นายกฯ ห่วงเด็กติดโควิด-19 เพิ่มขึ้น สั่งทุกรพ.รับผู้ป่วยเด็ก-ช่วยส่งต่อ ย้ำสถาบันสุขภาพเด็กฯ เตรียมพร้อมรักษาผู้ป่วยทุกกลุ่มทุกระดับอาการ
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ห่วงใยกรณีพบมีเด็กติดโควิด-19 เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการเผยแพร่ในสื่อกรณีโรงพยาบาลปฏิเสธการรับรักษาเด็ก โดยนายกฯ ขอให้กระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลทุกแห่งของรัฐและเอกชน อย่าปฏิเสธการรับผู้ป่วยเข้ารักษา และมีระบบให้คำปรึกษา หากเกิดกรณีผู้ป่วยเต็ม ให้ประสานส่งต่อผู้ป่วยให้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพ และต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นลำดับแรก เนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันน้อยเพราะยังไม่ได้รับวัคซีนเหมือนผู้ใหญ่
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกฯ กำชับให้สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชราชินี ที่มีความเชี่ยวชาญดูแลรักษาโรคเด็ก ให้เตรียมพร้อมรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิดเด็กทุกกลุ่ม ทุกระดับอาการ และเป็นหน่วยงานหลัก ให้คำแนะนำการรักษาผู้ป่วยเด็กแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งขั้นตอนวิธีดูแล การเตรียมยาน้ำฟาร์วิพิราเวียร์สำหรับเด็ก เป็นต้น
สำหรับผู้ปกครอง ขอให้หลีกเลี่ยงพาเด็กไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ที่จะเพิ่มโอกาสให้เด็กรับเชื้อมากขึ้น และแนะนำให้ผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก เข้ารับวัคซีนให้ครบโดส เพื่อลดโอกาสนำเชื้อมาสู่เด็กด้วย และให้สังเกตอาการเพื่อคัดกรองนำเด็กเข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด ถ้าพบมีไข้ ไอ มีน้ำมูกและไปในพื้นที่เสี่ยง ควรตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นลบ ควรตรวจซ้ำในวันที่ 3-4 หากเป็นบวก ให้ติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านในส่วนภูมิภาค หากอยู่ในกทม.และปริมณฑล ติดต่อที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ หรือติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข มีข้อสั่งการให้กรมการแพทย์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มเด็กให้ดีที่สุด โดยประสานกับกทม.ให้จัดทำเตียง Community Isolation (CI) สำหรับเด็กและครอบครัว ทั่วกรุงเทพฯ ใน 6 โซน โซนละ 1 แห่ง แห่งละอย่างน้อย 50 เตียง โดย 1 ห้อง จะมีเด็ก 3-4 คน พร้อมให้สถาบันเด็กแห่งชาติฯ เผยแพร่วิธีการเตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์สำหรับเด็ก ผ่านทางยูทูบ เผยแพร่แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้เตรียมยาได้ด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก