั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าไปออกรายการ ผมนั่งกินเหล้าไป 7 วัน 7 คืน อย่างว่าแหละ มันเป็นช่วงเวลาที่โคตรจะบ้าคลั่งเลย” โคลิน เฮนดรี กัปตันชาวสกอตติช กล่าว 

นั่นคือส่วนของนักเตะ … และส่วนของเจ้าของทีมอย่าง แจ็ค วอล์คเกอร์ แม้จะไม่ได้เมามาย แต่เขาแสดงออกในแบบที่ทำให้หลายคนเข้าใจได้ว่า “แชมป์นั้นคือจุดสิ้นสุด” ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีก ซึ่งนั่นขัดใจกับ เคนนี่ ดัลกลิช พอสมควร ซึ่ง ดัลกลิช คิดว่าทีมควรจะเริ่มเสริมนักเตะต่างชาติที่เป็นเทรนด์ในเวลานั้น เพราะนักเตะต่างชาติจะนำความหลากหลาย และความแตกต่างมาสู่ทีมได้ 

ดัลกลิช คุยกับทีมแมวมองให้ไปหานักเตะฝีเท้าดีจากลีกที่เล็กกว่าอย่างฝรั่งเศส และแมวมองของพวกเขาทำหน้าที่แบบดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ด้วยการหาเพชรเม็ดงามอย่าง ซีเนดีน ซีดาน และกองหน้าอย่าง คริสตอฟ ดูการ์รี่ ซึ่งภายหลังคงไม่ต้องบอกว่าทั้งคู่ประสบความสำเร็จมากมายขนาดไหน … 

ตอนนั้นมีข่าวว่า ซีดาน ที่กำลังเป็นดาวรุ่งเดินทางมาถึงสนามซ้อมของ แบล็คเบิร์น แล้วด้วยซ้ำ ทุกอย่างดูใกล้จะมาเจอกันเป็นอย่างมาก 

เพียงแต่ว่าตอนนั้นเจ้าของเงินอย่าง แจ็ค วอล์คเกอร์ ผู้บริหารทีมแบบประกาศิต … ไม่คือไม่ ได้คือได้ ทุกอย่างต้องผ่านเขาเป็นคนตัดสินใจคนสุดท้าย 

ขณะที่ ดัลกลิช บอกว่า แบล็คเบิร์น ต้องการนักเตะต่างชาติฝีเท้าดีอย่าง ซีดาน แต่ วอล์คเกอร์ ไม่คิดแบบนั้น และหลุดประโยคเด็ดระดับตำนานที่เขากล่าวผ่านสื่อว่า “จะเอา ซีดาน มาทำไม ในเมื่อเรามีนักเตะอย่าง ทิม เชอร์วูด อยู่แล้ว” 

5

เราไม่มีทางรู้เลยว่า ดัลกลิช พูดอะไรเป็นการส่วนตัวกับ วอล์คเกอร์ เกี่ยวกับเรื่องของ ซีดาน และการเสริมทัพนักเตะใหม่ แต่สิ่งที่พอจะรู้ได้ว่ามี “รอยร้าว” เกิดขึ้นก็เพราะว่า หลังจากนั้น ดัลกลิช ถูกเปลี่ยนตำแหน่งกลายไปเป็นผู้อำนวยการฟุตบอล และให้ เรย์ ฮาร์ฟอร์ด เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมแทน  

แจ็ค วอล์คเกอร์ เชื่อมั่นในนักเตะท้องถิ่นเป็นอย่างมาก และเขาเองก็อาจจะมีความคิดที่ไม่ได้ผิดหมด 100% เสียทีเดียว ย้อนกลับไป เชอร์วูด ก็ถือเป็นกองกลางที่ครบเครื่องคนหนึ่ง รุกดี รับเยี่ยม ยิงประตูเก่ง มีความเป็นผู้นำ และน่าจะเป็นกองกลางเบอร์ต้น ๆ ของเกาะอังกฤษ 

