สุขภาพที่ดี เริ่มต้นด้วยการทราบสภาพร่างกายของเราก่อนว่าควรมีอะไรที่ต้องรีบรักษาก่อนจะสายเกินไปหรือไม่ ดังนั้นเราจะทราบได้ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายกับทีมแพทย์เท่านั้น แต่การตรวจร่างกายเราควรตรวจอะไรบ้าง ลองมาเช็กดูทีละข้อ ก่อนเตรียมตัวก่อนเข้ารีบการตรวจร่างกาย
ตรวจสุขภาพประจำปี
โดยทั่วไปแล้ว การตรวจสุขภาพประจำปีจะเป็นการตรวจเพื่อหาค่าไขมันที่อยู่ในเลือด ค่าน้ำตาลในเลือด เพื่อผลในการตรวจที่มีประสิทธิภาพแนะนำให้งดอาหารก่อนเข้ารับการตรวจร่างกายตั้งแต่ 6 ชั่วโมงขึ้นไป หรือกำหนดง่ายๆ คือ ควรงดอาหารตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนก่อนวันที่จะไปตรวจสุขภาพ งดอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ไปจนถึงอาหารที่ย่อยยาก อย่าง เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ๆ แต่ยังสามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย
เพิ่มเติม : หากเป็นการบริจาคเลือด ผู้บริจาคสามารถทานอาหารเช้าได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นอาหารที่ไม่มีไขมันและน้ำตาลสูงมากจนเกินไป อีกทั้งต้องเข้านอนตั้งแต่เที่ยงคืนเพื่อไม่ให้เลือดลอย หรือเลือดจาง จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถบริจาคเลือดได้
>> ตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด บริจาคเลือด ต้องงดดื่มน้ำ-ทานข้าวจริงหรือ?
ขั้นตอนในการตรวจร่างกาย
- ทีมแพทย์จะเริ่มซักถามประวัติเบื้องต้น อาจถามถึงชื่อ อายุ อาชีพ ไปจนถึงชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดค่าดัชนีมวลกาย (ว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่) วัดไข้ ไปจนถึงวัดความดันโลหิต
- เริ่มตรวจลึกขึ้น โดยตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า ให้เราเข้าไปเก็บปัสสาวะ หรืออุจจาระ เพื่อทำการตรวจ และเปลี่ยนชุดเพื่อเข้าเครื่องเอกซ์เรย์ปอด
- เจาะเลือด เพื่อตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด หาเชื้อ HIV หาประวัติการฉีดวัคซีนไวรัสตับบี ตรวจการแข็งตัวของเลือด ตรวจไทรอยด์ การทำงานของตับ และไต เป็นต้น
- หากเป็นผู้หญิงที่อายุมากกว่า 30-40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม กับมะเร็งปากมดลูกด้วย (ขึ้นขาหยั่ง)
- หากเป็นผู้ชายที่อายุมากกว่า 30-40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย
- หากเป็นผู้สูงอายุ (ที่อายุมากกว่า 40-50 ปีขึ้นไป) ควรตรวจสุขภาพหัวใจให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
- ใครที่รู้ตัวว่าดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ ควรตรวจปอด และตับ และแจ้งทีมแพทย์ให้ทราบด้วย
- เมื่อได้มีโอกาสพบแพทย์ แพทย์อาจซักถามประวัติเพิ่มเติม พร้อมทั้งแจ้งผลการตรวจ และคำแนะนำในการแก้ไขให้สุขภาพดีขึ้น
อายุ 55 ปีขึ้นไป ยิ่งต้องใส่ใจเข้ารับการตรวจสุขภาพ
คุณหนุ่มๆ ที่อยู่ในช่วง 55 – 69 ปี แนะนำให้เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อเป็นการทดสอบการทำงานของหัวใจด้วยการเดินสายพาน จะทำให้รู้ว่าหนุ่มใหญ่แต่หัวใจยังหนุ่มนั้นมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ ในขณะเดียวกันคุณสาวๆ ที่ก้าวเข้าสู่วัย 55 ปีแล้ว ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการเข้ารับการจรวจสุขภาพ โดยเน้นตรวจความหนาแน่นของกระดูกช่วงกระดูกสันหลังส่วนเอวและสะโพกเพิ่มเติม ในขณะเดียวกันที่
หากผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพมีความกังวลในเรื่องใดมากเป็นพิเศษ อาทิ มีอาการเหนื่อยหอบง่ายมากกว่าผิดปกติ , มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ , นอนไม่หลับ หรือปวดท้อง ฯลฯ ควรแจ้งทีมแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจโดยละเอียด จะเป็นผลดีต่อการวินิจฉัยโรค หรือสภาพร่างกายในขณะนั้นได้ง่ายขึ้น