นายปฏิเวชวุฒิศักย์ สุขขี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงมุกดาหารเปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างถนนทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงบ้านนาไคร้ -คำชะอี ล่าสุด มีการก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้เปิดให้รถสามารถสัญจรได้ แม้จะยังไม่ได้รับการส่งมอบจากผู้รับเหมา
ตลอดเส้นทางที่สามารถทำความเร็วได้ไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จุดกลับรถน้อย ส่วนทางร่วมทางแยกเข้าเขตชุมชน จะออกแบบให้เป็นสะพานยกระดับแทนการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ทำให้ย่นระยะเวลาเดินทางได้พอสมควร โดยเฉพาะการเดินทางจากจังหวัดขอนแก่น มาจังหวัดมุกดาหาร สามารถลดระยะเวลาเดินทางจากเดิม 3.30 ชั่วโมง เหลือเพียงประมาณ 2.30 ชม.เท่านั้น
เนื่องจากมีการตัดถนนผ่านช่วงเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูสีฐาน ที่กรมป่าไม้ อนุญาตให้กรมทางหลวงเข้าใช้ประโยชน์เนื้อที่กว่า 29 ไร่โดยตรง และเชื่อมต่อถนนเลี่ยงเมืองที่มุ่งหน้าเข้าสู่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ( มุกดาหาร-สะหวันเขต ) โดยไม่ต้องผ่านเข้าเขตชุมชน ทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกมากยิ่งขึ้น
ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงมุกดาหาร ระบุว่า อัตราการเติบโตของรถบรรทุกขนส่งสินค้า ที่สัญจรถนนสายนี้ ที่เพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยวันละ 800-900 คัน สอดคล้องกับข้อมูลจากศุลกากรจังหวัดมุกดาหาร ที่มีอัตราการนำเข้า-ส่งออกมากขึ้น ทำให้มั่นใจว่า เส้นทางคมนาคมสายนี้ ตอบโจทก์แผนพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งกว่า 1 เดือน ที่มีการเปิดให้รถสัญจรผ่านถนนสายนาไคร้-คำชะอี ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่สัญจรไป-มา ขณะเดียวกันพบว่า การคมนาคมที่สะดวกมากขึ้นยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในชุมชน
นอกจากนี้ การก่อสร้างที่เพิ่งแล้วเสร็จและยังไม่มีการส่งมอบ ทำให้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการศึกษาจุดเสี่ยง ที่ต้องติดป้ายเตือนเพิ่มเติม รวมทั้งอยู่ระหว่างเสนอโครงการยกระดับความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ร่วมใช้เส้นทางนี้
สำหรับโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor: EWEC เชื่อมโยงระหว่างเวียดนาม จากเส้นทาง R9 มีจุดเริ่มต้นที่เมาะลำไย ไปที่เมียวดี เข้าเขตไทยที่ อ. แม่สอด จ. ตาก เชื่อมไปยังพิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร และต่อไปยังสะหวันนะเขต เข้าเขตเวียดนามที่เว้ และสิ้นสุดที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม
โครงการระเบียงเศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่ต้องการยกระดับการพัฒนา ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกลุ่ม GMS ในเวทีการค้าโลก ผ่านการบูรณาการเชื่อมโยงประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเข้าด้วยกัน มุ่งเน้นที่การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานหลายแขนง โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า โทรคมนาคม สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย สำหรับใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้า ลำเลียงวัตถุดิบ และรองรับตลาดการท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ ผลักดันให้เกิดการจ้างงาน สร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเท่าเทียม..