แต่สิ่งที่จริงยิ่งกว่านั้นคือ นักเตะอย่าง ซีดาน ดันเป็นกองกลางที่ดีที่สุดในโลก ณ ยุคสมัยของเขา … เงินเพียงน้อยนิดกับนักเตะแบบนี้มองตรงไหนก็คุ้ม เพียงแต่ว่า แจ็ค วอล์คเกอร์ ไม่ได้คิดแบบนั้น เขาเลือกซื้อเดิมพันม้าตัวเดิมที่เขาเชื่อใจ ม้าตัวที่เล่นได้แน่นอน ไม่ต้องลุ้นเรื่องการปรับตัวสำหรับการลงเล่นในลีกต่างแดน ซึ่งสุดท้ายทุกคนรู้ดีว่าความผิดพลาดเล็กน้อยนั้น เปลี่ยนแปลงยุคสมัยของ แบล็คเบิร์น ไปอย่างแท้จริง 

“ก็นะ … เราเป็นแชมป์ลีกอังกฤษแล้ว และก็พอจำได้ว่ามี ซีดาน กับ ดูการ์รี่ เข้ามาที่สนามซ้อมของเราเพื่อมาดูลาดเลาอะไรต่าง ๆ พวกเขาดูประทับใจทีมของเราและสนใจ แบล็คเบิร์น ในเวลานั้น แต่ทำไงได้เมื่อสุดท้าย แจ็ค วอล์คเกอร์ บอกว่าพวกเขาไม่เข้ากับทีมเราเท่าไหร่” ทิม เชอร์วูด เล่าเรื่องนี้ภายหลัง 

“ปีนั้นเป็นปีที่ทุกคนในทีมต่างก็มองตรงกันว่าเราจะได้ไปเล่นบอลยุโรปแล้ว เราควรทะเยอทะยานน่ะ เข้าใจใช่ไหม ? ตอนนั้นมีข่าวซื้อขายกับนักเตะมากมายหลายคน แต่เราก็ล้มเหลว ไม่ใช้ช่วงเวลาน้ำขึ้นแล้วรีบตัก ผมเดานะ ความรู้สึกของ แจ็ค ตอนนั้นคือ ‘ไม่เสียอย่าซ่อม’ อะไรประมาณนั้น ซึ่งผมว่าเขาคิดผิด”

“ย้ำอีกครั้ง เขาไม่ได้โง่ ผมว่าการตัดสินใจนี้มาจากหัวใจของเขา ไม่ใช่มาจากสมอง แจ็ค เป็นคนที่ฉลาดมากในแง่ธุรกิจ แต่เมื่อพูดถึงฟุตบอล เขาชอบพูดเสมอว่าทีมเราจะต้องทุ่มเทและเล่นด้วยใจ ซึ่งก็นั่นแหละ บางทีเขาก็สุดโต่งไปหน่อย เราควรจะไปต่อ และน่าจะคว้าแชมป์ลีกได้อีกสักครั้ง” เชอร์วูด ทิ้งท้าย 

ก่อนเปิดฤดูกาล 1995-96 แบล็คเบิร์น ได้นักเตะมาเสริมทัพแค่ 2 คนคือ อดัม รีด จาก ดาร์ลิงตัน ในราคา 2 แสนปอนด์ และ แม็ตตี้ โฮล์มส์ จาก เวสต์แฮม ในราคา 1.2 ล้านปอนด์ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน ยูไนเต็ด ดันเอาดาวรุ่งชุด “คลาส ออฟ 92” ขึ้นมาเพียบ แถมกำลังจะได้ เอริก คันโตนา พ้นโทษแบนจากการไป “กังฟูคิก” ใส่แฟนบอล … เรื่องของศักยภาพมันต่างกันมากเลยทีเดียวและพวกเขากำลังจะได้รับบทเรียนแห่งการ “คิดสั้นเกินไป” ครั้งนี้ เมื่อพวกเขาได้ออกไปเปิดหูเปิดตาเจอโลกภายนอก

สายไปแล้ว 

ในฐานะแชมป์พรีเมียร์ลีก แบล็คเบิร์น จะต้องไปแข่ง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ตามสิทธิ์ที่ได้รับ และในรายการนั้นเป็นเหมือนการสอนมวยให้ แจ็ค วอล์คเกอร์ รู้ว่า มีแต่ใจและความฮึกเหิม บางทีมันก็ไม่ไหวเหมือนกัน 

แบล็คเบิร์น ยิ่งลงเล่นก็ยิ่งห่างชั้น พวกเขาแพ้ในรอบแบ่งกลุ่มถึง 4 นัด เสมอ 1 นัด และชนะได้แค่เกมเดียว … อยากรู้ไหมว่าใครเป็นเพื่อนร่วมกลุ่มของพวกเขา ?

6

สปาร์ตัก มอสโก, โรเซนบอร์ก และ ลีเกีย วอร์ซอ … ทั้ง 3 ทีมไม่ใช่ทีมเก่งกาจระดับสู้ไม่ได้หรือเป็นมหาอำนาจอะไรเลย แต่ แบล็คเบิร์น ก็เป็นบ๊วยของกลุ่ม และนั่นชัดเจนว่า โลกฟุตบอลมันพัฒนาก้าวหน้าไปทุกวัน แท็คติก, เทคนิค, วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือการวิเคราะห์ต่าง ๆ การที่จะบอกให้สู้ด้วยใจใส่เต็มร้อย มันตกรุ่นไปเสียแล้ว 

ขณะที่ผลงานในลีกของ แบล็คเบิร์น เองก็แย่จัด จากแชมป์เก่า ก็กลายเป็นทีมลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีเพียง อลัน เชียเรอร์ ที่รักษาคลาส รักษามาตรฐานได้ ส่วนคนอื่น ๆ ไม่สามารถกลับมาอยู่ในจุดเดิมได้ พวกเขาทำแต้มตกหล่นไม่เว้นสัปดาห์ สุดท้ายพวกเขาก็จบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 7 และนักเตะเบอร์ใหญ่ ๆ ในทีมก็เริ่มทยอยย้ายออกหลังจากนั้น

“ปาร์ตี้เลิกแล้ว แยกย้ายกันพวกเรา” ความรู้สึกมันน่าจะเป็นประมาณนั้น เพราะเมื่อนักเตะชุดประวัติศาสตร์ปี 1995 ออกมาเปิดใจภายหลัง พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ผิดพลาดที่สุดคือการคิดว่าตัวเองนั้น “ดีที่สุด” และไม่คิดจะพัฒนา ซึ่งแนวคิดนี้เองที่ทำให้แต่ละคนลงคะแนนความเห็นว่า แบล็คเบิร์น ไม่อาจจะกลับไปสร้างประวัติศาสตร์แบบเดิมได้อีกแล้ว

“ผมเองก็เห็นฟุตบอลมาเยอะ ตอนนั้นแม้กระทั่ง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยังแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ทีมของเขาไม่เคยมองข้ามเรื่องการเสริมทัพเลยสักปีเดียว พวกเขาเสริมแกร่งเพื่อพาทีมกลับไปในลำดับต้น ๆ เสมอ” อลัน เชียเรอร์ คนที่ย้ายออกจาก แบล็คเบิร์น ไปอยู่กับ นิวคาสเซิล หลังฤดูกาลนั้นจบลงกล่าว

7

“ความจริงเราควรจะเติมนักเตะดี ๆ มาอีกสักสองสามคน ให้ทีมมันสดชื่น มีการแข่งขันหน่อย เมื่อมองย้อนกลับไป เรามีโอกาสได้นักเตะอย่าง ซีดาน และ ดูการ์รี่ แต่เราก็ไม่ทำ นั่นคือสิ่งที่ผมก็ยังไม่เข้าใจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ได้แข็งแกร่งขึ้นเลยในวันที่เราอยู่บนจุดสูงสุด” 

ขณะที่คู่หูของ เชียเรอร์ อย่าง ซัตตัน ก็ยอมรับว่า เขาเองรู้ตั้งแต่ตลาดซื้อขายปิดลงแล้วว่าทีมจะทำไม่ได้เหมือนที่เคยทำ เขาซ้อมกับทีมทุกวัน และรู้สึกว่าปีนั้นถึงเวลาที่ต้องมองภาพให้กว้างขึ้น และยกระดับจากทีมที่สู้ด้วยใจ กลายเป็นทีมที่ใจสู้ด้วย และมีศักยภาพเหนือกว่าทีมอื่น ๆ ด้วย 

“มันเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ (คว้าแชมป์อีกครั้ง) ซึ่งผมรู้ดีเลยล่ะ แค่ลองนึกภาพได้เล่นกับ ซีดาน ที่แบล็คเบิร์นมันจะสุดยอดแค่ไหนกัน แต่มันไม่เคยเกิดขึ้น และมันทำให้เราจบอันดับที่ 7 ไปแบบจนใจ” ซัตตัน ว่าไว้

หลังจากปรากฏการณ์ทีมแตก เชียเรอร์ ย้าย, ซัตตัน ย้าย, เชอร์วูด ย้าย, เลอ โซ ย้าย เช่นเดียวกับ โคลิน เฮนดรี ก็ย้าย สุดท้าย แบล็คเบิร์น ก็ยิ่งทำยิ่งแย่ พวกเขาจบอันดับ 13 ในฤดูกาล 1997-98 และหลังจากคว้าแชมป์ได้เป็นเวลา 4 ปีพอดิบพอดี แบล็คเบิร์น ก็ตกชั้นจนได้ในปี 1999 ปีเดียวกับที่ แมนฯ ยูไนเต็ด คว้า 3 แชมป์

8

ตีเหล็ก ก็ต้องตีกันตอนร้อน ๆ แต่ แบล็คเบิร์น กลับไม่ยอมทำ ในวันที่พวกเขาเป็นแชมป์ พวกเขามีเงิน มีชื่อเสียงมากพอที่จะดึงดูดนักเตะดี ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลงานที่เคยดีกลายเป็นแย่ เงินที่เคยมีกลายเป็นร่อยหรอ และสุดท้ายต่อให้พวกเขาจะอยากได้นักเตะระดับโลกมาร่วมทีมแค่ไหน มันก็ไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว โอกาสที่ดีบางทีก็มีเข้ามาครั้งเดียวและไม่เคยหวนกลับมาอีกเลย

ปี 2000 หลังจากความตกต่ำของทีม แจ็ค วอล์คเกอร์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง มันเป็นเรื่องน่าเศร้าของคนทั้งเมือง แม้ระยะหลังทีมจะล้มเหลว แต่ไม่เคยมีใครลืมตำนานที่เขาได้สร้างไว้ เช่นเดียวกับวลีระดับตำนานที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์สโมสรสุดคลาสสิกนั้นด้วย

“เราจะต้องการซีดานไปทำไม ในเมื่อเรามี ทิม เชอร์วูด อยู่แล้ว” 

คำตอบคือพวกเขาต้องการนักเตะอย่าง ซีดาน เพื่อความสำเร็จที่รออยู่ภายภาคหน้า การเติบโตในแบบที่ทุกทีมต้องยำเกรง และที่สำคัญ ซีดาน จะเป็นนักเตะที่ทำให้ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส โด่งดังยิ่งกว่านี้แน่ … แต่สุดท้ายพูดไปก็เท่านั้น อดีตไม่เคยหวนกลับ และมันทำให้เหล่าแชมเปี้ยนในยุคหลัง ๆ รู้ว่า ต่อให้คว้าแชมป์สวยหรูแค่ไหน จงอย่าลังเลที่จะเสริมทัพด้วยนักเตะดี ๆ เด็ดขาด

และที่สำคัญที่สุดคือ “อย่าคิดว่าตัวเองดีที่สุด” เพราะนั่นคือความคิดที่เหมือนกับการฆ่าตัวตายช้า ๆ อย่างที่ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ประสบพอเจอนั่นเอง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